ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กฐินสามัคคี..มหาบุญ มุ่งศรัทธา สู่บุญใหญ่  (อ่าน 853 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กฐินสามัคคี..มหาบุญ มุ่งศรัทธา สู่บุญใหญ่

“กฐินสามัคคี” พลังบุญใหญ่จากความสมัครสมานสามัคคีของผู้คน “ชาวพุทธ” ...ร่วมจิตร่วมใจกันมาร่วมทำกิจกรรมให้สำเร็จลุล่วง ตลอดจนคณะศรัทธาจากหมู่บ้านต่างๆที่ได้เดินทางมาปฏิบัติตามวิถี “พุทธศาสนา” เพื่อจรรโลงไว้ให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลานได้นับถือสืบทอดตลอดไป

เกิดเป็น “มหาบุญใหญ่” ขึ้นในแต่ละวัดในแต่ละปีนั่นเอง

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ช่วยมาปกป้องคุ้มครองศรัทธาทุกท่าน ที่ได้ตั้งใจบำเพ็ญบุญร่วมกัน ขอให้พบแต่สิ่งดีมีความเจริญก้าวหน้าทั้งในหน้าที่การงาน การเงิน มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ แข็งแรง ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณธนสารสมบัติทุกประการด้วยเทอญ

การทำบุญทอดกฐินในปัจจุบันถือเป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนาและในสังคมไทย แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำบุญกฐินมีความผิดเพี้ยนไปจาก “พุทธบัญญัติ” ในหลายประการ เพราะไปมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวกฐิน


พระธรรมปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า “แท้จริงแล้วความสำคัญของการทอดกฐินอยู่ที่จีวรเพียงผืนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีหลายคนไม่รู้เลยว่าตัวกฐินที่แท้จริงคืออะไร ไปมองบริวารกฐินว่าเป็นตัวกฐิน”...

สะท้อนให้เห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของการทอดกฐินได้ถูกลดความสำคัญ

ศรัทธา...ความเชื่อเกี่ยวกับ “การทำบุญ” ทำแล้วได้ผลบุญมากน้อยอยู่ที่เจตนา ที่สำคัญการทำบุญนั้นแฝงกิเลสไว้หรือไม่ หรือทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ เจตนาอย่างไร...ผลบุญนั้นก็จะให้ผลตามเหตุแห่งเจตนา

ความจริง “การทำบุญ” และ “ผลของบุญ” ผู้ทำจะเป็นหญิงหรือชาย ผลบุญจะทำให้สวยให้หล่อก็เกิดกับทั้งหญิงและชาย ถ้าเป็นผู้ชายก็เป็นความหล่อ...ผู้หญิงก็เป็นความสวย แม้ว่าจะทำบุญแล้วทำให้หน้าตาสวยงามได้ดั่งใจหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญหรือจุดหมายทางพระพุทธศาสนา



การทำบุญแล้วได้ผลบุญเกิดมาสวยงามก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทาง โลกอยู่ ซึ่งการทำบุญให้ทานนั้นเป็นพื้นฐานและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความดี มีการละชั่ว ทำบุญให้ทาน รักษาศีล ทำสมาธิภาวนาและมีปัญญา เป็นเรือพาข้ามฟาก ข้ามฝั่ง หรือเป็นหนทางให้เดินทางไปสู่เป้าหมายแห่งการพ้นทุกข์ในกาลต่อไป

นั่นก็คือ...“พระนิพพาน” ซึ่งเป็นเป้าหมายของพระพุทธศาสนาโดยแท้จริง

O O O O

อานิสงส์การทอดกฐิน...ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกาลเวลากำหนดที่เรียกว่า “กาลทาน” คือในปีหนึ่งถวายได้เพียงในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น ในข้อนี้มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ทานตามกาลนั้นเมื่อใด บุคคลผู้นั้นมีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาล ความต้องการย่อมสำเร็จได้



ชื่อว่า...ได้สงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่แม้ผ้าจุลกฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม ผู้ให้ผ้าจุลกฐินชื่อว่าให้ผิวพรรณ

ชื่อว่า...ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง 2 กาล คือก่อนทอด กำลังทอด ทอดแล้วที่เลื่อมใส ศรัทธา ปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่จิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ



การทอดกฐินทำให้เกิดสามัคคีธรรมคือการร่วมมือกันทำคุณงามความดี ถ้าการถวายจุลกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วยก็เป็นการร่วมสามัคคีเพื่อรักษาศาสนวัตถุ ศาสนสถานให้ยั่งยืนสืบไป

พิธีทอดกฐิน...นับว่าเป็นงานบุญใหญ่จัดขึ้นปีละครั้งเท่านั้น ตามหลักพุทธศาสนาจัดเป็นกาลทาน แปลว่า “ถวายตามกาลสมัย” ซึ่งคำว่า กฐินนั้นส่วนหนึ่งอาจหมายถึง “สะดึง” กรอบไม้แบบสำหรับทำจีวร

สมัยเมื่อครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปทรงตามกำหนดต้องการนั้นทำได้ยาก จึงใช้สะดึงขึงทำให้เป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่มขึ้นมา เรียกรวมว่า “จีวร” การรื้อสะดึงไม้เรียกว่า “เดาะ”...เป็นที่มาของคำว่า “กฐินเดาะ”

O O O O



อานิสงส์ตามที่องค์สมเด็จพระชินสีห์เทศนาไว้ คนถวายและร่วมกฐินทานครั้งหนึ่งจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะปรารถนาเป็นพระอัครสาวกก็ได้ จะปรารถนาพระนิพพานซึ่งเป็นพระอรหันต์ก็ได้

กล่าวกันว่าอานิสงส์กฐินทาน อันดับแรก...

เมื่อตายจากความเป็นคนจะเกิดเป็นเทวดาและลงมาจุติเป็นเจ้าจักรพรรดิปกครองประเทศทั่วโลก มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต 500 ชาติ...เมื่อบุญแห่งความเป็นจักรพรรดิสิ้นไป บุญหย่อนลงมาจะเป็นพระมหากษัตริย์ 500 ชาติ...เมื่อบุญแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์หมดไป ก็เกิดเป็นเศรษฐี 500 ชาติ...เมื่อบุญแห่งความเป็นมหาเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นอนุเศรษฐี 500 ชาติ

เมื่อบุญแห่งความเป็นอนุเศรษฐีหมดไป ก็เกิดเป็นคหบดี 500 ชาติ...รวมแล้วคนที่ทอดกฐินทานได้สักครั้งหนึ่งแล้ว “บุญ” ...“บารมี” ยังไม่ทันหมดก็เข้านิพพานก่อนได้



อีกทั้งธงกฐินทั้ง 4 คือ ธงจระเข้ ธงนางมัจฉา ธงตะขาบ ธงเต่า เคลือบแฝงเอาไว้ด้วยปริศนาธรรมแต่โบร่ำโบราณนานมาแล้ว “จระเข้”...สะท้อนให้เห็นภาพ สัตว์ปากใหญ่ กินไม่อิ่ม หมายถึง ความโลภ

“ตะขาบ”...สัตว์มีพิษ เปรียบดั่งความโกรธที่อยู่ในหัวใจ คอยเผาจิตใจ วัดไหนปักธงนี้แสดง ให้รู้กันว่ามีคนมาจองกฐินแล้ว ใครที่จะมาปวารณาทอดกฐินก็ให้ผ่านไปวัดอื่น ไม่ต้องมาไถ่ถามให้เสียเวลา

“นางมัจฉา”...สะท้อนถึงเสน่ห์แห่งความงาม ชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้ม ตัวแทนหญิงสาวหมายถึงความหลง ตามความเชื่อระบุว่า อานิสงส์จากการถวายผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์จะส่งผลบุญให้มีรูปงาม



“เต่า”...สัตว์ที่มีกระดองแข็งคอยคุ้มกันป้องกันภัย ความหมายเมื่อวัดปักธงเต่าเพื่อแสดงแจ้งให้รู้ว่าวัดนี้ทอดกฐินเรียบร้อยแล้ว โดยจะปลดลงในวันเพ็ญเดือน 12

บุญใหญ่งาน “ทอดกฐิน” ประจำปี ถ้าสังเกตจะเห็นว่าผู้คนจะแย่ง...ชิงถือ “ธงมัจฉา” กับ “ธงจระเข้” บางแห่งถึงขั้นต้องจับจองกันเอาไว้ล่วงหน้าเลยทีเดียว เพราะหนึ่งงานจะมีอย่างละหนึ่งธงเท่านั้น

ด้วยมีศรัทธา เชื่อกันว่า...ใครที่ได้มาบูชานั้น เงินทองจะไหลมาเทมา โชคลาภจะไหลบ่าไม่ขาดสาย เปรียบเทียบไม่ต่างกับกระแสแรงศรัทธาของผู้คนที่ต่างมุ่งหน้ามางานทอดกฐินที่จะมากันเป็นประจำทุกปี เอาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆมาถวายวัด เอาเงินทองมาร่วมทำบุญ

“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.

                       รัก-ยม





Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2521613
9 ต.ค. 2565 , 06:50 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ