ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีกำจัดพระทุศีลของพม่า | เลือกเอาสักอย่าง "จะครองทรัพย์หรือสละทรัพย์  (อ่าน 2428 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29355
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระรายหนึ่งถ่ายรูประหว่างงานชุมนุมพระสงฆ์ไทย-พม่าในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2015 (AFP PHOTO / PHYO MG MG)


วิธีกำจัดพระทุศีลของพม่า | เลือกเอาสักอย่าง "จะครองทรัพย์หรือสละทรัพย์"

ในช่วงที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่ทำความเสื่อมเสียให้แก่วงการของพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง ทางฝ่ายผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่ามหาเถรสมาคม หรือกรมการศาสนา ต่างก็แก้ไขกันไปตามเหตุการณ์ สื่อมวลชนก็ช่วยกันออกแรงแข็งขัน แต่เหตุการณ์ที่ไม่ค่อยดีค่อยงามก็ยังปรากฏขึ้นอยู่เรื่อยๆ ทำให้สงสัยว่าคงจะแก้ไม่ถูกจุด จึงน่าจะลองใช้วิธีการที่คนแต่ก่อนเคยใช้ได้ผลมาแล้ว

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” ฉบับองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๐๔ เล่ม ๘ หน้า ๑๗ กล่าวถึงพระเจ้าธรรมเจดีย์กษัตริย์พม่า (พ.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๓๕) ว่า

“รับสั่งให้ราชบุรุษไปบอกภิกษุซึ่งเคยสะสมทรัพย์สมบัติ คือ เงินทองช้างม้าและทาสกรรมกรเป็นต้นมาแต่ก่อน ขอให้เลือกเอาอย่างหนึ่ง คือ สละทรัพย์สมบัติทั้งปวงเสีย แล้วบวชแปลงประพฤติตามพระพุทธบัญญัติต่อไป หรือมิฉะนั้นถ้ายังอาลัยในทรัพย์สมบัติไม่ทิ้งได้ ก็ให้สึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ครองทรัพย์สมบัตินั้นต่อไป…พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงเริ่มจัดการตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๑๙ จัดอยู่ ๓ ปีจึงสำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๒๒”

พระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงจับสาเหตุถูกเพราะถ้าปล่อยให้พระภิกษุมีเงินแล้วความชั่วร้ายทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าใครเมื่อมีเงินแล้วย่อมมีอิทธิพล ต้องการทำอะไรก็ได้ อยากได้อะไรก็ใช้เงินซื้อเอา คนที่ต้องการประจบประแจงเพื่อเอาผลประโยชน์จากเจ้าของเงินก็มีมาก พระที่มีเงินมาก จึงเป็นที่หมายปองของผู้หญิงที่อยากสึกพระไปเป็นสามี ถ้าหักห้ามใจไม่ไหว ลาสึกออกไปเป็นเจ้าบ่าวก็ค่อยยังชั่ว แต่บางรายอยากได้ทั้งสองอย่าง พระก็จะเป็น ผัวก็จะเป็น ก็เลยเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมาอย่างที่รู้ๆ กันอยู่

@@@@@@@

หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วเสด็จไปสอนพระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรกด้วยหัวข้อธรรมชื่อ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เบื้องแรกทรงกล่าวถึง “ทางสุดโต่ง ๒ อย่างที่บรรพชิตไม่ควรเสพ” แล้วจึงทรงแสดงเรื่องอริยสัจ ๔ แต่เมื่อมาดูการกระทำของพระภิกษุส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มักจะข้ามเรื่อง “ทางสุดโต่งฯ” ไปเสีย

ชาวพุทธส่วนมากก็ไม่เข้าใจพระพุทธประสงค์ พากันประเคนเงินทอง สิ่งของเครื่องอำนวยความสุดแบบชาวโลกให้แก่พระ ชาติหน้าก็จะมีเครื่องอุปโภคบริโภคแบบเดียวกันนั้นบริบูรณ์ พระก็เลยมีทุกอย่างที่ผู้ครองเรือนเขามีกัน พระสมัยนี้จึงมีรถเก๋ง บ้าน ที่ดิน ถึงตนไม่ใช้เองก็ซื้อให้ญาติพี่น้อง

อยากให้ลองมีการทำวิจัยกันว่า เงินทองที่พระรับจากประชาชนไปนั้นตกไปอยู่ในมือใครบ้าง มูลค่าของสิ่งที่พระแจกจ่ายให้แก่ญาติพี่น้อง (บางรายอาจไม่ใช่ญาติพี่น้องด้วยซ้ำไป) คงจะมากมายมหาศาลจนขนลุกทีเดียว) ไม่เชื่อก็ลองทำกันดู


@@@@@@@

ทางสุดโต่ง ๒ อย่างได้แก่

๑. กามสุขัลลิกานุโยค-การหมกมุ่นอยู่ด้วยกามสุข
๒. อัตตกิลมถานุโยค-การทรมานตนให้ลำบาก (หมายถึงการบำเพ็ญตบะ) อดข้าวอดน้ำอย่างที่พวกโยคีในอินเดียชอบทำแม้กระทั่งปัจจุบัน)

ข้อ ๒ นั้นไม่ต้องอธิบายก็ได้ เพราะพระสมัยนี้ไม่นิยมทำกันอยู่แล้ว แต่ ข้อ ๑. นั่นสิ ทำกันจนเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว ถ้ามีใครทักท้วงว่าพระทำตัวหมกมุ่นในกามสุข (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ทำความเพลิดเพลินให้แก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า กามคุณ ๕) ก็จะอ้างว่าไม่มีศีลข้อใดห้ามไว้ พูดแบบนี้เป็นการตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ทำไมไม่ลองคิดดูบ้างว่า พระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏมีขนาดเล็กเพียงไรเมื่อเทียบกับกุฏิของพระสมัยนี้

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระวักกลิว่า

“…ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม…”

ผมแปลความหมายประโยคหลังว่า ทรงแนะนำให้ดูพระองค์เป็นตัวอย่าง ก็ในเมื่อพระองค์ประทับอยู่ในพระคันธกุฎีหลังเล็กๆ แคบๆ แล้วไฉนไม่ทำตามพระองค์ สิ่งของที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้พระภิกษุเป็นเจ้าของได้ก็เพียงอัฐบริขาร

แต่เวลานี้พระมีสมบัติมากมาย หรือจะอ้างว่าเป็นสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทำตามก็ได้ เพราะมีพุทธานุญาตไว้ แต่คำว่า “สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ” นั้นก็ไม่ใคร่ทราบว่าได้แก่อะไรบ้าง แล้วก็ยังทำไปทั้งๆ ที่ไม่รู้ ถ้าไม่เรียกว่า “เลี่ยงสิกขาบาลี” ผมก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว

ฟังพระเทศน์มามากแล้ว วันนี้ขอเทศน์ให้พระฟังสักครั้ง จะบุญหรือบาปก็ตามที เหลืออดเหลือทนแล้วจริงๆ





ที่มา : จดหมายถึงบรรณาธิการ : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2542
ผู้เขียน : เอื้อ มณีรัตน์ อ.เมือง จ.พะเยา
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ.2565
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560
URL : https://www.silpa-mag.com/culture/article_6390
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 01, 2022, 10:09:28 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ