ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิทยาศาสตร์ของ ‘มารยาท’ : มองมารยาทจากประสาทศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์  (อ่าน 962 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



วิทยาศาสตร์ของ ‘มารยาท’ : มองมารยาทจากประสาทศาสตร์ เคมี และฟิสิกส์

Summary

  • Small Science เป็นคอลัมน์ชวนอ่านฆ่าเวลาของ โตมร ศุขปรีชา ว่าด้วยเกร็ดความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกสรรพสิ่งรอบตัวเรา จากสสาร สิ่งประดิษฐ์ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์

  • สำหรับสัปดาห์นี้ โตมรเล่าถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง ‘มารยาท’ ที่เราสามารถมองได้จากหลายมุม ทั้งมุม ‘ประสาทศาสตร์’ ที่มารยาทเป็นเรื่องซับซ้อนและถูกควบคุมด้วยสำนึกหลายชั้น, มุม ‘เคมี’ ที่มารยาทเป็นการแสดงออกของปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในสมองและร่างกาย หรือมุม ‘ฟิสิกส์’ ที่มารยาทถูกกำกับควบคุมด้วยกฎแห่งการเคลื่อนที่ และการถ่ายทอดพลังงาน



Illustration: Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn

เรามักจะคิดว่า ‘มารยาท’ เป็นเรื่องที่เราร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วมันก็จะ ‘ปลูกฝัง’ อยู่ในเนื้อในตัวของเราไม่เปลี่ยนแปลง เช่น คนที่พูดจาไพเราะ คนที่บอกขอบคุณ ขอโทษ หรือเปิดประตูให้คนอื่นเข้า ฯลฯ หรือบางคนก็ไปไกลถึงขั้นไล่คนอื่นที่ตัวเองเห็นว่าไม่มีมารยาท ให้ไปอ่านหนังสือ ‘สมบัติผู้ดี’ ประหนึ่งว่าอ่านหนังสือเพียงเล่มเดียว หรือมีพ่อแม่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาแต่เด็กแล้วก็จะ ‘มารยาทดี’ ไม่กลายกลืนไปเป็นอย่างอื่น

แต่รู้ไหมครับว่า ‘มารยาท’ ไม่ใช่ของตายตัวอย่างที่เราคิดขนาดนั้นหรอก

ในทางวิทยาศาสตร์ เรามองมารยาทได้จากหลายมุม เช่น มารยาทในมุมมองของประสาทศาสตร์ มารยาทจากมุมมองทางเคมี หรือมารยาทในมุมมองทางฟิสิกส์ ซึ่งอาจจะฟังดูประหลาดๆ หน่อย แต่เชื่อไหมว่า เราสามารถมองมารยาทจากมุมแปลกๆ เหล่านี้ได้จริงๆ

เราลองมาดูมารยาทในมุมของประสาทศาสตร์ก่อนก็ได้ครับ

มารยาทในมุมประสาทศาสตร์

ในทางประสาทศาสตร์ หรือ Neuroscience สิ่งที่เรียกว่า ‘มารยาท’ นั้น ก็คือ ‘พฤติกรรมเชิงสังคม’ (Social Behavior) ที่ถูกหล่อหลอมมาโดย ‘กระบวนการทางสมอง’ และ ‘เส้นทางเดินของกระแสประสาท’ (Neural Pathways) จำนวนมาก

นักวิจัยพบว่า ความสามารถของคนเราที่จะทำอะไรๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมโดยมีสิ่งที่สังคมเรียกว่า ‘มารยาทที่เหมาะสม’ และปฏิบัติกับผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องต้องกันกับ ‘นอร์ม’ หรือมาตรฐานทางสังคมนั้น เชื่อมโยงชิดใกล้กับสมอง และเครือข่ายของเซลล์ประสาทหลายอย่าง

ในทางสมอง มารยาทเป็นเรื่องซับซ้อนนะครับ เพราะมันถูกควบคุมด้วยสำนึกหลายชั้น บางทีเราเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่พึงพอใจ เราอาจอยากตอบสนองโดยใช้สมองระดับสัตว์เลื้อยคลาน หรือระบบลิมบิก (Limbic System) แต่สมองมนุษย์หรือสมองส่วนหน้าที่ถูกกำกับควบคุมโดยปทัสฐานทางสังคม กลับเข้ามาควบคุม ทำให้เราแสดงออกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งนักประสาทศาสตร์บอกว่า พฤติกรรมของ ‘คนมีมารยาท’ (ตามครรลองของสังคมที่สังกัด) นั้น จะถูกกำกับควบคุมทั้งจากสมองส่วน Prefrontal Cortex หรือส่วนหน้า, อะมิกดาลา (Amygdala) และระบบประสาทที่เรียกว่า ระบบประสาทกระจก หรือ Mirror Neuron System

โดยเจ้าสมองส่วนหน้านั้นจะทำหน้าที่เหมือนเป็น ‘ควาญช้าง’ ที่คอยตัดสินใจเรื่องต่างๆ มันจะคอยควบคุมเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามสัญชาตญาณ (Impulse Control) และคอยวางแผนการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการกำกับพฤติกรรมของตัวเราเอง เวลาอยู่ในสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ

แต่ ‘ควาญช้าง’ ที่ว่านี้ ย่อมมี ‘พละกำลัง’ หรือเรี่ยวแรงสู้ตัวช้างไม่ได้ ดังนั้น ถ้ามีอะไรเข้ามาก่อกวนมากๆ ก็อาจทำให้ ‘ปรี๊ดแตก’ หรือช้างสะบัดควาญตกหลังไปได้อยู่เหมือนกัน

    "สมองกับมารยาทนั้นทำงานสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนมากๆ เชื่อกันว่า เป็นการอยู่ในสังคมของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์นี่เอง ที่ทำให้สมองของเราต้องทำงานหนักจนมีวิวัฒนาการมาได้ถึงขนาดนี้ และทำให้สมองเป็นอวัยวะที่ ‘กินพลังงาน’ สูงมาก เพราะเราต้องคอยประมวลผลและมีปฏิกิริยาตอบสนองออกไปอยู่ตลอดเวลา"

ส่วนอะมิกดาลานั้น จะช่วยควาญช้างอีกต่อหนึ่ง ถ้าเปรียบไป อะมิกดาลาก็เหมือน ‘ขอสับ’ ที่ควาญเอาไว้ใช้สับคอช้าง คือมันจะเป็นตัวประมวลผลเชิงอารมณ์ แล้วช่วยให้เราตอบสนองต่อ ‘สัญญาณทางสังคม’ (Social Cues) ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม เช่น การแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงออกของ ‘กล้ามเนื้อมัดเล็ก’ ที่เรามองแทบไม่เห็น (แต่สมองของคู่สนทนารับรู้ได้) รวมไปถึงการเปลี่ยนน้ำเสียงของเราด้วย

ส่วนระบบประสาทกระจก คือการ ‘เลียนแบบ’ (เหมือนส่องกระจก) ทำให้เราทำอะไรๆ เหมือนคนอื่นๆ ไปได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งก็คือการ ‘เรียนรู้’ พฤติกรรมเชิงสังคมจากคนอื่นๆ ซึ่งถ้าคนในกลุ่มสังคมหนึ่งๆ มีอะไรเหมือนกัน ก็เหมือนการ ‘เข้าเมืองตาหลิ่ว’ แล้วเราก็หลิ่วตาตาม เพียงแต่มักไม่ใช่การหลิ่วตาโดยรู้ตัวหรือบังคับให้ตัวเองทำ ทว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาเองโดยเราแทบไม่รู้ตัว

นอกจากนี้ สมองยังช่วยเราประมวลผลคนอื่นด้วย เช่น มีสมองส่วนที่เรียกว่า Fusiform Gyrus ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสมองกลีบขมับ มันจะช่วยเรารับรู้สีหน้าของคนอื่น ว่าเขากำลังรู้สึกอะไรกับเรา เขายิ้มหรือเปล่า หรือหน้าบึ้ง (ซึ่งถ้าเป็นการยิ้มหรือบึ้งโดยกล้ามเนื้อมัดเล็ก บางทีเราบอกได้ยากว่าเขากำลังรู้สึกอะไรอยู่ เพราะบางอารมณ์บวกและลบ ก็อาจทำให้เรามีหน้าตาเหยเกแบบเดียวกันได้ การตีความตรงนี้จึงสำคัญมาก)

สมองอีกส่วนหนึ่ง คือ Superior Temporal Sulcus ก็จะทำหน้าที่ตีความคล้ายๆ กัน แต่ไม่ได้ตีความ ‘ภาพ’ เท่ากับการตีความ ‘เสียง’ และ ‘ภาษา’ ที่รับรู้ รวมไปถึงการแสดงภาษาแบบอวัจนภาษา หรือตีความภาษากาย (Body Language) ด้วย

จะเห็นได้เลยว่า สมองกับมารยาทนั้นทำงานสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนมากๆ เชื่อกันว่า เป็นการอยู่ในสังคมของสัตว์สังคมอย่างมนุษย์นี่เอง ที่ทำให้สมองของเราต้องทำงานหนักจนมีวิวัฒนาการมาได้ถึงขนาดนี้ และทำให้สมองเป็นอวัยวะที่ ‘กินพลังงาน’ สูงมาก เพราะเราต้องคอยประมวลผลและมีปฏิกิริยาตอบสนองออกไปอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็เป็นเจ้า ‘ปฏิกิริยาตอบสนอง’ นี่แหละครับ ที่ทำให้เราสามารถมอง ‘มารยาท’ ได้ในแง่มุมทางเคมี!




มารยาทในมุมทางเคมี

ในทางเคมีแล้ว มารยาทไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก ‘การแสดงออก’ ของปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในสมองและร่างกายของเรานั่นเอง

แค่ในสมองที่เราบอกว่ามันทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องใช้สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ไม่รู้จักกี่ตัวเข้าไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เซโรโทนิน (Serotonin) หรือโดปามีน (Dopamine) ซึ่งจะคอยให้รางวัลเราถ้าเราแสดงพฤติกรรมทางสังคมได้ถูกต้องเหมาะสม

เซโรโทนินนี่สำคัญมากนะครับ เพราะมีงานวิจัยบอกว่า มันคือกุญแจสำคัญที่ช่วยควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมให้เรา ระดับเซโรโทนินที่ต่ำ มักจะทำให้เรามีความก้าวร้าวมากขึ้น มีอาการ ‘ต่อต้านสังคม’ มากขึ้น ซึ่งสังคมก็อาจจะมองว่าเราเป็นคนมีมารยาทน้อย หรือไม่มีมารยาทไปได้เหมือนกัน แต่ถ้าระดับเซโรโทนินสูง ก็จะเป็นตรงข้าม เราจะอารมณ์ดีขึ้นได้ในทันที ในขณะที่โดปามีนจะเป็นเหมือนการให้รางวัล ถ้าเราแสดงออกได้เหมาะสม โดปามีนก็จะหลั่ง เราก็จะรู้สึกมีความสุขขึ้นมาได้

    "แค่ในสมองที่เราบอกว่ามันทำงานอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ต้องใช้สารสื่อประสาท (Neurotransmitters) ไม่รู้จักกี่ตัวเข้าไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เซโรโทนิน (Serotonin) หรือโดปามีน (Dopamine) ซึ่งจะคอยให้รางวัลเราถ้าเราแสดงพฤติกรรมทางสังคมได้ถูกต้องเหมาะสม"

สารเคมีอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ตระหนักว่ามันเกี่ยวข้องกับ ‘มารยาท’ อย่างมาก ก็คือ ฟีโรโมน (Pheromone) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ร่างกายผลิตขึ้นมา แล้วมันสามารถไปส่งผลกับพฤติกรรมทางสังคมได้ ไม่ว่าจะส่งสัญญาณดึงดูดทางเพศ การสร้างความก้าวร้าว หรือทำให้เราแสดงสัญญาณทางสังคม (Social Cues) บางอย่างออกไปโดยไม่รู้ตัว

ฟีโรโมนไม่ได้แปลว่าจะต้องมีกลิ่น หรือมาจากกลิ่นเหงื่อกลิ่นตัวเสมอไป แต่มันคือสารเคมีที่สามารถส่งผ่านกันไปได้ เราอาจไม่รู้ตัว แต่ร่างกายของเรารู้ และทำให้เราตอบสนองโน่นนั่นนี่ออกไป งานวิจัยบางคนจึงบอกว่า ฟีโรโมนนั้นมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อ ‘มารยาท’ และพฤติกรรมทางสังคมของเราได้อย่างซับซ้อนมาก

และเป็นการแสดงออกของร่างกายนี้เอง ที่ทำให้เราสามารถมองมารยาทในมุมของฟิสิกส์ได้!

มารยาทในมุมฟิสิกส์

ในทางฟิสิกส์ มารยาทถูกกำกับควบคุมด้วย ‘กฎแห่งการเคลื่อนที่’ (Laws of Motion) และ ‘การถ่ายทอดพลังงาน’ (Energy Transfer) ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงเทอร์โมไดนามิกส์ (Thermodynamics) หรืออุณหพลศาสตร์

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะ ‘มารยาท’ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่มันคือการที่เรามีปฏิสัมพันธ์ (interact) (ไม่ใช่ปฏิกิริยาทางเคมีนะครับ) กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพรอบตัวเรา เช่น องศาในการนั่ง, วิธีจับช้อนส้อมและมีด, การเอนตัวเข้าไปหาคู่สนทนามากไปหรือน้อยไป, การแตะข้อศอกอย่างสุภาพ, การเปิดประตูรถ, ฯลฯ ซึ่งล้วนต้องการท่าที วิธีการ และจังหวะที่เหมาะสมทั้งสิ้น นั่นแปลว่า คนที่เชี่ยวชาญเรื่องมารยาทมากๆ จะต้องเชี่ยวชาญ ‘กฎแห่งการเคลื่อนที่’ อย่างละเอียดอ่อนไปด้วย จึงจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกจากคนอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมเขาได้ ไม่เร่อร่า ทะเล่อทะล่า หรือเซ่อซ่า แต่ต้องรู้จักรักษา ‘ระเบียบของร่างกาย’ ให้เนี้ยบพอดี จึงจะได้ชื่อว่ามีมารยาทงาม

มารยาทยังถูกมองในมุมการถ่ายทอดพลังงานได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราจับมือเชกแฮนด์คนอื่นๆ เราจับมือแรงค่อยมากแค่ไหน มันคือการส่งสัญญาณทางสังคมออกไปหาคู่จับมือของเราทั้งสิ้น มือของเราหรือคู่จับมือร้อนหรือเย็น น้ำหนักของการแตะต้องร่างกายระหว่างกัน (เช่น การแตะข้อศอก) เป็นอย่างไร การแสดงความไม่พึงพอใจด้วยการกระแทก (เช่น กระแทกประตูปิด) ก็มาจากทั้งกฎการเคลื่อนที่และการถ่ายทอดพลังงานทั้งนั้น

    "ในยุคสมัยที่สังคมให้ความสำคัญกับ ‘ความเสมอภาค’ มากกว่า ‘ชนชั้นนิยม’ มารยาทจึงถูกมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการ ‘ยอมตาม’ (conform) เข้ากับกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นเท่านั้น แต่มันคือเครื่องมือในการ ‘ตอบแทนกันและกัน’ (reciprocity) ซึ่งมีนัยในการ ‘เคารพ’ กันและกันด้วย"

มารยาทจึงถูกมองในมุมของวิทยาศาสตร์ได้หลากมุม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่ใช่ของ ‘ตายตัว’ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสังคมที่แตกต่าง และตามกาลเวลาที่แตกต่างด้วย

หนังสือ ‘สมบัติผู้ดี’ เพียงเล่มเดียวที่ไม่เคยแก้ไขเปลี่ยนแปลง จึงอาจใช้ไม่ได้กับทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคสมัยที่สังคมให้ความสำคัญกับ ‘ความเสมอภาค’ มากกว่า ‘ชนชั้นนิยม’ มารยาทจึงถูกมองว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการ ‘ยอมตาม’ (conform) เข้ากับกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจสร้างขึ้นเท่านั้น แต่มันคือเครื่องมือในการ ‘ตอบแทนกันและกัน’ (reciprocity) ซึ่งมีนัยในการ ‘เคารพ’ กันและกันด้วย

น่าจะเป็นความเข้าใจเรื่องมารยาทแบบนี้นี่แหละ ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกยุคใหม่




Thank to : https://plus.thairath.co.th/topic/spark/102913
Thairath Plus › Spark › Science & Tech | 17 มี.ค. 66 | creator : โตมร ศุขปรีชา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 27, 2023, 06:29:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ