ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม ‘บิล เกตส์’ เชื่อว่า ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ จะพร้อมใช้ภายใน 5 ปี.?  (อ่าน 1449 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



ทำไม ‘บิล เกตส์’ เชื่อว่า ‘ควอนตัมคอมพิวเตอร์’ จะพร้อมใช้ภายใน 5 ปี.?

บิล เกตส์ เชื่อว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะพร้อมใช้งานจริงภายใน 5 ปี โดยไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว ‘มาโจรานา 1’ ชิปควอนตัมขนาดฝ่ามือที่บรรจุคิวบิตได้ถึง 1 ล้านตัว

บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ แม้จะวางมือจากการบริหารบริษัทแต่ก็ยังเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี เขายังคงติดตาม และให้ความสำคัญกับการพัฒนา “ควอนตัมคอมพิวเตอร์” โดยได้ให้สัมภาษณ์ในพอดแคสต์ Opening Bid ของสำนักข่าว Yahoo Finance ว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะพร้อมใช้งานได้จริงภายใน 3-5 ปีข้างหน้า

คำพูดของเกตส์ดูเหมือนเป็นการสั่นระฆังท้าทายวงการเทคโนโลยี เขาแสดงความคิดเห็นอีกว่า เจนเซน หวง ผู้บริหารของอินวิเดีย บริษัทผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่ของโลก “อาจจะคิดผิด” ที่คาดการณ์ว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้จริงอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปี ส่งผลให้หุ้นควอนตัมตกต่ำลง แต่อย่างไรก็ตามหวงมองว่าเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นมีประโยชน์

ถ้าเปรียบกับภาพยนตร์ไซไฟ นี่คือ การเผชิญหน้ากันระหว่างตัวละครสองคนที่มีวิสัยทัศน์ต่างกันราวฟ้ากับดิน คล้ายกับที่โทนี สตาร์ค มองเห็นชุดเกราะอัจฉริยะในขณะที่คนอื่นยังมองแค่เหล็กกล้าธรรมดา





• ‘มาโจรานา 1’ จากทฤษฎีสู่ความจริงในฝ่ามือ

ความมั่นใจของเกตส์ไม่ได้มาลอยๆ เพราะล่าสุด (19 ก.พ. 68) ไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว “ชิปควอนตัมมาโจรานา 1” หรือ “Majorana 1” เป็นชิปที่ใช้ประโยชน์จากโทโพคอนดักเตอร์ตัวแรกของโลก มีขนาดเล็กเพียงเท่า 1 ฝ่ามือ แต่สามารถบรรจุคิวบิต หรือหน่วยประมวลผลแบบควอนตัมได้มากถึง 1 ล้านตัว ซึ่งเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ควอนตัม

สัตยา นาเดลลา ผู้บริหารไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ปี 2025 จะเป็นปีแห่งการเตรียมพร้อมสู่ยุคควอนตัม สะท้อนให้เห็นว่าเกตส์และไมโครซอฟท์ไม่ได้มองว่านี่เป็นเพียงการวิจัยและพัฒนา แต่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

@@@@@@@

• สานต่อความฝันในวงการคอมพิวเตอร์

สำหรับเกตส์ การพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นการสานต่อความฝันในการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งกับการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล การผลักดันให้เทคโนโลยีควอนตัมกลายเป็นความจริงจึงเป็นเหมือนภารกิจสำคัญอีกครั้งในชีวิตของเขา

ในฐานะนักธุรกิจ เกตส์มองว่า การเป็นผู้นำในเทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมหาศาล โดยเฉพาะเมื่อนักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้อาจเข้ามาแทนที่การใช้งาน GPU ในศูนย์ข้อมูลได้ในอนาคต

@@@@@@@

• ทำความรู้จักควอนตัมคอมพิวเตอร์

ควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเทคโนโลยีการคำนวณแบบใหม่ที่อาศัยหลักการทางควอนตัมฟิสิกส์ ต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปที่ใช้บิต (0 หรือ 1) ในการคำนวณ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้คิวบิต ซึ่งสามารถอยู่ในสถานะ 0 และ 1 พร้อมกันได้ตามหลักซูเปอร์โพสิชัน ทำให้มีความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากพร้อมกันได้

ลองจินตนาการว่า หากเรากำลังหาทางออกจากเขาวงกตขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์ปกติจะต้องลองเดินทีละเส้นทาง ถ้าเจอทางตัน ก็ต้องย้อนกลับมาลองใหม่ แต่ควอนตัมคอมพิวเตอร์จะสามารถสำรวจทุกเส้นทางพร้อมกันในคราวเดียว ทำให้หาทางออกได้เร็วกว่าการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทดสอบล่าสุดของกูเกิล ที่ได้พัฒนาชิป Willow ซึ่งสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที ในขณะที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบันอาจต้องใช้เวลาถึงหลายพันล้านปีในการคำนวณโจทย์เดียวกัน คล้ายกับในภาพยนตร์ Doctor Strange ที่พระเอกสามารถมองเห็นอนาคตหลายล้านเหตุการณ์ในเวลาเดียวกัน ในขณะที่คนธรรมดาต้องรอให้เหตุการณ์ค่อยๆ เกิดขึ้นทีละอย่าง

ด้วยคุณสมบัติ ควอนตัมคอมพิวเตอร์จึงเหมาะกับงานที่ต้องการการคำนวณซับซ้อน เช่น การค้นหาโมเลกุลยาใหม่ๆ ในการพัฒนายารักษาโรค การจำลองปฏิกิริยาเคมีที่ซับซ้อน หรือการวิเคราะห์สภาพอากาศ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการถอดรหัสที่ซับซ้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของระบบการเข้ารหัสในปัจจุบัน

แม้ว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์จะมีศักยภาพสูง แต่ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ต้องควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำมากๆ เพื่อรักษาสถานะควอนตัม และยังมีความผิดพลาดในการคำนวณค่อนข้างสูง นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์สามารถใช้งานได้จริงในอนาคต

เมื่อเทคโนโลยีนี้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว มันอาจช่วยแก้ปัญหาที่คอมพิวเตอร์ทั่วไปต้องใช้เวลานานมากหรือไม่สามารถแก้ได้เลย ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อวงการวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก


@@@@@@@

• ผลกระทบต่ออุตสาหกรรม

กิล ลูเรีย นักวิเคราะห์จาก DA Davidson ได้แสดงความเห็นว่าการมาถึงของควอนตัมคอมพิวเตอร์อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการใช้งาน GPU ในศูนย์ข้อมูล

    “เมื่อเทคโนโลยีควอนตัมพัฒนาขึ้น มันอาจเข้ามาแทนที่การใช้งาน GPU ในศูนย์ข้อมูลบางส่วน เพราะใช้พื้นที่น้อยกว่า และประมวลผลได้เร็วกว่ามาก” ลูเรีย กล่าว

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีควอนตัมไม่ได้จำกัดอยู่แค่การประมวลผลเท่านั้น ด้านทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ประสบความสำเร็จในการ “เทเลพอร์ตข้อมูล” โดยใช้อนุภาคแสงหรือโฟตอน แม้จะยังห่างไกลจากการเทเลพอร์ตวัตถุหรือมนุษย์อย่างในภาพยนตร์หรือการ์ตูนแบบที่เราเห็น แต่นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาระบบสื่อสารและการประมวลผลแบบควอนตัม


 




Thank to :-
URL : https://www.bangkokbiznews.com/tech/1167671
By กัญญาภัค ทิศศรี | 20 ก.พ. 2025 เวลา 17:15 น.
อ้างอิง : Quantum Computing Report และ Economic Times
พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ