ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา เป็นเชื้อราชวงศ์ลาว มีในพระราชนิพนธ์ ร.4, ร.5  (อ่าน 1078 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29302
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา เป็นเชื้อราชวงศ์ลาว มีในพระราชนิพนธ์ ร.4, ร.5

“สมเด็จพระรามาธิบดี ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นเชื้อราชวงศ์ลาว” ข้อความยกสรุปมานี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดาร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดให้พิมพ์แจก (ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินทุ์เพ็ญภาคย์ เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2479) จะคัดข้อความจากหนังสืองานศพมี 3 ตอน ดังนี้

    “พระเจ้าแผ่นดินผู้ที่สร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยานั้น เป็นเชื้อราชวงศ์มาแต่ข้างฝ่ายลาว” (หน้า 5)
    “สมเด็จพระรามาธิบดีนี้ ท่านก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินข้างฝ่ายลาว” (หน้า 8)
    “ในต้นราชตระกูลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้น เป็นเชื้อลาวมาตั้งพระราชธานีในประเทศสยาม ธรรมเนียมต่างๆ คงยังเจือลาวอยู่บ้าง” (หน้า 22)

@@@@@@@

ร.4 ว่าอู่ทอง เป็นลาว

ที่ว่าสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงเป็นเชื้อราชวงศ์ลาวนั้น ร.5 ทรงอ้างตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (ร.4) ที่ว่า

    “พระเจ้าอู่ทองเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ได้รับราชสมบัติสืบพระวงศ์ทางพระมเหสี ครองราชสมบัติอยู่ 6 ปี เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร จึงย้ายมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา”

(พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ร.4 พระราชทานให้หมอดีนส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือไจนีสเรโปสิตอรี ที่เมืองกึงตั๋ง พ.ศ.2394 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างไว้ในตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร อยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2542 หน้า 39)

พระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อราชวงศ์ลาวจากพระเจ้าพรหม เมืองเชียงแสน จ.เชียงราย มีต้นเรื่องอยู่ในหนังสือตำนานเกี่ยวกับโยนก (เช่น ตำนานสิงหนวัติ และพงศาวดารเมืองเงินยาง เชียงแสน) กับพระราชพงศาวดารสังเขป ของ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (วัดโพธิ์ ท่าเตียน)

เหตุนี้เองในตำราเก่าจึงระบุว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (หรือพระเจ้าอู่ทอง) ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นต้นราชวงศ์เชียงราย


@@@@@@@

ไทยมาจากลาว

ไทย มาจากลาว มีร่องรอยในวรรณกรรมคำบอกเล่าหลายเรื่อง เคยสรุปไว้ก่อนแล้วตรงนี้ (ฉบับวันที่ 5-12 เมษายน 2556) จะคัดมาบอกซ้ำอีกทีก็ได้ ดังนี้

   - ลาวอยู่บน ไม่ลาวอยู่ล่าง สมมุติให้ลุ่มน้ำโขงอยู่ข้างบน เป็นแหล่งวัฒนธรรมลาว ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ข้างล่าง เป็นแหล่งวัฒนธรรมไม่ลาว

   - คนเมืองแถนที่ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ข้างบน นับเป็นพวกลาว มีกลุ่มสำคัญ คือ
     ขุนลอ อยู่เมืองหลวงพระบาง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
     ไสผง อยู่เมืองโยนก ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ทางเหนือลุ่มน้ำเจ้าพระยา

   - พวกไม่ลาว อยู่ข้างล่าง มีกลุ่มเดียว คือ
     งั่วอิน อยู่เมืองอโยธยา ทางลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ลพบุรี-อยุธยา-สุพรรณบุรี ทางใต้ของพวกลาว

   - บนลงล่าง ต่อมา (นักปราชญ์และนักวิชาการเชื่อว่าราวหลัง พ.ศ.1700) ในนิทานบอกว่าเกิดความขัดแย้งต่างๆ นานา พวกอยู่ข้างบนเป็นลาวพากันเคลื่อนย้ายลงข้างล่าง ผ่านชุมทางคมนาคมที่ลุ่มน้ำน่าน บริเวณ จ.อุตรดิตถ์ และ จ.พิษณุโลก

@@@@@@@

ชุมทางลุ่มน้ำน่าน-ยม ชุมทางคมนาคมบริเวณลุ่มน้ำน่าน-ยม (อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-สุโขทัย) เป็นที่พบกันของพวกข้างบนคนเมืองแถน มีบอกไว้ในนิทาน 2 เรื่อง

    1. ตำนานสิงหนวัติ เล่าว่ามีคนจากดินแดนโยนก เคลื่อนย้ายจากลุ่มน้ำกก (เชียงราย) ผ่านลุ่มน้ำอิง (พะเยา) ลงลุ่มน้ำน่าน (น่าน, อุตรดิตถ์) แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณทุ่งยั้งที่อุตรดิตถ์ มีเรียกในตำนานพระประโทณเจดีย์ (ฉบับนายอ่องไวกำลัง) ว่า ทุ่งยาง เล่าว่าท้าวอู่ทองเป็นโอรสเจ้าเมืองเชียงแสน แล้วตีได้เมืองเชียงราย จึงมาตั้งอยู่ทุ่งยาง (ทุ่งยั้ง)

    2. นิทานท้าวอู่ทอง ฉบับบาทหลวงตาชาร์ด-ลาลูแบร์ เล่าว่ามีคนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนย้ายจากสองฝั่งโขงผ่านเมืองนครไทย (พิษณุโลก) ลงลุ่มน้ำน่าน (อุตรดิตถ์) แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณทุ่งยั้ง ก่อนลงไปเมืองเพชรบุรี

อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้เชี่ยวชาญฯ กรมศิลปากร) เชื่อว่า เมืองเวียงเจ้าเงาะที่ทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ คือเมืองราดของพ่อขุนผาเมือง ก่อนลงไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ลงไปสุพรรณ ถึง เพชรบุรี จากลุ่มน้ำน่าน-ยม ชุมทางคมนาคมของคนเมืองแถน 2 ทิศทาง มีคำบอกเล่าอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่า ว่าท้าวอู่ทองเป็นผู้นำกลุ่มชนเคลื่อนย้ายลงไปทางทิศใต้ ถึงเมืองเพชรบุรี แล้วถึงย้อนขึ้นไปสร้างอยุธยา


@@@@@@@

เส้นทางเคลื่อนย้ายช่วงนี้ ลงทางฟากตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ต่อไปข้างหน้าจะมีเอกสารจีนเรียกบริเวณนี้ว่าสยาม มีชาวสยามพูดจาสื่อสารกันด้วยภาษาตระกูลลาว-ไทย ที่ทุกวันนี้เรียกสำเนียงเหน่อ

ร่องรอยอีกอย่างหนึ่งคือสำเนียงภาษาพูดของกลุ่มชนพื้นเมืองตั้งแต่ลุ่มน้ำยมที่เมืองสุโขทัย ลงไปทางฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น สุพรรณบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี ที่จดหมายเหตุจีนเรียกว่าพวกเสียน หรือสยาม ล้วนใกล้ชิดกับสำเนียงหลวงพระบาง (ล้านช้าง) อย่างยิ่ง

โดยเฉพาะสำเนียงสุพรรณฯ ที่คนต่างถิ่นฟังเป็นเหน่อ ยิ่งใกล้เคียงสำเนียงหลวงพระบาง จนเกือบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สำเนียงที่ว่าเหน่อนี่แหละ คือสำเนียงหลวงของกรุงศรีอยุธยา หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินก็ดี ไพร่ฟ้าประชาราษฎรส่วนมากก็ดี ล้วนตรัสและพูดจาในชีวิตประจำวันด้วยสำเนียงอย่างนี้ ดังมีร่องรอยเป็นขนบอยู่ในการละเล่นโขน เมื่อถึงเจรจาโขนที่ต้องใช้สำเนียงเหน่อสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ถ้าใช้สำเนียงกรุงเทพฯ อย่างพูดจากันทุกวันนี้ ถือว่าผิดขนบ

ร่องรอยเหล่านี้มีในตำนานนิทานเก่าแก่ แต่นักวิชาการสมัยใหม่ตัดทิ้งไป อ่านไม่เข้าใจ เพราะถูกครอบงำด้วยวรรณกรรมกระแสหลักจากราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนพลัดตกลงไปในหลุมดำนั้น เลยอธิบายเชื่อมโยงไม่ได้ระหว่างผู้คนสองฝั่งโขง กับลุ่มน้ำเจ้าพระยา






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 - 23 พฤษภาคม 2552
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/culture/article_661557
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ