ในทางพระวินัย ภิกษุ ๔ รูปขึ้นไป จึงเรียกว่า สงฆ์แต่การถวายไทยธรรมแก่ภิกษุแม้รูปเดียวที่สงฆ์จัดให้เป็นองค์แทนของสงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานเหมือนกัน
ดังมีเรื่องเล่าไว้ใน อรรถกถาปปัญจสูทนี ภาค ๓ (หน้า ๗๑๗) อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร ว่า
กุฎุมพี คือ เศรษฐีคนหนึ่งเป็นเจ้าของวัดวัดหนึ่ง ได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งมาจากสงฆ์ ด้วยคำว่า
ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แม้เขาจะได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่งเขาก็ปฏิบัติต่อ
ภิกษุรูปนั้นด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะและเครื่องบูชาสักการะพร้อม ล้างเท้าให้ภิกษุนั้น
เอาน้ำมันทาเท้าให้ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์เหมือนกับบุคคลเคารพยำเกรงต่อ
พระพุทธเจ้า ภิกษุรูปนั้นฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาขอยืมจอบที่บ้านของกุฎุมพีนั้น
อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กุฎุมพีเอาเท้าเขี่ยจอบให้ คนที่เห็นกิริยาของกุฎุมพีนั้นก็ถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทาน
แก่ภิกษุรูปนี้ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้แม้สักว่ากิริยาที่เคารพก็ไม่มี กุฎุมพีตอบว่า
เมื่อเช้านี้เราเคารพยำเกรงต่อสงฆ์ เราหาได้เคารพยำเกรงต่อภิกษุรูปนี้เป็นส่วนตัวไม่
การถวายทานในสงฆ์ที่เรียกว่าสังฆทานนั้น คำว่า สงฆ์ ท่านมุ่งเอา พระอริยสงฆ์ คือ
พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล พระอนาคามิมรรค พระ
อนาคามิผล พระอรหัตตมรรค และพระอรหัตตผล รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล หาได้หมายเอาสมมุติสงฆ์ไม่
ทั้งนี้เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุปฏิปันโน คือ ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติ
ตรง ญายปฏิปันโน ปฏิบัติแล้วเพื่อญายธรรม สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติชอบ ทั้งพระอริยสงฆ์เหล่านั้นยังเป็น
อาหุเนยโย คือ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาบูชา ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาต้อนรับ
ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ไทยธรรมที่เขานำมาถวายด้วยศรัทธา อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกระทำ
อัญชลี อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นที่ยิ่งกว่า