ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิเคราะห์อัตรากำลังคนในราชการไทย ควรลดขนาดหรือกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ?  (อ่าน 809 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29297
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



วิเคราะห์อัตรากำลังคนในราชการไทย ควรลดขนาดหรือกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ?

การก่อตั้งกระทรวงประสิทธิภาพ (DOGE) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่มีอีลอน มัสก์ เข้ามาเป็นผู้ดูแล จนนำไปสู่คำสั่งปลดเจ้าพนักงานจำนวนมาก หรือแม้แต่การบังคับให้บุคลากรต้องเขียนอีเมลอธิบายว่าตนเองทำงานอะไรบ้าง

เรื่อยมาจนถึงการปฏิรูปโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ของเวียดนาม ที่โปลิตบูโร หรือคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งแถลงเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยให้เน้นไปที่ข้อเสนอควบรวมหน่วยปกครองระดับจังหวัด ยกเลิกระดับอำเภอ และดำเนินการควบรวมระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง

เหตุการณ์ในต่างประเทศทั้งหมดนี้ ทำให้สังคมไทยหันกลับมาตั้งคำถามอีกครั้งว่า รัฐราชการไทย ขนาดของหน่วยงาน อัตรากำลังพล บทบาทหน้าที่ทับซ้อนกันหรือไม่ และการจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด จะสามารถหรือควรดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหรือไม่


@@@@@@@

บีบีซีไทยได้สนทนากับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อวิเคราะห์และอธิบายถึงสถานการณ์ในปัจจุบันว่า แนวทางที่รัฐไทยควรดำเนินการเพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ การเพิ่มประสิทธิภาพมากที่สุดในการบริหารราชการแผ่นดิน

"ไปเปิดดูแถลงนโยบายของ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ข้อที่ 8 เขาพูดแบบโคตรรู้ ผมกล้าบอกเลยว่าเขาเข้าใจปัญหาของประเทศนี้อย่างถ่องแท้…"

ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มเกริ่นกับบีบีซีไทย ตอนที่เราเปิดฉากถามว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจไทยเป็นเพราะขนาดของข้าราชการที่ใหญ่มากเกินไปจนทำให้ไม่คล่องตัวหรือไม่

    "ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน โครงสร้างของหน่วยราชการที่แตกกระจายและไม่ประสานร่วมมือกัน มีการขยายตัวไปสู่สำนักงานส่วนภูมิภาคมากเกินความจำเป็น ระบบขนาดใหญ่โต เทอะทะและเชื่องช้า รูปแบบการประเมินและตัวชี้วัดการทำงานไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร ขนาดและศักยภาพไม่ทันกับภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แถมยังเป็นภาระของประชาชนในการใช้บริการอีกด้วย"

นี่คือหนึ่ง คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตรต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567

"...เขาเข้าใจปัญหานี้ แต่ข้อเสนอคือบอกให้มีการกระจายอำนาจแค่นี้ ปัญหา(ที่มี)กับข้อเสนอมันไม่พอกันนะ" ผศ.ดร.ณัฐกร กล่าวต่อจนจบประโยค



ในปี 2566 ประเทศไทยมี กำลังคนภาครัฐรวมทั้งพลเรือนและทหารทั้งสิ้น 3,037,803 คน


จำนวน 'กำลังคนภาครัฐ' ที่แท้จริงเยอะไหม.?

จากข้อมูลภาพรวมกำลังคนภาครัฐ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามปีงบประมาณ 2566 พบว่า ประเทศไทยมี กำลังคนภาครัฐ 3,037,803 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 58% และกำลังคนประเภทอื่นอีก 42% เช่น ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานจ้าง เป็นต้น

"จริง ๆ สัดส่วนกำลังคนภาครัฐต่อกำลังแรงงานทั้งหมด มันน้อยมากถ้าไปเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว แต่รายจ่ายของบุคลากรต่องบประมาณ ส่วนนั้นเยอะ เทียบกับประเทศไหน ๆ ก็เยอะ" ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าว พร้อมย้ำว่าหากเปรียบเทียบกับประเทศที่มีสวัสดิการดี ๆ ก็นับว่าตัวเลขของไทยไม่มากเกินไป

กำลังคนภาครัฐรวมปัจจุบันคิดเป็นเพียง 7.47% ของกำลังแรงงานในประเทศ [หมายถึง ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป] ตัวเลขข้างต้นหมายความว่า ไทยมีเจ้าหน้าที่รัฐ 1 คน ต่อประชากร 22 คน

ขณะที่ข้อมูลซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ World Population Review ระบุว่า ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียร์มีสัดส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ที่ตั้งแต่ 24-32% ของกำลังแรงงานในประเทศ

ข้อมูลจาก ดร.บุญวรา สอดคล้องกับ บทความที่เผยแพร่เว็บไซต์ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง 101 PUB เรื่อง "รัฐราชการขยายใหญ่ เบียดพื้นที่การคลัง ยังด้อยประสิทธิภาพ" ซึ่งวิเคราะห์ไว้ว่า รายจ่ายบุคลากร ซึ่งรวมถึงรายจ่ายแฝงมีสัดส่วนสูงถึง 42% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมดในปี 2565

รายงานจาก 101 PUB ชี้ว่า รายจ่ายด้านบุคลากรของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 19.4%

แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรภาครัฐสูงถึง 42% แต่เมื่อไปดูประสิทธิภาพของรัฐบาล (government effectiveness) ตามคะแนนจากธนาคารโลก ก็พบว่านับตั้งแต่ปี 2539 เรื่อยมาจนถึงปี 2567 คะแนนของไทยแทบไม่ปรับขึ้น และอยู่ในระดับอันดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 60 หรือหมายความว่า ไทยมีประสิทธิภาพของรัฐบาลดีกว่า 60% ของประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในการจัดอันดับ แต่ด้วยกว่า 40 % ของประเทศที่เหลือ



ผศ.ดร.ณัฐกร ชี้ว่า แนวความคิดเรื่องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นเริ่มเข้ามาในสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก


การลดขนาดภาครัฐในไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด

แนวความคิดเกี่ยวกับการลดขนาดของหน่วยงานภาครัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ ผศ.ดร.ณัฐกร เล่าว่า แนวคิดการลดขนาดภาครัฐลงได้รับอิทธิพลมาจากหนังสืออย่าง "Reinventing Government: How The Entrepreneurial Spirit Is Transforming The Public Sector" [ชื่อหนังสือภาษาไทยคือ สวมวิญญาณธุรกิจเนรมิตระบบราชการ ต้นแบบการปฏิรูประบบราชการยุคใหม่] โดยเดวิด ออสบอร์น และเท็ด เกเบลอร์ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ 33 ปีก่อน

เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้มีอยู่ 2 ข้อคือ 1. การปรับโอนอำนาจจากรัฐศูนย์กลางไปยังท้องถิ่น และ 2. คือการโอนกิจการบางส่วนของรัฐในเป็นของเอกชน (privatisation)

เขาเล่าต่อว่า อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เกิดการปฏิรูประบบราชการของสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

"พอมาปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในไทย ประกอบกับเกิดเรื่องรัฐธรรมนูญ 2540 แล้วก็ได้รัฐบาลทักษิณ (เลือกตั้งสมัยแรกเข้ามาในปี 2544) คือทั้งหมดเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน และก็เกิดกระบวนการที่เรียกว่าปฏิรูประบบราชการ ก็ได้หน่วยงานที่ชื่อว่า ก.พ.ร. ขึ้นมา"

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2545 ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฐกร อธิบายต่อว่าในยุคของรัฐบาลทักษิณนั้นก็มีความพยายามปฏิรูปกระทรวงทบวงกรม และมีเรื่องกฎหมายกระจายอำนาจ ทว่าผ่านมาแล้ว 20 ปี "ปลายทางตอนนี้ มันไม่ได้ถึงไหน แต่มันกลับหัวกลับหาง"

จากข้อมูลกำลังคนภาครัฐในปี 2566 เราพบว่า กำลังคนของภาครัฐในกํากับฝ่ายบริหาร (หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การบริหารและควบคุมโดยฝ่ายบริหารของรัฐบาล) ประจำอยู่ในส่วนกลาง/ภูมิภาค ถึง 81% คิดเป็นตัวเลขราว 2.4 ล้านคน และประจำอยู่ในส่วนท้องถิ่นเพียง 17% หรือคิดเป็น 5.2 แสนคน

"คุณต้องเอา งาน-เงิน-คน ที่เคยอยู่ที่รัฐบาลกลาง ลงมาอยู่ท้องถิ่น แต่ปรากฏว่าของไทยมันกลับหัวกลับหาง ท้องถิ่นมันเล็กมาก"



ภาพเรือยอชต์จอดเทียบท่าควบคู่ไปกับอสังหาริมทรัพย์สุดหรูที่ รอยัล ภูเก็ต มารีน่า ในจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย


เหตุใดจึงลดขนาดรัฐราชการไม่ได้

เราตั้งคำถามต่อไปว่า เมื่อ ก.พ.ร. ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ทำไมสถานการณ์ยังกลับหัวกลับหาง ?

ผศ.ดร.ณัฐกร อธิบายตอบเราว่า นอกจากประเด็นสัดส่วนคนที่กลับหัวกลับหางแล้ว ยังมีมิติเรื่องงบประมาณด้วย

จากข้อมูลรายงานวิเคราะห์รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประจำปี 2564 พบว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 เคยมีการกำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจและส่งเสริมการพึ่งตนเองของท้องถิ่น แต่ไม่ได้ระบุสัดส่วนงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง

อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี พ.ศ. 2549 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีรายได้เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ของรัฐบาลไม่น้อยกว่า 35%

ถ้าย้อนกลับไปดูข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 - 2564 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ ก็จะพบว่าไม่มีปีไหนเลยที่สัดส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปท. เกิน 30% [อยู่ในระดับ 27.8%-29.72% เท่านั้น] ตามข้อมูลรายงานวิเคราะห์ฉบับดังกล่าว

"ส่วนกลางหวงอำนาจ เพราะถ้ากระจายอำนาจ งบประมาณที่รัฐบาลกลางใช้จะถูกแบ่งให้ท้องถิ่น และคนตัดสินใจเองก็มีอคติ ไม่ไว้ใจว่าท้องถิ่นจะบริหารได้" ผศ.ดร.ณัฐกร อธิบาย

เขายกตัวอย่าง กรณีของจังหวัดภูเก็ต ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่สองของไทย รองจากกรุงเทพฯ แต่กลับไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเองได้ เพราะต้องส่งรายได้เข้าส่วนกลางก่อนแล้วรอการจัดสรรคืน ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภค ไม่สามารถพัฒนาได้อย่างที่ควรจะเป็น จึงเกิดการเรียกร้องให้ภูเก็ตเป็น 'เขตปกครองพิเศษ' เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และพัทยา แต่ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติ

@@@@@@@

ผศ.ดร.ณัฐกร ให้ความเห็นว่า "ตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังได้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองแบบนี้ พวกเขาก็ไม่มีแรงจูงใจให้กระจายอำนาจ" เนื่องจากเม็ดเงินกองอยู่ที่ส่วนกลาง และพวกเขาอยู่ในศูนย์กลางอำนาจที่สามารถให้คุณให้โทษได้ แม้ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาลอันดับหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจต่อรองสูง จึงสามารถดึงงบประมาณจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ของตนมากกว่าที่ควรจะเป็น นี่คือเหตุผลว่าทำไม แม้ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นอาจได้ประโยชน์จากการกระจายอำนาจ พวกเขาก็ยังไม่สนับสนุนแนวทางนี้

ด้าน ดร.บุญวรา เสริมว่า ระบบราชการไทยมีโครงสร้างที่ซับซ้อนและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แม้ว่าจะมี อปท. แต่กลับไม่ได้ลดอำนาจของส่วนกลางลงจริง ทำให้เกิดปัญหาความซ้อนทับของอำนาจและการบริหารงบประมาณ

เธอเสริมว่า อปท. มีจำนวนมากถึง 7,850 แห่ง แต่มีขนาดเล็กเกินไปที่จะบริหารงบประมาณและพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น นายก อบจ. ยังมีอำนาจจำกัด เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจและงบประมาณหลักยังคงอยู่ในมือของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ซึ่งปัญหานี้สะท้อนว่า แม้ประเทศไทยจะมีองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่โครงสร้างอำนาจที่แท้จริงยังคงรวมศูนย์อยู่ที่รัฐบาลกลาง

"นี่คือเหตุผลหลักที่ว่าทำไมการกระจายอำนาจไม่เคยประสบผลสำเร็จในประเทศไทย เพราะอำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่ส่วนกลาง และงบประมาณก็ถูกควบคุมไว้ที่นั่น'"

"การลดขนาดรัฐบาลกลางไม่สามารถทำได้เพียงแค่ลดจำนวนข้าราชการ เพราะปัญหาหลักอยู่ที่โครงสร้าง ระบบบริหารงาน และประสิทธิภาพมากกว่าจำนวนคน ปัญหาคลาสสิกของระบบราชการไทยคือเรื่องบูรณาการ หน่วยงานต่างคนต่างทำ ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่และซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ"





ลดกำลังพลกองทัพ เผือกร้อนในสังคมไทย

ที่ผ่านมาสังคมมีข้อถกเถียงกันว่าประเทศไทยมีทหารมากเกินไปเมื่อเทียบกับบทบาทที่มีอยู่ของกองทัพในปัจจุบัน ขณะที่นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนเสนอให้ ปรับลดจำนวนกำลังพล และโอนบางภารกิจของทหารไปให้หน่วยงานพลเรือนรับผิดชอบแทน

ประเด็นนี้ยังได้รับการตอบสนองจากฝ่ายการเมือง โดยมีหลายพรรคการเมืองเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ เช่น พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน แต่หลังจากจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนแปลงท่าทีจาก "การปฏิรูปกองทัพ" มาเป็น "พัฒนาร่วมกองทัพ" ในสมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ข้อมูลจาก Global Firepower 2025 ระบุว่า กองทัพไทยมีทหารประจำการประมาณ 360,850 นาย และหากรวมกำลังสำรองและหน่วยสนับสนุนอื่น ๆ ตัวเลขอาจสูงถึง 585,850 นาย

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทยรายงานไว้ว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมไทยในปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ ราว 1.98 แสนล้านบาท หรือประมาณ 6% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ เพิ่มขึ้นราว 4 พันล้านบาทจากปีงบประมาณก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งของงบประมาณถูกนำใช้ไปกับเงินเดือนและสวัสดิการของกำลังพล ซึ่งเป็นภาระคล้ายกับปัญหาในภาคราชการพลเรือน

ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณดังกล่าวนี้ ก็ถูกพรรคก้าวไกล (ในขณะนั้น) โจมตีอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นของนายเศรษฐา ทวีสิน เคยแถลงไว้ว่าจะปรับลดขนาดกองทัพ





ข้อเสนอะแนะเพิ่มเติม

ดร. บุญวรา เสนอแนะว่า ควรลดความซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างราชการที่กระจัดกระจาย เช่น กระทรวงต่าง ๆ ที่มีฝ่ายกฎหมายของตัวเอง ทั้งที่ควรมีหน่วยงานกลางดูแลเรื่องกฎหมายให้ทั้งระบบ หรือการตั้งองค์กรอิสระใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่หน่วยงานหลักไม่สามารถจัดการได้แทนที่จะปรับปรุงหน่วยงานเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังควรจัดให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองอย่างแท้จริงจะช่วยลดภาระของส่วนกลาง เช่น การยกเลิกโครงสร้าง "ส่วนภูมิภาค" ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง และให้ท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้ดูแลแทน เพื่อลดระดับการบริหารที่ซ้ำซ้อนและเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน

การปรับลดขนาดภาครัฐยังควรมาพร้อมกับการทบทวนโครงสร้างการจ้างงาน เช่น การเปลี่ยนจากระบบข้าราชการประจำไปเป็นพนักงานสัญญาจ้างมากขึ้น โดยเฉพาะในตำแหน่งที่สามารถใช้แรงงานภาคเอกชนหรือเทคโนโลยีทดแทนได้ ขณะที่ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณะโดยตรง เช่น บุคลากรทางการแพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ ควรได้รับการสนับสนุนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ควรมีการปฏิรูประบบราชการให้เน้นผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ ลดกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน รวมถึงเร่งผลักดันรัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นจริง เพื่อลดภาระงานเอกสาร ลดต้นทุน และเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ

@@@@@@@

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐกร เสนอว่า "ถ้าผมคิดใหญ่ ผมคิดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ" เขาเชื่อว่า หากต้องการลดขนาดรัฐบาลกลางลงอย่างแท้จริง การแก้รัฐธรรมนูญให้มีการกระจายอำนาจที่เป็นระบบเป็นสิ่งจำเป็น

"เราเชื่อเพราะว่าเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 40 มันทำสำเร็จ แต่ตอนนั้นฉันทามติในสังคมมันเป็นปึกแผ่น" ทว่าภายหลังในการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 แนวทางนี้ถูกชะลอและลดทอนลง หากไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญให้ท้องถิ่นมีอำนาจตัดสินใจและบริหารงบประมาณเอง โครงสร้างรวมศูนย์ของไทยจะยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาในระยะยาว

รัฐธรรมนูญ 2540 เคยกำหนดให้รัฐต้องกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่น 35% แต่หลังรัฐประหาร 2549 มีการแก้ไขกฎหมาย ทำให้ไม่มีข้อบังคับด้านสัดส่วนงบประมาณอีกต่อไป ส่งผลให้ส่วนกลางยังสามารถควบคุมงบได้เกือบทั้งหมด

กรณีที่เห็นชัดเจนอีกตัวอย่างคือ ปัญหา PM 2.5 ในเชียงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นทุกปี แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่มีอำนาจโดยตรงในการแก้ปัญหา ต้องรอคำสั่งและงบประมาณจากส่วนกลาง ในขณะที่ ท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหา เช่น เทศบาลเชียงใหม่ กลับขาดงบและอำนาจหน้าที่ ทำให้ปัญหายังคงเกิดขึ้นซ้ำซาก

เขายังเสนอเรื่อง แนวคิดการถ่ายโอนภารกิจจากภาครัฐไปยังเอกชน ว่าจะเป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดขนาดรัฐบาลและเพิ่มประสิทธิภาพบริการ เช่น การให้เอกชนบริหารเรือนจำ โดยรัฐทำหน้าที่เพียงควบคุมมาตรฐาน หรือในกรณีของสถานีบริการน้ำมัน ที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง แต่เน้นกำกับดูแลแทน หากนำแนวทางนี้มาใช้มากขึ้น จะช่วยลดภาระของภาครัฐและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนพัฒนาบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น






Thank to : https://www.bbc.com/thai/articles/cy87y5j2jlyo
ที่มาของภาพ : Getty Images
Author : ปณิศา เอมโอชา ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย 
13 มีนาคม 2025
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ