ความเป็นมาของภิกษุณี
ขณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม แคว้นสักกะ พระนางมหาปชาบดีโคตมี เข้าไปเฝ้ากราบทูลขอบรรพชา เป็นอนาคาริยะ (ไม่ครองเรือน) ในพระธรรมวินัยซึ่งพระตถาคตเจ้าประกาศแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสห้ามว่า อย่าเลย ท่านเป็นมาตุคาม (ผู้หญิง) อย่าพอใจบรรพชาเป็นอานาคาริยะ ในพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วเลย แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ พระนางมหาปชาบดีโคตมี กราบทูลขอบรรพชาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามอย่างนั้น เมื่อถูกห้ามเช่นนั้น พระนางก็ระทมทุกข์เสียพระทัยถึงกับกันแสงน้ำพระเนตร นองพระพักตร์ ทรงกราบลาพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเสด็จกลับพระตำหนัก
ต่อมาเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตเมืองเวสาลี พระนางมหาปชาบดีโคตรมีกับเจ้าหญิง ศากยะเป็นอันมาก ได้พร้อมพระทัยกันให้ช่างกัลบก (ช่างตัดผม) ปลงพระเกศาครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จขอให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานอนาคาริยะบรรพชาแก่มาตุคาม พระองค์ทรงปฏิเสธ แม้ครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ทรงปฏิเสธเหมือนอย่างครั้งก่อน พระอานนท์ได้ยกเหตุผลใหม่ขึ้นมากราบทูลถาม ว่า “หากมาตุคามบรรพชาในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตเจ้าประกาศแล้ว จะควรหรือไม่ที่จะบรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผลและอรหัตตผล” พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ควร” พระอานนท์จึง กราบทูลต่อไปว่า “พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้ปกป้องเลี้ยงดูถวายพระขีระ
เมื่อพระพุทธมารดาสวรรคตแล้วก็ให้พระองค์ทรงดื่มพระขีระ โปรดเถิด ขอให้มาตุคามได้บรรพชาในพระธรรมวินัยอันพระตถาคตประกาศแล้วเถิด” พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตตามที่พระอานนท์ทูลขอ แต่ทรงมีเงื่อนไขว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมี ต้องถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการตลอดพระชนมชีพ หากพระนางทรงถือปฏิบัติได้ ขอให้การถือปฏิบัติครุธรรม ๘ ประการ นี้แหละ จงเป็นการอุปสมบทของนาง ครุธรรม ๘ ประการ เช่น ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อนางสิกขมานา ผู้ศึกษาธรรม ๖ ประการสิ้น ๒ ปีแล้ว เป็นต้น เป็นอันว่า พระนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีแล้ว เหตุผลที่ไม่ทรงเต็มพระทัยให้สตรีบวช เนื่องมาจากจะเป็นเหตุให้พระศาสนาไม่ยั่งยืน
จึงทรงบัญญัติคุรุธรรม ๘ ประการไว้ เพื่อป้องกันไว้แต่แรก เพราะปฏิบัติให้บริบูรณ์ได้ยาก พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระภิกษุช่วยกันรับภาระอุปสมบทเจ้าหญิงศากยะที่ เหลือเป็นภิกษุณีด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา โดยตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลายตถาคตอนุญาตให้ภิกษุอุปสมบทสตรีให้เป็นภิษุณีได้” ซึ่งในครั้งแรกนี้เป็นการอุปสมบทโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว เกี่ยวกับสถานภาพภิกษุณีเมื่อครั้งหลังพุทธปรินิพพานมีการทำสังคายนาหลายครั้ง ได้กำหนดองค์ประกอบของการจะบวชเป็นภิกษุณีไว้ ๓ ข้อ
องค์ประกอบข้อที่ ๑ ด้านอายุ นอกจะเป็นหญิงจะต้องผ่านการเป็นสามเณรรีถือศิล ๑๐ แล้วต่อมาต้องเป็นสิกขมานาถือศิล ๖ อยู่ ๒ ปี เมื่ออายุถึง ๒๐ จึงจะทำพิธีอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้
องค์ประกอบที่ ๒ จะต้องถือศิลให้ได้ ๓๑๑ ข้อ และจะต้องอยู่ครุกรรมอีก ๖ สถาน (สิกขาบท ๖ ข้อได้แก่ศิล ๕ และข้อ ๖ ห้ามรับประทานอาหารหลังเที่ยงวัน) เพื่อทดลองใจว่าเข้มแข็งพอหรือไม่
องค์ประกอบข้อที่ ๓ เรื่องการมีอุปัชฌาย์ อุปัชฌาย์นั้นจะต้องเป็นอุปัชฌาย์ที่บวชโดยภิกษุ จบแล้วต้องไปหาอุปัชฌาย์ที่เป็นภิกษุณีบวชให้ซ้ำอีกครั้งหนึ่งจึงจะเป็น ภิกษุณีสำเร็จได้ต่อมาพระพุทธศาสนาได้แตกออกเป็นหินยาน และมหายาน โดยหินยานถูกเรียกว่าฝ่ายเถรวาท มหายานถูกเรียกว่า ฝ่ายอาจริยาวาท คือฝ่ายหนึ่งยึดเอาพระเถระเป็นหลัก อีกฝ่ายหนึ่งยึดเอาอาจารย์เป็นหลักแยกออกเป็น ๒ สาย
สำหรับประเทศไทย พระพุทธศาสนาที่เข้ามานั้นเป็นฝ่ายเถรวาท มหายานเข้ามาปานบ้างในบางครั้งบางคราว ทางฝ่ายเถรวาทถือว่าภิกษุณีรูปสุดท้ายหมดไปเมื่อประมาณ พุทธศักราช ๑๐๐๐ ดังนั้น หลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ จึงไม่มีภิกษุณีเหลืออยู่ในทางสายเถรวาท ที่จะเป็นอุปัชฌาย์ฝ่ายภิกษุณี อุปสมบทให้แก่บุคคลอื่น เพื่อให้บุคคลอื่นสำเร็จเป็นภิกษุณีต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตสีมาราม ได้ออกประกาศห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต เหตุผลเนื่องจากภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสืบต่อสามเณรไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อมาจากภิกษุณีก็ไม่มีเป็นอันเสื่อมสูญไปตามกัน
ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรีผู้นั้นชื่อว่าบัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วเป็นเสื้ยนหนามแก่พระศาสนาเป็น ตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะเหตุนี้ ห้ามไม่ให้พระเถรทุกนิกาย บวชหญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา และเป็นสามเณรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศตั้งแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา
สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
ที่มา http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=4125:2011-01-12-12-51-47&catid=38:2009-03-01-22-04-24&Itemid=157