« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2010, 11:38:23 am »
0
โลกสลาย สวรรค์ล่ม พรหมพินาศ
กาลพินาศต้องเกิดกับทุกภพภูมิสัตว์ที่อยู่ในสังสารวัฏ อันประกอบด้วย ๓๑ ภพภูมิ ตกอยู่ภายใต้ “กฏแห่งไตรลักษณ์” ทั้งสิ้นทุกภูมิจะถูกทำลายด้วย ไฟ น้ำ ลม
ในคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟ ไฟจะลุกไหม้ตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ จนถึงปฐมฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายทั้งหมด
คราวที่โลกถูกทำลายด้วยน้ำจะท่วมตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ถูกทำลายทั้งหมด
คราวที่โลกถูกทำลายด้วยลม ลมจะพัดทำลายตั้งแต่อบายภูมิ มนุษยภูมิ เทวภูมิ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ จะถูกทำลายทั้งหมด
ภูมิที่พ้นจากการถูกทำลายด้วยไฟ น้ำ ลม คือ จตุตถฌานภูมิ และ อรูปภูมิ อายุของสัตว์ในภูมิ ๓๑
ต่อไปจะได้พรรณนาถึงอายุของเทวดาพรหมทั้งหลาย จะได้เห็นว่าการได้ไปเสวยสุขที่โลกสวรรค์นั้นมีอายุเท่าไรบ้าง และอายุของสัตว์นรกว่ามีอายุเสวยผลอกุศลกรรมเท่าไรบ้าง ทำบุญแล้วอธิษฐานให้เกิดในสวรรค์ ในอรรถกถาธรรมบท กล่าวเรื่องเวลาของสวรรค์เทียบกับมนุษย์ไว้ดังนี้:- 
ในดาวดึงส์เทวโลกเทวบุตรองค์หนึ่งชื่อว่า มาลาภารี ไปเที่ยวชมอุทยานพร้อมกับหมู่เทพอัปสร เทพธิดาองค์หนึ่งจุติ ในขณะที่กำลังนั่งอยู่บนกิ่งต้นไม้ให้ ดอกไม้หล่นจากต้น สรีระของนางดับหายไปเหมือนอย่างเปลวประทีปดับ นางถือปฏิสนธิในตระกูลหนึ่งในกรุงสาวัตถีและระลึกชาติได้ว่า เป็นภรรยาของมาลาภารีเทวบุตร นางตั้งความปรารถนาจะไปเกิดในสำนักของเทพสามีอีก
ขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี นางมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทำการบูชาพระรัตนตรัย ทำบุญกุศลต่างๆ และตั้งความปรารถนาอย่างเดียวนั้นตั้งแต่ยังเยาว์วัย จนถึงได้นามว่า ปติปูชิกา แปลว่า บูชาเพื่อสามี
เมื่อเจริญวัยก็มีสามี คนทั้งหลายก็เข้าใจว่าเป็นที่สมปรารถนาแล้ว นางมีบุตรหลายคนโดยลำดับ ได้ตั้งหน้าทำบุญกุศลต่างๆ อยู่เป็นนิตย์ ในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อฟังธรรมรักษาสิกขาบทแล้ว ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคปัจจุบัน บังเกิดในสำนักเทพสามีในสวนสวรรค์นั้นแหละ
ขณะนั้น มาลาภารีเทวบุตรก็กำลังอยู่ในอุทยานหมู่เทพอัปสรกาลังเก็บร้อยดอกไม้กันอยู่ เทวบุตรได้ทักถามว่านางหายไปไหนแต่เช้า นางได้ตอบว่าจุติแล้วไปเกิดในมนุษย์ ได้เล่าเรื่องของนางในมนุษย์โดยตลอด และได้เล่าถึงความตั้งใจของนางเพื่อที่จะมาเกิดอีกในสำนักของเทพสามี
บัดนี้ก็ได้มาเกิดสมปรารถนาด้วยอำนาจบุญกุศลและความตั้งใจ เทวบุตรถามถึงกำหนดอายุมนุษย์ เมื่อได้รับตอบว่าประมาณร้อยปีเกินไปมีน้อย
ได้ถามต่อไปว่าหมู่มนุษย์มีอายุเพียงเท่านี้ พากันประมาทเหมือนอย่างหลับ หรือพากันทำบุญกุศลต่างๆ
เทพธิดาตอบว่า พวกมนุษย์โดยมากพากันประมาท เหมือนอย่างมีอายุตั้งอสงไขย เหมือนอย่างไม่แก่ ไม่ตาย เทวบุตรได้เกิดความสังเวชใจ
ความจากพระธรรมบท มุ่งเตือนใจให้ไม่ประมาท เพราะทุกๆคนจะต้องตาย ขณะที่ยังไม่อิ่มยังเพลิดเพลินอยู่ในกาม เหมือนอย่างนางเทพธิดาเพลินเก็บดอกไม้ต้องจุติ(ตาย) ทันทีในสวนสวรรค์นั้น
ในติกนิบาต แสดงอายุสวรรค์เทียบอายุมนุษย์ไว้ว่า 
อายุของเทวดา
ห้าสิบปีมนุษย์ เป็นหนึ่งคืนวัน สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๓๐ คืนวันเป็นหนึ่งเดือนสวรรค์นั้น ๑๒ เดือนเป็นหนึ่งปีสวรรค์
ห้าร้อยปีทิพย์เป็นประมาณอายุของเทพชั้นจาตุมหาราชิกา
เท่ากับเก้าล้านปีมนุษย์ (50x360x500 = 9,000,000)
หนึ่งร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเดือนปีเช่นเดียวกัน
พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดาวดึงส์
เท่ากับสามโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (4x9,000,000 = 36,000,000)
สองร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นยามา นับเดือนปีเช่นเดียวกัน สองพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นยามา เท่ากับสิบสี่โกฏิสี่ล้านปีมนุษย์ (4x36,000,000 = 144,000,000)
สี่ร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นดุสิต นับเดือนปีเช่นเดียวกัน สี่พันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นดุสิต เท่ากับห้าสิบเจ็ดโกฏิหกล้านปีมนุษย์ (4x144,000,000 = 576,000,000)
แปดร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันสวรรค์ชั้นนิมมานรตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน แปดพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นนิมมานรตี
เท่ากับสองร้อยสามสิบโกฏิกับสี่ล้านปีของมนุษย์ (4x576,000,000 = 2,304,000,000)
หนึ่งพันหกร้อยปีมนุษย์เป็นหนึ่งคืนวันในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นับเดือนปีเช่นเดียวกัน หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์นี้เป็นประมาณอายุของเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
เท่ากับเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏิกับหกล้านปีมนุษย์ (4x2,304,000,000 = 9,216,000,000)
อายุของรูปพรหม
เทพชั้นพรหมโลกยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก ดังต่อไปนี้
๑. พรหมปาริสัชชา มีอายุเท่าส่วนที่สามของกัป คือหนึ่งในสามของกัป
๒. พรหมปุโรหิต มีอายุกึ่งกัป
๓. มหาพรหม มีอายุหนึ่งกัป
๔. ปริตตาภาพรหม มีอายุสองกัป
๕. อัปปมาณาภาพรหม มีอายุสี่กัป
๖. อาภัสสราพรหม มีอายุแปดกัป
๗. ปริตตสุภาพรหม มีอายุสิบหกกัป
๘. อัปปมาณสุภาพรหม มีอายุสามสิบสองกัป
๙. สุภกิณหาพรหม มีอายุหกสิบสี่กัป
๑๐. เวหัปผลาพรหม และ อสัญญสัตพรหม มีอายุห้าร้อยกัป
๑๑. อวิหาพรหม มีอายุพันกัป
๑๒. อตัปปาพรหม มีอายุสองพันกัป
๑๓. สุทัสสาพรหม มีอายุสี่พันกัป
๑๔. สุทัสสีพรหม มีอายุแปดพันกัป
๑๕. อกนิฏฐาพรหม มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันกัป 
อายุของอรูปพรหม
อรูปพรหมอีก ๔ ชั้นยิ่งมีอายุมากขึ้นไปอีก
อรูปที่หนึ่งมีอายุสองหมื่นกัป
อรูปที่สองมีอายุสี่หมื่นกัป
อรูปที่สามมีอายุหกหมื่นกัป
อรูปที่สี่มีอายุแปดหมื่นสี่พันกัป
อายุของสัตว์ในนรก
อนึ่ง มีแสดงถึงอายุสัตว์ในนรกเทียบกับอายุในสวรรค์ไว้ว่า
ห้าร้อยปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นคืนวันหนึ่งใน สัญชีวนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุห้าร้อยปีนรกนั้น
พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นคืนวันหนึ่งใน กาฬสุตตนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งพันปีนรกนั้น
สองพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นยามา เป็นคืนวันหนึ่งใน สังฆาตนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสองพันปีนรกนั้น
สี่พันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นคืนวันหนึ่งใน โรรุวนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุสี่พันปีนรกนั้น
แปดพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นคืนวันหนึ่งใน มหาโรรุวนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุแปดพันปีนรกนั้น
หนึ่งหมื่นหกพันปีทิพย์ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นคืนวันหนึ่งใน ตาปนนรก
สัตว์นรกขุมนี้มีอายุหนึ่งหมื่นหกพันปีนรกนั้น
มหาตาปนนรก มีอายุกึ่งอันตรกัป
อเวจีนรก มีอายุหนึ่งอันตรกัป
การนับกาลเวลาที่เรียกว่า กัปหรือกัลป์ เป็นอย่างไร
การนับจำนวนเรื่องกาลเวลาจากคัมภีร์ต่างๆ สรุปได้เป็น ๒ วิธี คือ
๑.นับด้วยจำนวนสังขยา คือ นับจำนวนด้วยตัวเลข เช่น ๑,๒,๓,..... เป็นต้น
๒.กำหนดด้วยอุปมา คือ กำหนดด้วยเครื่องกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเมื่อมากเกินไปที่จะนับด้วยจำนวนตัวเลข การกำหนดในวิธีที่ ๒ นี้ เป็นที่มาของคาว่า กัป กัปมี ๔ อย่าง คือ
๑. อายุกัป
๒. อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป
๔. มหากัป 
๑. อายุกัป หมายถึง กาลเวลาแห่งอายุขัยตามยุคตามสมัย เช่น อายุขัยของคนในยุคปัจจุบัน มีอายุขัยประมาณ ๗๕ ปี หรืออย่างเช่น ในคราวที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารว่าอีกสามเดือนจะเสด็จปรินิพพาน
หลังจากที่พระอานนท์ทราบแล้ว จึงกราบทูลอาราธนาขอให้เสด็จอยู่กัปหนึ่ง เพราะได้เคยสดับพระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่เจริญอิทธิบาท ๔ ประการ ถ้าตั้งใจจะดำรงรูปกายอยู่ก็จะอยู่ได้กัปหนึ่ง หรือเหลือกว่ากัปหนึ่ง ในช่วงนั้นมนุษย์ก็มีอายุขัยประมาณร้อยปี
๒. อันตรกัป การนับอายุ คือ ในสมัยต้นกัปมนุษย์มีอายุขัยยืนยาวมากถึงอสงไขยปี (มากจนนับจำนวนปีไม่ได้) ต่อมาอายุขัยของมนุษย์ค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนเหลือแค่ ๑๐ ปี เมื่อลดลงถึงสิบปีแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอีกจนถึงอสงไขยปีอย่างเก่าอีก เป็นอย่างนี้เท่ากับ ๑ รอบ เรียกว่า อันตรกัป
๓. อสงไขยกัป จำนวนอันตรกัปดังที่กล่าวไว้ในข้อที่ ๒ เป็นอย่างนั้นไปอีกจนครบ ๖๔ อันตรกัป เท่ากับ ๑ อสงไขยกัป (การนับจำนวนอสงไขยกัป มีการกล่าวไว้หลายนัย บ้างก็กล่าวว่า ๒๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป บ้างก็ว่า ๘๐ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป)
๔. มหากัป มีวิธีนับคือ ๔ อสงไขยกัป = ๑ มหากัป มหากัปหนึ่งๆ มีเวลายาวนานมาก จนไม่สามารถประมาณได้ว่าเป็นเวลานานสักเท่าใด
มีอุปมาว่า มีภูเขาหินใหญ่ยาวโยชน์หนึ่งกว้างโยชน์หนึ่ง (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร) ไม่มีช่องไม่มีโพรง เป็นก้อนหินแท่งทึบ ถึงร้อยปีหนหนึ่ง มีบุรุษใช้ผ้าทอที่แคว้นกาสี (ผ้าเนื้อดี) ร้อยปีมาลูบครึ่งหนึ่ง ภูเขาหินนั้นก็จะพึงราบเรียบไปก่อน แต่กัปยังไม่สิ้น
อีกอุปมาหนึ่งว่า มีพื้นที่กว้างและยาวร้อยโยชน์ มีกำแพงสูงร้อยโยชน์ ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดแน่นขนัด มีบุรุษมาหยิบพันธุ์ผักกาดไปเมล็ดหนึ่งทุกๆ ร้อยปี กองเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้นก็จะหมดไปก่อน ส่วนกัปยังไม่สิ้น กัปที่ยาวมากดั่งนี้ เรียกว่า มหากัป ที่มา คัดลอกจาก “บทเรียนชุดที่ ๖.๒ เรื่อง ภพภูมิ ๓๑”
หนังสืออ้างอิง
๑. ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก
๒. ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ ปริจเฉทที่ ๕ เล่มที่ ๑ ; ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมมัตถสังคหฎีกา ; พระสัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 22, 2011, 10:30:27 am โดย nathaponson »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ