ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คติการสร้างสูงส่ง พิมพ์ทรงเลิศล้ำ ศิลปกรรมพระสมเด็จฯ  (อ่าน 70 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29286
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



คติการสร้างสูงส่ง พิมพ์ทรงเลิศล้ำ ศิลปกรรมพระสมเด็จฯ

ตรียัมปวาย ได้กล่าวไว้ในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 ว่า ในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น ช่างได้สร้างตามรูปแบบที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้กำหนดเอาไว้

คำว่า “รูปแบบที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จโตได้กำหนดเอาไว้” นั้น “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขออนุญาตนำเสนอแนวพิจารณาว่าประกอบไปด้วยสองส่วนหลัก

ส่วนแรกก็คือการที่ท่านเจ้าประคุณฯ ได้มีการกำหนดคติการสร้าง หรือกรอบแนวคิดที่กำหนดรูปลักษณะเบื้องต้นของพระที่จะสร้าง

และส่วนที่สองคือ พุทธศิลป์พิมพ์ทรง โดยช่างศิลป์จะมีการออกแบบพุทธศิลป์พิมพ์ทรงพระให้มีความงดงามและสอดคล้องกับคติการสร้าง จากนั้นจึงทำการแกะแม่พิมพ์ตามแบบที่ได้ออกแบบไว้ เพื่อนำเสนอให้กับท่านเจ้าประคุณฯ พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะใช้แม่พิมพ์นั้นสร้างพระต่อไป

@@@@@@@

คติการสร้าง

ในเรื่องคติการสร้างนั้น จากหลักฐานที่มีปรากฏ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” อนุมานว่า ท่านเจ้าประคุณฯ น่าจะได้มีการกำหนดคติการสร้างพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมไว้เป็นสองรูปแบบ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คติการสร้างรูปแบบแรก คือ “การบำเพ็ญทุกกรกิริยาก่อนที่จะทรงตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” และคติการสร้างรูปแบบที่สอง คือ “การตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

คติการสร้างรูปแบบแรกนั้น สะท้อนให้เห็นในรูปลักษณะของพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมในยุคแรก ที่เป็นแบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น หรือที่เรียกว่าพระสมเด็จเกศไชโย ที่เป็นลักษณะของ “การบำเพ็ญทุกกรกิริยา” (การทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่าง ๆ เพื่อหาหนทางแห่งการดับทุกข์) องค์พระจะเน้นให้เห็นพระวรกายที่ผ่ายผอมจนมองเห็นพระผาสุกะ (ซี่โครง) ตลอดทั้งพระวรกาย (ส่วนฐานที่มีแบบ 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น นั้น เป็นปริศนาธรรมของท่านเจ้าประคุณฯ) โดยเป็นรูปลักษณะที่เป็นไปตามคติการสร้างรูปแบบแรก ที่แสดงให้เห็นถึง “การบำเพ็ญทุกกรกิริยาก่อนที่จะทรงตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ในส่วนของคติการสร้างรูปแบบที่สองของท่านเจ้าประคุณฯ นั้น แสดงให้เห็นถึง “การตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” รูปลักษณะของพระจะแสดงให้เห็นถึงพระวรกายที่สมบูรณ์ ประทับนั่งบนฐาน 3 ชั้น หมายถึงการที่ทรงตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว

โดยฐานทั้ง 3 ชั้นนั้น หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยไตรสิกขา อันมี ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อการพ้นทุกข์ ด้วยอริยสัจสี่ อันมีพระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมาย พระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมในยุคปลาย หรือที่เรียกว่าแบบพิมพ์ทรงมาตรฐาน สร้างโดยช่างทองหลวง จะสร้างตามคติการสร้างรูปแบบนี้

@@@@@@@

พุทธศิลป์พิมพ์ทรง

เมื่อท่านเจ้าประคุณฯ ได้มีการกำหนดคติการสร้างเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการออกแบบพุทธศิลป์พิมพ์ทรง ซึ่งดำเนินการโดยช่างศิลป์ที่เข้ามาช่วยเหลือท่านเจ้าประคุณฯ ในช่วงเวลานั้น

พุทธศิลป์พิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมที่สร้างในช่วงแรก ที่เป็นแบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น จะเป็นแบบลักษณะที่มีพระวรกายผ่ายผอมตามคติการสร้าง ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น มีการออกแบบโดยช่างที่เข้ามาช่วยทำในช่วงแรก ก่อนที่ช่างทองหลวงจะเข้ามาช่วยทำ พุทธศิลป์พิมพ์ทรงจะมีความงดงามทางศิลปะอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ซับซ้อนมีรายละเอียดมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องพิมพ์ทรงของพระสมเด็จเกศไชโยนั้น อาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ ผู้เขียนหนังสือ “สามสมเด็จ” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้กล่าวไว้ว่า “...พระสมเด็จเกศไชโยของวัดไชโยวรวิหารจังหวัดอ่างทอง ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างลงกรุไว้ที่วัดนี้นั้น จะมีด้วยกันทั้งหมดก็เพียง 2 พิมพ์เท่านั้น ก็คือ

1. พระสมเด็จเกศไชโยฐาน 7 ชั้น “พิมพ์ใหญ่” และ
2. พระสมเด็จเกศไชโยฐาน 6 ชั้น “พิมพ์เล็ก”...”

@@@@@@@

ในส่วนของพุทธศิลป์พิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมแบบฐาน 3 ชั้น ที่ทำตามคติการสร้างแบบที่สอง “การตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ที่ทำในยุคปลาย หรือที่เรียกว่ากลุ่มพิมพ์ทรงมาตรฐาน ออกแบบโดยช่างทองหลวงนั้น ตรียัมปวาย ได้สรุปเป็นพุทธศิลป์ลักษณะไว้ 3 กลุ่ม คือ

1. พุทธศิลป์ประณีต ถอดเค้าจากพุทธศิลป์โบราณชั้นคลาสสิก คือพุทธศิลป์สกุลช่างสุโขทัย เชียงแสน และอู่ทอง พิมพ์ทรงที่ได้รับอิทธิพล ได้แก่ พิมพ์ทรงพระประธาน (พิมพ์ใหญ่) พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงเกตุบัวตูม และพิมพ์ทรงปรกโพธิ์

2. พุทธศิลป์พื้นเมือง เป็นแบบโบราณ คร่ำๆ เก่าๆ แบบพื้นบ้าน ไม่ได้พัฒนาถึงขั้นสูงสุด ได้แก่ พิมพ์ทรงเศียรบาตรอกครุฑ (พิมพ์นี้ ตามตำราบอกว่าออกแบบพิมพ์ทรงโดยท่านเจ้าประคุณฯ เอง)

3. พุทธศิลป์สังเขป เป็นแบบโมเดิร์นอาร์ต จับเค้าพุทธลักษณะส่วนใหญ่มาย่นย่อลงเป็นเส้นโดยการสังเขป เช่น พิมพ์ทรงสังฆาติ พิมพ์ทรงเส้นด้าย และพิมพ์ทรงฐานคู่





ผู้เชี่ยวชาญพระสมเด็จฯ อาจารย์วิชัย อุทัยสุทธิวิจิตร (ลิ้ม กรุงไทย) ได้กล่าวถึงลักษณะพิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯ ไว้ในหนังสือ “อนุสรณ์ ครบ 100 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2515 ไว้ดังนี้

“... พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ที่เรียกกันว่า พิมพ์ทรงพระประธานนั้น มีลักษณะรูปทรงคือ พระพักต์กลม พระเกศยาวคล้ายเปลวเพลิง ไหล่ยก อกตั้ง เข่าโค้งน้อยๆ ช่วงแขนและการซ้อนพระกรผึ่งผายยิ่งนัก ประทับนั่งสมาธิในอาการอันสงบ ดูแล้วเหมือนจะได้รับความบันดาลอันเกิดขึ้นจากพระประธานในโบสถ์วัดระฆังมาก

สำหรับพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์นั้น ลักษณะรูปทรงล่ำสันต้อกว่าพิมพ์ใหญ่เล็กน้อย พระพักต์กลม อกผายนูน ชั้นฐานมีความประสานกลมกลืนและลดหลั่นกันอย่างมีจังหวะ นั่งสมาธิในลักษณะคล้ายพระพุทธรูปเชียงแสน เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านคงจะได้สร้างสมเด็จพิมพ์ทรงเจดีย์ ให้มีสาทิศลักษณะของพระแก้วมรกตในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)





ส่วนพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซม รูปทรงเรียวชลูดเล็กน้อย พระพักตร์ตั๊กแตน ประทับนั่งสมาธิในอาการสงบนิ่ง แต่ก็แสดงถึงความงดงามและอ่อนไหวทางพุทธศิลป์ เห็นแล้วเหมือนกับเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้แบบพระสมเด็จพิมพ์ฐานแซมนี้ไปจากพระพุทธสิหิงส์ที่ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ...”




พระสมเด็จฯ ในกลุ่มพิมพ์ทรงมาตรฐานนี้ ถือว่าเป็นพระสมเด็จฯ ที่มีพุทธศิลป์พิมพ์ทรงที่งดงามที่สุดแบบหนึ่ง เมื่อเทียบกับพระเครื่องที่เคยมีการสร้างมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สมกับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นจักรพรรดิแห่งพระเครื่อง

เมื่อช่างศิลป์ได้ออกแบบพุทธศิลป์พิมพ์ทรงเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญต่อจากการออกแบบพุทธศิลป์พิมพ์ทรง ก็คือการถ่ายทอดแบบร่างพุทธศิลป์พิมพ์ทรงไปสู่การแกะแม่พิมพ์ โดยที่มีการประยุกต์ใช้หลักการของประติมากรรมแบบนูนต่ำ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” จะขออธิบายถึงเรื่องนี้โดยละเอียดอีกครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องการสร้างแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ

@@@@@@@

น่าสนใจว่า เมื่อท่านเจ้าประคุณฯ ได้สร้างพระสมเด็จฯ แบบสี่เหลี่ยมในยุคแรก ในแบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น หรือพระสมเด็จเกศไชโย ตามคติการสร้างแบบ “การบำเพ็ญทุกกรกิริยาฯ” ที่มีพระวรกายผ่ายผอมแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่า ท่านเจ้าประคุณฯ น่าจะให้ช่างชุดเดียวกันนั้น ทำการสร้างพระสมเด็จฯ ตามคติการสร้างแบบ “ตรัสรู้เป็นองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า” หรือแบบฐาน 3 ชั้น ที่มีพระวรกายสมบูรณ์ ในคราวเดียวกันด้วย

โดยอาจใช้กรรมวิธีการสร้างรวมถึงเนื้อหามวลสารแบบเดียวกัน ... ถ้ามีการสร้างจริง พุทธศิลป์พิมพ์ทรงของพระสมเด็จฯ แบบฐาน 3 ชั้นในกลุ่มนี้จะมีรูปลักษณะเป็นอย่างไร ... ก่อนที่ต่อมาจะมีช่างทองหลวงเข้ามาช่วยทำพระสมเด็จแบบพิมพ์ทรงมาตรฐาน แบบฐาน 3 ชั้น ที่เป็นพิมพ์ทรงมาตรฐาน ในช่วงยุคปลาย อย่างที่เห็นกัน

อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคยกล่าวไว้ว่า พระแท้ของสมเด็จโตนั้นยังมีอีกมากมายหลายพิมพ์ทรงที่ยังไม่เป็นที่นิยมเล่นหา มูลค่าราคายังไม่สูงนัก นักสะสมที่สนใจศึกษาอย่างจริงจัง ย่อมมีโอกาสที่จะได้พระสมเด็จฯ ของท่านเจ้าประคุณฯ มาครอบครองบูชาโดยไม่ยากเย็นเกินไปนัก

@@@@@@@

ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ฐานแซม เป็นองค์ตำนานที่มีความงดงามที่สุดอีกองค์หนึ่ง

เนื้อหนึกนุ่มผสมหนึกแกร่ง ละเอียดปานกลาง วรรณะขาวงาช้างฉ่ำซึ้ง ไม่ปรากฏการแตกลายงาให้เห็น เป็นพระที่กดพิมพ์ได้ลึกเต็มพิมพ์ ตัดขอบเลยกรอบแม่พิมพ์เล็กน้อย จุ่มรักค่อนข้างหนา รักมีสีแดงปนดำ พิมพ์ทรงถูกต้องตามตำรา ด้านหลังเป็นแบบหลังสังขยา มีขอบกระเทาะที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่าทั้งสี่ด้าน เป็นเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ







Thank to : https://www.thairath.co.th/lifestyle/amulet/2854300
22 เม.ย. 2568 , 16:20 น. |  ไลฟ์สไตล์ > พระเครื่อง > ไทยรัฐออนไลน์
ผู้เขียน : พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟสบุ๊ค – พระสมเด็จศาสตร์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 24, 2025, 10:30:29 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ