ราชตระกูล เจ้าชายสุทโธทนะ และ เจ้าหญิงสิริมหามายา
จนถึงสมัยเจ้าชายสุทโธทนะ หรือพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งนครกบิลพัสดุ์ กับ เจ้าหญิงสิริมหามายา หรือ พระนางสิริมหามายาแห่งกรุงเทวทหะได้อภิเษกสมรสแล้วทรงปกครองกรุงกบิลพัสดุ์แห่งแคว้นสักกะ และทรงให้กำเนิดพระราชโอรสคือ เจ้าชายสิทธัตถะ ทั้งสองพระองค์จึงทรงเป็นพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา พระนางสิริมหามายานั้น ทรงอธิษฐานตั้งปณิธานเพื่อเป็นพระพุทธมารดาครั้งสมัยอดีตกาลในยุคของพระวิปัสสีพุทธเจ้ามาตรัสรู้ นับแต่นั้นจึงทำให้พระนางมีมโนมั่นในการบำเพ็ญบารมีเพื่อการที่จะได้เป็นพระพุทธมารดาของพระโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
พระนางทรงเป็นสตรีที่ทรงมีบุญญาธิการ ทรงบริบูรณ์พร้อมด้วยอิตถีลักษณะ งดงามด้วยสิริสมบัติแห่งเบญจกัลยาณีเป็นรัตนกัลยา ทรงมีความเป็นเยี่ยมในธรรมที่มนุษย์ปกติธรรมดามิได้มี ทรงงดงามด้วยจริยวัตรอันบริบูรณ์ ทรงสมบูรณ์ด้วย การบริจาคทาน ทรงถืออุโบสถศีลจนเมื่อเจ้าชายสุทโธทนะเจริญวัยได้ ๑๖ พระชันษา พระเจ้าสีหหนุราชบิดาแห่งศากยวงศ์จึงมีพระประสงค์จะให้ครองราชย์ต่อจากพระองค์ จึงได้ให้พราหมณ์ได้ออกค้นหาอิสตรีที่มีลักษณะพร้อมบริบูรณ์เพื่ออภิเษกแก่ราชโอรสเจ้าชายสุทโธทนะ
จนพราหมณ์ได้พบกับเจ้าหญิงสิริมหามายาผู้เป็นธิดาพระราชาชนาธิปแห่งกรุงเทวทหะ พราหมณ์จึงได้ถวายสร้อยพระศอเพื่อเป็นของหมั้น พระนางจึงขอให้พราหมณ์ได้เจรจากับพระราชบิดาของพระนางซึ่งพระราชบิดาทรงมีพระบรมราชานุญาตทั้ง ๒ ราชวงศ์จึงได้ตกลงจัดพิธิอภิเษกสมรสแก่เจ้าชายสุทโธทนะและเจ้าหญิงสิริมหามายาท่ามกลางหมู่ญาติทั้งสองฝ่ายเป็นที่ยิ่งใหญ่ โดยมีหมู่ทวยเทพเป็นสักขีพยานเข้าร่วมพิธีเมื่ออภิเษกสมรถแล้วพระเจ้าสุทโธทนะได้เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นสักกะ
ในสมัยนั้นสักกะเป็นแคว้นเล็ก ๆ ไม่มีกำลังทหารกล้าแข็ง อยู่ภายใต้การปกครองของแคว้นโกศล คือ ตกเป็นประเทศราชซึ่งพระเจ้ามหาโกศลกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้ให้อำนาจการปกครองแก่พระเจ้าสุทโธทนะตามสมควร ดังนั้นจึงมีการปกครองแบบประชาธิไตยแบบสืบสันตติวงศ์ ต่อมาภายหลังเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายนันทะและเจ้าชายราหุล ทรงออกผนวชหมดแล้ว ระบอบการปกครองจึงเปลี่ยนเป็นแบบสามัคคีธรรม คือ เจ้าศากยะผลัดเปลี่ยนกันปกครองแคว้น วาระละ ๑ ปีที่มา http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/ปฐมบทเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า