ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “มรณํ ภวิสฺสติ” : การเจริญมรณานุสสติ  (อ่าน 950 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



“มรณํ ภวิสฺสติ” : การเจริญมรณานุสสติ

มรณานุสสติ คือ การระลึกนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ ซึ่งมีประโยชน์เพื่อให้มีสติและปัญญาพิจารณา
ให้เห็นธรรมสังเวช

วิธีการเจริญมรณานุสสติ

ในเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติเข้าไปสู่สถานที่สงัดรักษาจิตของตนไว้ มีจิตไม่ฟุ้งซ่านพิจารณาความตายของสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า เราจักตาย เราจักเข้าถึงอาณาจักรแห่งความตาย เราจักไม่พ้นความตายไปได้ เมื่อระลึกขึ้นมาถึงความตายแห่งบุคคลอันเป็นที่รัก ก็มักบังเกิดความเศร้าโศก อุปมาดุจบุคคล ระลึกถึงมารดาบังเกิดเกล้า และบุตรอันเป็นที่รักที่ตายไป และเกิดความโศกเศร้า

ขณะเมื่อระลึกถึงความตายของชนที่ตนไม่รักใคร่เกลียดชัง ก็จะเกิดความปราโมทย์เช่นชนที่มีเวรต่อกัน ระลึกถึงความตายแห่งกันและกัน เมื่อระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอันตนไม่ได้รักไม่ได้ชังนั้น ก็จักเพิกเฉยไม่ได้มีความสังเวช ดุจสัปเหร่อเห็นซากศพก็ไม่เกิดความสังเวช ถ้าระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน ก็มักเกิดความสะดุ้งตกใจดุจ ดังบุคคลขลาดเห็นนายเพชฌฆาตถือดาบเงื้ออยู่ก็เกิดความสะดุ้งตกใจ

นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ความโศกเศร้าบังเกิดธรรมสังเวชไม่ได้ จะเกิดความสะดุ้งตกใจ ทั้งนี้อาศัยแก่ปราศจากสติและปัญญา ปราศจากสังเวช กระทำมนสิการด้วยหาอุบายมิได้ บริกรรมว่า “มรณํ ” นั้น บ่นเพ้อไปแต่ปาก โดยไม่ได้เอาสติและปัญญาประกอบเข้าให้เห็นธรรมสังเวชจริง ๆ จึงเป็นดังนั้น

ถ้ากระทำมนสิการด้วยอุบายปลงสติปัญญาลงได้ มีธรรมสังเวชอยู่ในจิตแล้ว ก็จะไม่เป็นดังนั้น จะเป็นคุณอันประเสริฐ คือ ระลึกถึงความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก จะไม่เศร้าโศก ระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอันเป็นเวรจะไม่เกิดการชื่นชมโสมนัส ระลึกถึงความตายแห่งบุคคลที่ตนไม่รักไม่ชังก็จะไม่เกิดความเพิกเฉย จะบังเกิดความสังเวชบริบูรณ์ในสันดาน ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตน ก็จะปราศจากความสะดุ้งตกใจกระทำมนสิการด้วยอุบายนี้มีคุณ

เหตุนั้น ผู้เจริญมรณานุสสติกัมมัฏฐานพึงพิจารณาถึงความตายแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันโจรฆ่าให้ตายก็ดี ตายเองก็ดี แต่บรรดาที่ทอดทิ้งกลิ้งอยู่ในที่ทั้งปวง เป็นต้นว่า ป่าชัฏและป่าช้ำ ที่ตนได้เห็นแต่ก่อนนั้น พึงพิจารณาเป็นอารมณ์ในที่เจริญมรณานุสสติว่า ด้วยอุบายยังสติปัญญาและธรรมสังเวชให้บังเกิดแล้ว พึงกระทำซึ่งบริกรรมด้วยนัยว่า “มรณํ ภวิสฺสติ” ปรารถนาจะกระทำเพียงในมรณานุสสติกัมมัฏฐานต่อไป





ระลึกถึงความตายโดยอาการ ๘ คือ

อาการที่ ๑. ให้ระลึกถึงความตายดุจนายเพชฌฆาต

อาการความตายปรากฏดุจนายเพชฌฆาตมีมือถือดาบอันคมกล้า ที่ให้ระลึกเพราะต้องการให้เห็นว่าเกิดกับตายนั้นมาพร้อมกัน สัตว์ทั้งหลายอันเกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีชรา และขณิกมรณะนั้น ติดตัวมาทุกรูปทุกนาม

อาการที่ ๒. ระลึกถึงความตายโดยสมบัติวิบัติ

อาการระลึกถึงความตายโดยสมบัติวิบัตินั้น คือ ให้ระลึกเห็นว่า สัตว์ทั้งปวงเกิดมานี้ บริบูรณ์แล้วก็มีความแตกสลายเป็นที่สุด ซึ่งจะงามจะดีอยู่นั้นแต่เมื่อวิบัติยังมิได้ครอบงำ ถ้ำความวิบัติมำครอบงำแล้ว ก็สารพัดที่จะเสียสิ้นทุกสิ่งทุกประการ ที่งามนั้นก็ปราศจากงามที่ดีนั้นก็กลับเป็นชั่ว มีความสุขแล้วก็จะมีความทุกข์มาถึง ความโศกเศร้าไม่มีก็จะถึงซึ่งเศร้าโศก

สัตว์ทั้งปวงนี้ชาติทุกข์ย่อมติดตามล่อลวงให้ลุ่มหลง มรณะทุกข์ครอบงำทำลายล้างชีวิตินทรีย์ให้เสื่อมสูญ พระยามัจจุราชนี้จะได้ละเว้นบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งนั้น หามิได้ ย่อมครอบงำย่ำยีสรรพสัตว์ทั้งปวงไปทุกรูปทุกนาม ผู้เจริญมรณานุสสติภาวนา พึงระลึกถึงความตายโดยสมบัติวิบัติ

อาการที่ ๓. ให้ระลึกถึงความตายโดยอุปสังหรณะ

คือ ให้ระลึกถึงความตายแห่งผู้อื่น แล้วนำเอามาใส่ตน เมื่อระลึกถึงความตายแห่งบุคคลอื่นนั้น พึงระลึกโดยอาการ ๗ คือ ให้ระลึกโดยภาวะมากไปด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยกำลัง ด้วยฤทธิ์ ด้วยปัญญา โดยพระปัจเจกโพธิ์ และโดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ธรรม ๗ ประการนี้ให้ระลึกโดยภาวะมากไปด้วยยศนั้น คือ ให้ระลึกว่า พระยามัจจุราชนี้จะได้รังเกียจเกรงใจว่า ท่านเป็นผู้ดีมีบริวารยศมาก อย่าเบียดเบียนท่านเลย จะไม่มีการเกรงใจผู้ใดทั้งสิ้น ไม่มีใครพ้นจากอำนาจพระยามัจจุราชนั้นหามิได้ พึงระลึกความตายโดยภาวะมากไปด้วยยศ เป็นต้น อย่างนี้

อาการที่ ๔. คือ กายพหุสาธารณ์

ระลึกว่า รูปกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวงนี้เป็นสาธารณ์ทั่วไป แก่หมู่หนอน ๘๐ ตระกูล ฉวินิสสิตา ปาณา หนอนที่อาศัยอยู่ในผิวเนื้อก็ฟอนกัดผิวเนื้อ ที่อาศัยอยู่ในหนังก็ฟอนกัดหนัง ที่อาศัยอยู่ในล่ำเนื้อก็ฟอนกัดล่ำเนื้อ ที่อยู่ในเอ็นก็กัดเอ็น ที่อยู่ในอัฏฐิก็กัดอัฏฐิ ที่อยู่ในสมองก็กัดสมอง หนอนทั้งหลายนั้น เกิดในกาย แก่ในกาย ตายในกาย อุจจาระปัสสาวะในกาย

กายเราท่านทั้งปวงนี้ เป็นเรือนประสูติแห่งหมู่หนอน เป็นศาลาไข้เจ็บ เป็นป่าช้า เป็นเว็จจกุฏิเป็นรางถ่ายอุจจาระปัสสาวะแห่งหมู่หนอนควรจะสังเวชเวทนำให้ระลึกถึงความตายโดยกายพหุสาธารณ์

@@@@@@@

อาการที่ ๕. ให้พิจารณาซึ่งความตายโดยอายุทุพล

อาการพิจารณาความตายโดยอายุทุพล คือ ให้ระลึกให้เห็นว่า อายุแห่งสรรพสัตว์เนื่องด้วยลมอัสสาสะ/ปัสสาสะ ถ้าหายใจออกไปแล้วลมนั้น ขาดไปไม่ได้กลับเข้าไปในกายก็ดี หายใจเข้าไปแล้วลมนั้น อัดอั้นอยู่มิได้กลับออกมาภายนอกก็ดี เท่านี้ก็จะถึงซึ่งความตาย อิริยาบถ ๔ ถ้าประพฤติไม่เสมอ นั่งนัก นอนนัก ยืนนัก เที่ยวนัก ประพฤติอิริยาบถอันใดอันหนึ่ง ให้หนักนักแล้ว เป็นเหตุที่จะให้อายุสั้นพลันตาย พึงระลึกถึงความตายโดยอายุทุพล

อาการที่ ๖. ให้ระลึกถึงความตายโดยอนิมิต

อาการระลึกถึงความตายโดยอนิมิตนั้น คือให้ระลึกว่า สัตว์ทั้งหลายอันเกิดมาในโลกนี้ ย่อมมีสภาวะหากำหนดมิได้นั้น ๕ ประการ คือ
     ๑) ชีวิตนั้นหากำหนดไม่ได้
     ๒) พยาธิ คือ การที่ป่วยไข้นั้น ก็หากำหนดไม่ได้
     ๓) กาลเวลาอันจะมรณะนั้น ก็กำหนดไม่ได้
     ๔) สถานที่อันจะทิ้งไว้ซึ่งร่างที่ตายนั้น ก็กำหนดไม่ได้
     ๕) คติซึ่งจะไปในภพเบื้องหน้านั้น ก็หากำหนดมิได้

ธรรม ๕ ประการนี้จะกำหนดหมายว่า ข้าจะมีชีวิตอยู่เพียงนั้น ๆ ถ้ายังไม่ถึงเพียงนั้นข้ายังไม่ตายก่อน ต่อถึงเพียงนั้น ๆ ข้าถึงจะตายจะกำหนดไม่ได้ พระโยคาวจรพึงพิจารณาถึงความตายโดยอนิมิต

อาการที่ ๗. ให้ระลึกถึงความตายโดยอัทธานปริเฉท

อาการระลึกถึงความตายโดยอัทธานปริเฉทนั้น คือ ให้ระลึกว่า ชีวิตมนุษย์ในกาลบัดนี้น้อยนัก ที่มีอายุยืนทีเดียวนั้น อยู่ได้มากกว่าร้อยปีบ้าง แต่เพียงร้อยปีบ้างน้อยกว่าร้อยปีบ้าง ถึงร้อยปีนั้นมีน้อย มีก็แต่จะถอยลงมา เหตุนั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษนี้ เมื่อรู้แจ้งว่า อายุมนุษย์นี้น้อย ก็พึงประพฤติดูหมิ่นซึ่งอายุของตน อย่ามัวเมาด้วยอายุ อย่าถือว่าอายุนั้นยืน พึงอุตสาหะในสุจริตธรรม ขวนขวายที่จะให้ได้สำเร็จพระนิพพานอันเป็นที่ระงับทุกข์

อาการที่ ๘. ให้พระโยคาวจรระลึกถึงความตายโดยขณะปริตตะ

อาการระลึกถึงความตายโดยขณะปริตตะนั้น คือให้ระลึกให้เห็นว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งปวงน้อยนัก ขณะจิตอันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า ชีวิตสัตว์ที่อำยุยืนนานประมาณได้ร้อยปีนั้นว่า โดยสมมุติโวหาร ถ้าจะว่าโดยปรมัตถ์นั้น ถ้าว่าถึงภังคขณะแห่งจิตที่ใด ก็ได้ชื่อว่า มรณะที่นั้นได้ อุปบาทขณะและฐิติขณะแห่งจิตนั้นได้ชื่อว่า มีชีวิตอยู่ ครั้นย่างเข้าภังคขณะแล้ว ก็ได้ชื่อว่า ดับสูญ ไม่มีชีวิต

แต่ทว่า มรณะในภังคขณะนั้น พ้นวิสัยที่สัตว์ทั้งปวงจะหยั่งรู้หยั่งเห็น เหตุว่า ขณะแห่งจิต อันเป็นไปในสันดานแห่งเราท่านทั้งปวงนี้ เร็วมาก ที่จะเอาสิ่งใดมาอุปมาเปรียบเทียบนั้น อุปมาได้ยาก ดังพระพุทธดำรัสว่า จิตนี้เกิดดับเร็วยิ่งนัก ธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งจะรวดเร็วเหมือนจิตนี้ไม่มีสักอย่างหนึ่งเลย




อานิสงส์ของการเจริญมรณานุสสติ

    • ผู้ปฏิบัติเมื่อระลึกถึงมรณานุสสติแล้ว จิตย่อมสงบด้วยอำนาจทำในใจบ่อย ๆ สติมีมรณะเป็นอารมณ์ ย่อมตั้งมั่น นิวรณ์ทั้งหลายย่อมสงบ องค์ฌานย่อมปรากฏ แต่เพราะฌานมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์ และเพราะอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความสลด ฌานจึงไม่ถึงขั้นอัปปนา ถึงเพียงขั้นอุปจาระเท่านั้น

    • ผู้ปฏิบัติมรณานุสสติเป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในกุศลธรรมขั้นสูง และไม่ชอบใจอกุศลธรรม
ย่อมไม่สั่งสมผ้าและเครื่องประดับ ไม่ตระหนี่ มีอายุยืน

    • ไม่ยึดมั่นสิ่งทั้งหลาย ประกอบด้วยอนิจจสัญญา (รับรู้ความไม่เที่ยง) ทุกขสัญญาและอนัตตสัญญา

    • อยู่เป็นสุขและเข้าถึงอมตธรรม เมื่อตายย่อมไม่หลงลืมสติ





ที่มา : หนังสือ “จตุรารักขา”  ปริวรรตและเรียบเรียง นายวัฒนา พึ่งชื่น จัดพิมพ์โดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 07, 2025, 11:16:16 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ