ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ราหูอมจันทร์ คืนนี้กับเมื่อครั้งพุทธกาลต่างกันอย่างไร มาดูพระสูตร  (อ่าน 5799 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

จันทิมสูตรที่ ๙

    [๒๔๑] พระผู้มีพระภาคประทับ ... เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้น จันทิมเทวบุตรถูกอสุรินทราหูเข้าจับแล้ว ครั้งนั้นจันทิมเทวบุตรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ได้ภาษิตคาถานี้ในเวลานั้นว่า
         ข้าแต่พระพุทธเจ้า ผู้แกล้วกล้า ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระองค์ พระองค์เป็นผู้หลุดพ้นแล้วในธรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ถึงเฉพาะแล้ว ซึ่งฐานะอันคับขัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแห่งข้าพระองค์นั้น ฯ


     [๒๔๒] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภจันทิมเทวบุตรได้ตรัสกะอสุรินทราหูด้วยพระคาถาว่า จันทิมเทวบุตร ถึงตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ว่าเป็นที่พึ่ง
     ดูกรราหู ท่านจงปล่อยจันทิมเทวบุตร พระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นผู้อนุเคราะห์แก่โลก ฯ

     [๒๔๓] ลำดับนั้นอสุรินทราหู ปล่อยจันทิมเทวบุตรแล้ว มีรูปอันกระหืดกระหอบ เข้าไปหาอสุรินทเวปจิตติถึงที่อยู่ ครั้นแล้วก็เป็นผู้เศร้าสลด เกิดขนพอง ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

     [๒๔๔] อสุรินทเวปจิตติ ได้กล่าวกะอสุรินทราหู ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยคาถาว่า
     ดูกรราหู ทำไมหนอ ท่านจึงกระหืดกระหอบปล่อยพระจันทร์เสีย ทำไมหนอ ท่านจึงมีรูปสลด มายืนกลัวอยู่ ฯ

     [๒๔๕] อสุรินทราหูกล่าวว่า ข้าพเจ้าถูกขับด้วยคาถาของพระพุทธเจ้า หากข้าพเจ้าไม่พึงปล่อยจันทิมเทวบุตร ศีรษะของข้าพเจ้าพึงแตกเจ็ดเสี่ยงมีชีวิตอยู่ ก็ไม่พึงได้รับความสุข ฯ



อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๑๕๕๓ - ๑๕๗๖. หน้าที่ ๗๑.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=1553&Z=1576&pagebreak=0             
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=241
ขอบคุณภาพจาก http://hilight.kapook.com,http://gotoknow.org
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระพุทธประวัติ ตอนที่ ๑๓๘ : ทรงโปรดอสุรินทราหู

ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถีครั้งนั้น อสุรินทราหู อุปราชแห่งท้าวเวปจิตติ อสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับคำสรรเสริญถึงพระเกียรติคุณของพระบรมศาสดาจากสำนักเทพยดาทั้งหลายว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ทรงเพียบพร้อมไปด้วยวิชชาและจรณะ ทรงรู้แจ้งโลก"

เมื่ออสุรินทราหู ได้ฟังแล้ว ก็มีความปรารถนาใคร่ที่จะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่มาหวนคำนึงว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงเป็นมนุษย์มีพระวรกายที่เล็ก ถ้าเราจะไปเฝ้าก็ต้องก้มลงมอง เป็นความลำบากมาก ซึ่งตัวเราเองก็ไม่เคยก้มเศียรให้แก่ใคร" เมื่ออสุรินทราหูได้หวนคำนึงด้วยประการดังนี้แล้ว ก็ระงับการที่จะไปเฝ้าพระบรมศาสดา

แต่ครั้นได้เห็นเหล่าเทพยดาทั้งหลาย ที่พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นจำนวนมาก ๆ ความคิดที่จะไปเฝ้าก็เกิดขึ้นอีก ทั้งยังได้ทราบพระคุณสมบัติของพระบรมศาสดาว่า "พระองค์ทรงมีพระพักตร์เบิกบานเสมอ ทรงมีการปฏิสันถารอันดี" ดังนั้น ณ เพลาราตรีหนึ่ง อสุรินทราหูจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ

ก่อนที่อสุรินทราหูจะไปเฝ้านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณเป็นอย่างดี ทั้งทรงทราบถึงความในใจของอสุรินทราหูด้วย ทรงรับสั่งแก่พระอานนท์ว่า "ดูกร อานนท์ เธอจงจัดสถานที่รับรองที่บริเวณพระคันธกุฏี อันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ เธอจงลาดบรรจถรณ์ของตถาคตไว้ ณ ที่นั้น ด้วยตถาคตจะนอนรอรับอสุรินทราหู เพื่อให้โอกาสแก่อสุรินทราหูได้เห็นตถาคตอย่างใกล้ชิด และถนัดชัดเจน"



ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จบรรทม ณ พระแท่นที่ประทับ ทรงกระทำปาฏิหาริย์ เนรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่ากายของอสุรินทราหูหลายเท่า ซึ่งพระรูปนี้ จะปรากฏเฉพาะแต่อสุรินทราหูแต่ผู้เดียวเท่านั้น เมื่อได้เวลา อสุรินทราหูก็เข้าไปเฝ้า

ครั้นเห็นพระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจ กล่าวคือ แม้แต่เพียงพระบาททั้งสองข้างที่ซ้อนกันอยู่ ก็สูงและใหญ่กว่าตนเสียอีก อสุรินทราหูได้เข้าไปใกล้แล้ว ถวายอภิวาท แทนที่จะก้มลงดูพระผู้มีพระภาคดังที่คิดไว้แต่แรกนั้น กลับต้องแหงนหน้าชมพระพุทธลักษณะอันงดงาม นับแต่พื้นพระบาทจนถึงพระพักตร์ เมื่ออสุรินทราหูได้ยลพระรูปลักษณะแล้วก็บังเกิดความปลาบปลื้มเป็นยิ่งนัก

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งปฏิสันถาร เพื่อให้เกิดความชื่นบานแก่อสุรินทราหูยิ่งขึ้น แล้วตรัสว่า "อสุรินทราหู บุคคลทั้งหลายเมื่อได้ทราบ ข่าวเล่าลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ หากยังไม่ได้เห็น ยังไม่พิจารณาให้ถ่องแท้แก่ใจตนแล้ว ไม่พึงติชมก่อน อสุรินทราหู ท่านคงเข้าใจว่า ท่านมีร่างกายใหญ่กว่าเทพยดาและอสูรทั้งหลาย จริงอยู่ บรรดาอสูรทั้งหลายในอสูรพิภพนั้นมีร่างกายเล็กกว่าท่าน

แต่ท่านคิดหรือเปล่าว่า ในที่อื่นอาจมีร่างกายใหญ่กว่าท่าน เหมือนปลาใหญ่ในหนองคลองบึง มันอาจคิดว่าตัวมันโตกว่าปลาทั้งหมด ไม่มีปลาตัวใดจะเสมอได้ เพราะมันยังไม่ได้เห็นปลาในมหาสมุทร อสุรินทราหู แม้ท่านเองก็มีความรู้สึกเช่นนั้น ดูกร อสุรินทราหู บรรดาพรหมทั้งหลายในพรหมโลกชั้นบนทั้งหมด ล้วนมีร่างกายใหญ่กว่าท่าน ถ้าท่านมีความปรารถนาจะใคร่ชมพรหมเหล่านั้น ตถาคตจะพาท่านไป และไปชมได้ในขณะนี้ "




ครั้นอสุรินทราหูได้สดับพระพุทธดำรัสแล้ว จึงทูลขอประทานพระกรุณาให้พาไปชมพรหมทั้งหลายในพรหมโลก องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูไปยังพรหมโลกทันทีทันใดนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นไปปรากฎพระองค์ ณ พรหมโลกแล้ว บรรดาพรหมทั้งหลายต่างก็มาเฝ้าเป็นอันมาก บรรดาพรหมที่พากันมาเฝ้าเหล่านั้น ล้วนแต่มีร่างกายใหญ่กว่าอสุรินทราหูทั้งนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมีพระวรกายปรากฏใหญ่กว่ามหาพรหมเหล่านั้นทั้งหมด

ส่วนอสุรินทราหูคงมีร่างกายเท่าเดิม จึงบังเกิดความหวาดกลัวตัวสั่นเทา ได้หลบอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) พระผู้มีพระภาคเจ้า ปรากฏเหมือนแมงมุมที่เกาะปลายจีวรแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนั้น ท้าวมหาพรหมได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาพาเอาตัวอะไรขึ้นมาด้วยพระเจ้าข้า"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตอบว่า "ดูกร ท้าวมหาพรหม ผู้นี้ คือ อสุรินทราหู ซึ่งเธอสำคัญตัวว่ามีร่างกายที่ใหญ่โต ใคร่อยากที่จะได้เห็นผู้ที่มีร่างกายใหญ่กว่าตนนี้ ยังจะมีอยู่หรือไม่ ตถาคตจึงได้พาเธอขึ้นมาบนพรหมโลกนี้ เพื่อที่จะให้เธอได้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง"


ท้าวมหาพรหมจึงกราบทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า "เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า อันว่าธรรมดาวิสัยของคนที่มีทิฐิมานะอันกระด้าง ย่อมสำคัญตัวเองว่าเหนือกว่าบุคคลผู้อื่นอยู่เสมอ"

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พรหมโลกพอสมควรแก่เวลา พระองค์ก็ตรัสอำลาท้าวมหาพรหม พระองค์ทรงพาอสุรินทราหู กลับลงมายังพระเชตวันมหาวิหาร ทรงทรมาน (แสดงธรรมโปรด) อสุรินทราหูให้ลดทิฐิมานะอันกระด้างลงได้ ครั้งนั้น อสุรินทราหูกลับมีใจเลื่อมใสในพระคุณของพระบรมศาสดา ได้เล็งเห็นวาจาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ แล้วกราบทูลลากลับที่อยู่แห่งตน

จากเรื่องราวดังกล่าว จะเห็นได้ว่า พระราหู หรืออสุรินทราหู นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่มีจิตใจหยาบช้า หรือ แข็งกระด้าง เกินกว่าที่พระพุทธองค์จะทรงโปรดได้ และเมื่อพระราหูได้มีโอกาสฟังพระธรรมของพระพุทธองค์บ่อยครั้งเข้า (เมื่อคราวขึ้นมาไล่จับพระอาทิตย์ และ พระจันทร์ อมเล่น) ก็มีจิตน้อมนำให้ใฝ่ในธรรม



พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย ( หมอน ) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ ( รักแร้ ) เราจะพบพระพุทธรูปปางนี้ ได้หลายๆแห่ง ที่เรามักเรียกกันว่าพระนอน ที่จริงแล้ว พระนอนยังมีปางอื่นๆอีกหลายปางมาก แต่ปางที่นิยมสร้างให้ใหญ่โตมากๆ ก็จะเป็นปางนี้ เพื่อเป็นการแสดงความศรัทธาที่มีต่อ พระพุทธองค์ ในการโปรดอสุรินทราหูนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=23-07-2009&group=54&gblog=16
http://t1.gstatic.com
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระอนาคตวงศ์

        พระอนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๑
          - พระศรีอาริยเมตไตร(พระอชิตเถระ)


        พระอนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๒
          - พระรามเจ้า
          - พระธรรมราช(พระเจ้าปเสนทิโกศล)
          - พระธรรมสามี(พระยามาธิราช)


        พระอนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๓
          - พระนารทะ(พระยาอสุรินทราหู)
          - พระรังสีมุนีนาท(โสณพราหณ์)
          - พระเทวเทพ(สุภพราหมณ์)
          - พระนรสีหะ(โตไทยพราหมณ์)

   
        พระอนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๔
          - พระติสสะ (ช้างนาฬาคีรี)


        พระอนาคตวงศ์ กัณฑ์ที่ ๕
          - พระสุมงคล(ช้างปาลิไลยกะ)


        พระอนาคตวงศ์
          - บทสรุป
          - อานิสงส์กถา
          - อธิษฐานวาจา
          - กลอนท้ายเล่ม





   
กัณฑ์ที่ ๓

    ( สฺตถา สารีปุตฺต ธมฺมสามีสมฺมาสมฺพุทธสฺ สสาสนกาเล อติกฺกนฺเต มหาปฐวิยา โยชนมตฺตํ
    อภิรุฬฺหาย มณฺฑกปฺเป นารโท จ รงฺสิมุนิ จ เทฺว พุทฺธา อุปปชฺชิส สฺนตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )


    ( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระบรมศรีสุคตทศพลญาณ สี่พระองค์ทรงพระนามว่า พระนารท, พระรังสีมุนีนาถ, พระเทวเทพ, พระนรสีหะ เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า )


   
พระนารทะ (พระยาอสุรินทราหู)

            สตฺถา สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าของเราตรัสพระธรรมเทศนาว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาพระยามาราธิราช ผู้เป็นธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โลกทั้งหลายจะสูญจากสมเด็จพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านานถึง ๘ กัปป์ แผ่นดินตั้งขึ้นมาใหม่ได้แสนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นสูญเปล่าเป็นสุญญกัปป์ หาบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่ ในเมื่อสุญญกัปนับได้แสนแผ่นดินล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดแผ่นดินมาใหม่ มีชื่อว่ามัณฑกัปนั้น เป็นแผ่นดินทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๒ พระองค์ คือ
    - พระยาอสุรินทราหู ๑
    - โสณพราหมณ์ ๑

    อันว่าพระยาอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ลำดับนั้นโสณพราหมณ์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบไปฯ
    เมื่อพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพระนามว่าพระนารทะ
    - มีพระองค์สูงได้ ๒๐ ศอก
    - มีพระชนมายุยืนได้หมื่นปีเป็นกำหนด
    - มีไม้จันทร์เป็นพระมหาโพธิ
    - ประกอบไปด้วยรัศมีสว่างรุ่งเรืองทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบประดุจดังว่าสายฟ้าในกลีบเมฆ พระพุทธรัศมีที่เป็นแผ่นแผ่ทึบเป็นแท่งเดียวนั้น ปรากฏสัณฐานดุจดอกปทุมชาติอันตั้งขึ้นมา
    - ครั้นศาสนาพระยาอสุรินทราหูนั้น ในแผ่นดินประเทศทั้งปวงเกิดรสภักษาหาร ๗ ประการ มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคภักษาหาร ๗ ประการ อันเกิดแก่แผ่นดิน ก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตของอาตมาเป็นสุขสำราญมิได้ขาด



            ดูก่อนสำแดงสารีบุตร อันว่าพระนารทผู้ทรงพระภาคนั้น มีพระรัศมีเห็นปานดังนี้ คือพระยาอสุรินทราหูแต่ก่อนได้สร้างบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย ๑๐ ประการมาเป็นอันมากแล้ว จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ แต่กองบารมีอันหนึ่ง พระยาอสุรินทราหูได้กระทำเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์ พระองค์มีพระพุทธฎีกาดังนั้นแล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระธรรมเทศนาว่า

            อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงแล้วช้านาน ในเมื่อพระสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณ พระยาอสุรินทราหูนี้ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในมัลลนคร เป็นเอกราชอันประเสริฐ ทรงพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช มีพระราชอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชบุตร พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชบุตรมีนามว่า เจ้านิโครธกุมาร พระราชธิดามีนามว่า นางโคตมี

            อยู่มาวันหนึ่งยังมีพราหมณ์ ๘ คน พากันมาสู่สำนักแห่งพระยาสิริคุตต์ กราบทูลขอพระนคร พระองค์ก็ทรงโสมนัสบังเกิดพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานพระนครให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ยังแต่พระราชอัครมเหสีและพระราชโอรสกับพระราชธิดาทั้ง ๒ ก็พากันออกจากพระนครเข้าไปในอรัญประเทศ กระทำอาศรมอาศัยอยู่บนยอดเขาใหญ่ พร้อมกันทั้งสี่กษัตริย์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ในอาศรมบทฯ

            ในกาลครั้งนั้นยังมียักษ์ตนหนึ่ง มีนามว่ายันตะ ยักษ์ใหญ่สูงได้ ๑๒๐ ศอก ออกจากประเทศราวป่ามาเฉพาะต่ออาศรมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ ยืนอยู่ในที่นั้นแล้วจึงกล่าววาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้านี้เกิดมาเป็นยักษ์รักษาพนาลี มีแต่เลือดและเนื้อเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต ข้าพเจ้ามาทั้งนี้ ปรารถนาจะขอพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง๒องค์ เป็นภักษาหาร



           ถ้าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานให้แล้ว ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นแม่นมั่น เมื่อหน่อพระชินวงศ์ได้ทรงฟังยันตะยักษ์ทูลขอพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ นั้น พระยาสิริคุตตราชฤาษีผู้แสวงหาพระโพธิญาณก็ชื่นบานในกมลหฤทัยแสนทวี ท้าวเธอจึงมีสุนทรสารทีตรัสแก่ยันตะยักษ์ว่า

           ดูก่อนท่านผู้เจริญเอ๋ย พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ องค์นี้ ใช่ว่าเราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ ด้วยเรารักใคร่ในพระโพธิญาณยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ แสนเท่าพันทวี เราจะสละพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ศรี ให้เป็นทานแก่ท่านในกาลบัดนี้ ตรัสแล้วเท่านั้นก็เสด็จลุกจากอาสน์ จูงเอาข้อพระหัตถ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง๒ ผู้ร่วมพระราชหฤทัย มาพระราชทานให้แก่ยันตะยักษ์ แล้วหล่อหลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือแห่งยักษ์

          พระองค์จึงประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าและนางพระธรณีให้เป็นสักขีพยานว่า เดชะแห่งผลทานนี้จงสำเร็จแก่พระสร้อยเพชุดาญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด พอสิ้นความปรารถนาก็บังเกิดมหัศจรรย์ทั่วโลกทุกห้องจักรวาล ปานแผ่นพสุธาจะทรุดจะทำลายฯ

          เบื้องหน้ายันตะยักษ์ครั้นได้รับพระราชทานพระราชกุมารและพระราชกุมารีแล้ว ก็บังเกิดมีความชื่นชมยินดี พาตรุณสองศรีไปยังหลังพระบรรณศาลา ก็ก้มศีรษะลงกัดเอาคอกุมารและกุมารีทั้งสองให้ขาดด้วยอำนาจของอาตมา แล้วก็ดื่มโลหิตกินเป็นภักษาหาร แล้วก็เคี้ยวซึ่งเนื้อและกระดูกกลืนเข้าไป เสียงเคี้ยวนั้นดังกร้วมๆ พระฤๅษีผู้เป็นบิดาและมารดาเห็นเห็นหยาดเลือดย้อยลงจากปากยันตะยักษ์ในขณะเมื่อเคี้ยวนั้น มิได้มีพระทัยไหวหวาดด้วยโลกธรรม จึงร้องประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ทั้งปวงจงมาชื่นชม ด้วยทานของเราบัดนี้เป็นอันประเสริฐแล้วฯ

            ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ในเมื่อพระศาสนาของของพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
    - ฝูงชนทั้งปวงประกอบไปด้วยรูปศิริวิลาสเป็นอันงาม ควรจะนำมาซึ่งความสิเนหา ด้วยเดชะผลานิสงส์ที่ให้ลูกทั้งสองเป็นทานฯ
    - ซึ่งพระองค์ประกอบได้ด้วยพระพุทธรัศมีส่องสว่างสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นด้วยเดชะผลานิสงส์ที่เห็นโลหิตกุมารทั้ง ๒ หยดย้อยลงจากปากยักษ์ มิได้มีความหวาดหวั่นไหวในมหาทานเลย

    แสดงมาด้วยเรื่องราบพระยาอสุรินทราหูบรมโพธิสัตว์คำรบ ๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ


ที่มา http://www.84000.org/anakot/kan3.html
ขอบคุณภาพจาก http://www.84000.org/,http://board.postjung.com/,http://www.tinyzone.tv/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ