๘. เรื่องนางวิสาขา [๔๐]
นางวิสาขาซื้อที่สร้างวิหารถวายสงฆ์
ฝ่ายพระเถระพอเห็นนางคนใช้นั้น ก็ถามว่า "เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร?" เมื่อหญิงคนใช้นั่นตอบว่า "ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉัน จึงได้มา", จึงกล่าวว่า "ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น, เจ้าจงเอาไป."
หญิงคนใช้นั้นตอบว่า "พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉัน สั่งมิให้นำเอาไป" ดังนี้แล้ว ก็มีมือเปล่ากลับไป ถูกนางวิสาขาถามว่า "อะไร แม่?" จึงบอกเนื้อความนั้น. นางวิสาขากล่าวว่า "แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว, ฉันบริจาคแล้ว, แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ เป็นการลำบาก. ฉันจำหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้วจักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไป, เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา." หญิงคนใช้นั้นไปนำเอามาแล้ว.
นางวิสาขาไม่แต่งเครื่องประดับนั้น สั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา, เมื่อพวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า "มีราคาถึง ๖ โกฏิ, แต่สำหรับค่าบำเหน็จต้องถึงแสน", จึงวางเครื่องประดับไว้บนยานแล้วกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น พวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น." ไม่มีใครจักอาจให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นรับไว้ได้, เพราะหญิงผู้สมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก. 
แท้จริง หญิง ๓ คนเท่านั้น ในปฐพีมณฑล ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ
นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑,
นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี ๑,
ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑,
เพราะฉะนั้น นางวิสาขา จึงให้ค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว, จำเดิมแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้, แต่หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า ‘จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา’ ไม่เห็นผู้อื่นจะสามารถรับไว้ได้ จึงให้รับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองมาแล้ว, หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า?"
พระศาสดา ตรัสว่า "เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา." นางวิสาขาทูลรับว่า "สมควร พระเจ้าข้า" มีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ ซื้อเฉพาะที่ดิน. นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๙ โกฏินอกนี้. .jpg)
การสร้างวิหารของนางวิสาขา ๙ เดือนแล้วเสร็จ
ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่าภัททิยะ ผู้จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังประตูด้านทิศอุดร.
แม้ตามปกติ พระศาสดาทรงรับภิกษาในเรือนของนางวิสาขาแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านทักษิณ ประทับอยู่ในพระเชตวัน, ทรงรับภิกษาในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านปราจีน ประทับอยู่ในบุพพาราม. ชนทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดำเนินมุ่งตรงประตูด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า "จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก."
ในวันนั้น แม้นางวิสาขาพอทราบว่า "พระศาสดาเสด็จดำเนินบ่ายพระพักตร์ไปทางประตูด้านทิศอุดร" จึงรีบไป ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า "ทรงประสงค์จะเสด็จดำเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระเจ้าข้า?"
พระศาสดา. อย่างนั้น วิสาขา.
วิสาขา. พระเจ้าข้า หม่อมฉันบริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระองค์, โปรดเสด็จกลับเถิด พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. นี้ เป็นการไปยังไม่กลับ วิสาขา.
นางวิสาขานั้นคิดว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเห็นใครๆ ผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ เป็นแน่." จึงกราบทูลว่า "ถ้ากระนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เข้าใจการงานที่หม่อมฉันทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ กลับ แล้วเสด็จเถิด พระเจ้าข้า."
พระศาสดา. เธอพอใจภิกษุรูปใด, จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา.
แม้นางจะพึงใจพระอานนทเถระก็จริง, แต่คิดว่า "พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์, การงานของเราจักพลันสำเร็จ ก็เพราะอาศัยพระเถระนั่น" ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระเถระไว้. พระเถระแลดูพระศาสดา.
พระศาสดาตรัสว่า "โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับเถิด."
ท่านได้ทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว. ด้วยอานุภาพของท่าน พวกมนุษย์ผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหิน ระยะทางแม้ตั้ง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาทันในวันนั้นนั่นเอง, แม้ยกไม้และหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบากเลย, เพลาเกวียนก็ไม่หัก, ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ. ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง, ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง.
พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือนแล้ว ได้เสด็จ (กลับ) ไปสู่กรุงสาวัตถีอีก. แม้การงานในปราสาทของนางุวิสาขา ก็สำเร็จโดย ๙ เดือนเหมือนกัน. นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล.
นางได้ยินว่า "พระศาสดาเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร" จึงทำการต้อนรับนำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว รับปฏิญญาว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้, หม่อมฉันจักทำการฉลองปราสาท."
พระศาสดาทรงรับแล้ว. 
นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร
จำเดิมแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้น ย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล. ครั้งนั้น หญิงสหายคนหนึ่งของนาง ถือผ้าผืนหนึ่งราคา ๑,๐๐๐ มาแล้ว กล่าวว่า "สหาย ฉันอยากจะลาดผ้าผืนนี้ โดยสังเขปว่าเครื่องลาดพื้นในปราสาทของท่าน, ขอท่านช่วยบอกที่ลาดแก่ฉัน." นางวิสาขากล่าวว่า "สหาย ถ้าฉันจะบอกแก่ท่านว่า ‘โอกาสไม่มี’, ท่านก็จักสำคัญว่า ‘ไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่เรา’, ท่านจงตรวจดูพื้นแห่งปราสาท ๒ ชั้น และห้องพันห้องแล้ว รู้ที่ลาดเอาเองเถิด"
หญิงสหายนั้นถือผ้าราคา ๑,๐๐๐ เที่ยว (เดินตรวจ) ในที่นั้นๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาน้อยกว่าผ้าของตนนั้นแล้ว ก็ถึงความเสียใจว่า "เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้" ได้ยืนร้องไห้อยู่แล้ว ในที่แห่งหนึ่ง.
ครั้งนั้น พระอานนทเถระเห็นหญิงนั้น จึงถามว่า "ร้องไห้เพราะเหตุไร?"
นางบอกเนื้อความนั้นแล้ว.
พระเถระกล่าวว่า "อย่าคิดเลย, เราจักบอกที่ลาดให้แก่ท่าน", กล่าวแล้วว่า "ท่านจงลาดไว้ที่บันได ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า, ภิกษุทั้งหลายล้างเท้าแล้ว เช็ดเท้าที่ผ้านั้นก่อน จึงจักเข้าไปภายใน, เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลเป็นอันมากก็จักมีแก่ท่าน."
ได้ยินว่า ที่นั่นเป็นสถานอันนางวิสาขามิได้กำหนดไว้.
นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในภายในวิหาร ตลอด ๔ เดือน. ในวันสุดท้าย ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์. ผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว ได้มีราคาพันหนึ่ง. นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป. ในเพราะการบริจาคทาน ทรัพย์ได้ (หมดไป) ถึง ๙ โกฏิ.
นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา ทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือ ในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ, ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ, ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้.
ชื่อว่าการบริจาคเห็นปานนี้ ย่อมไม่มีแก่หญิงอื่น ผู้ดำรงอยู่ในภาวะแห่งสตรีอยู่ในเรือนของคนผู้มิจฉาทิฏฐิ.

อ้างอิง
อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔
อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=395&Z=433ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=14&p=8ขอบคุณภาพจาก
www.rmutphysics.com,www.alittlebuddha.com,www.chiangmaithailand.tht.in
,http://i208.photobucket.com,www.motherandcare.in.th,www.dmc.tv