มธุภาณี - พูดปานน้ำผึ้ง | มธุรสวาจา - ปากหวาน“มธุภาณี” แปลตรงตัวว่า “พูดปานน้ำผึ้ง” หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนน้ำผึ้ง ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า พูดเพราะ เรียกเทียบคำบาลีว่า “ปากหวาน”
พูดอย่างไรเรียกว่า “มธุภาณี”.?
ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้
กตโม จ ภิกฺขเว ปุคฺคโล มธุภาณี - มธุภาณี คือ บุคคลเช่นไร.?
อิธ ภิกฺขเว เอกจฺโจ ปุคฺคโล - ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้
ผรุสํ วาจํ ปหาย ผรุสาย วาจาย ปฏิวิรโต โหติ - เป็นผู้ละวาจาหยาบ เว้นจากวาจาหยาบ
ยา สา วาจา เนฬา - วาจาใดไม่มีโทษ (faultless)
กณฺณสุขา - สบายหู (pleasant to the ear)
เปมนิยา - น่าดูดดื่ม (affectionate)
หทยงฺคมา - จับใจ (heart-stirring)
โปรี - เป็นคำชาวเมือง (urbane, polite)
พหุชนกนฺตา พหุชนมนาปา - เป็นที่พอใจชอบใจแห่งพหูชน
ตถารูปึ วาจํ ภาสิตา โหติ - เป็นผู้กล่าววาจาอย่างนั้น
อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว ปุคฺคโล มธุภาณี - บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่า มธุภาณี__________________________________________
ที่มา : ติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗
@@@@@@@
ในภาษาไทยมีคำว่า “มธุรสวาจา” ความหมายตรงกับ “มธุภาณี” อรรถกถาขยายความลักษณะอย่างหนึ่งของ “มธุภาณี” ว่า
ปิติมตฺตํ ปิตาติ เรียกคนปูนพ่อว่า คุณพ่อ
มาติมตฺตํ มาตาติ เรียกคนปูนแม่ว่า คุณแม่
ภาติมตฺตํ ภาตาติ วทนฺติ. เรียกคนปูนพี่ว่า คุณพี่
คงระลึกกันได้ว่า ไทยเรามีวัฒนธรรมเรียกขานกันด้วย “มธุรสวาจา” เช่นนี้ทั่วไป ภาษาวิชาการเรียกว่า “วัฒนธรรมนับญาติ”
"พูดความจริงแม้จะเป็นคำสกปรก ดีกว่าโกหกด้วยคำหวาน"Thank to :-
ผุ้เขียน : พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ,๑๓:๒๙
URL :
dhamma.serichon.us/2022/02/28/มธุภาณี-พูดปานน้ำผึ้ง/ Posted date : 28 กุมภาพันธ์ 2022 , By admin.