อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔
๘. กึสุกสูตร
อรรถกถากิงสุกสูตรที่ ๘
ในกิงสุกสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ทสฺสนํ นั่นเป็นชื่อเรียก ปฐมมรรค (โสดาปัตติมรรค) เพราะว่า ปฐมมรรค (นั้น) ทำหน้าที่คือการละกิเลสได้สำเร็จ เห็นพระนิพพานเป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึงเรียกว่า ทัสสนะ.
ถึงแม้ว่า โคตรภูญาณจะเห็นพระนิพพานก่อนกว่ามรรคก็จริง ถึงกระนั้น ก็ไม่เรียกว่าทัสสนะ เพราะได้แต่เห็น แต่ไม่มีการละกิเลสอันเป็นกิจที่จะต้องทำ.
อีกอย่างหนึ่ง มรรคทั้ง ๔ ก็ชื่อว่าทัสสนะเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นได้ฟังภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ว่า ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ทัสสนะกำลังบริสุทธิ์ ในขณะแห่งผล (โสดาปัตติผล) บริสุทธิ์แล้ว ในขณะแห่งสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค ทัสสนะกำลังบริสุทธิ์ ส่วนในขณะแห่งผลบริสุทธิ์แล้ว
จึงคิดว่า ถึงเราก็จักชำระทัสสนะให้บริสุทธิ์ แล้วดำรงอยู่ในอรหัตตผล คือจักทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่มีทัสสนะอันบริสุทธิ์อยู่ ดังนี้แล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้น แล้วเริ่มถามอย่างนี้.
ภิกษุนั้นบำเพ็ญกัมมัฏฐานมีผัสสายตนะเป็นอารมณ์ กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรม ด้วยอำนาจผัสสายตนะ ๖ แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์.
ก็ในอายตนะ ๖ นี้ อายตนะ ๕ ประการแรกจัดเป็นรูป มนายตนะจัดเป็นอรูป เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงพูดถึงเฉพาะมรรคที่ตนบรรลุแล้ว. ฯลฯ -----------------------------------------------------

ในสูตรนั้น มีข้ออุปมาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-
ก็พระนคร คือ นิพพาน พึงเห็นเหมือนมหานครที่มั่งคั่ง. พระธรรมราชาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยโพชฌงค์รตนะ ๗ ประการ พึงเห็นเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยรตนะ ๗ ประการ. นคร คือ กายของตน พึงเห็นเหมือนนครชายแดน.
จิตตุปบาทที่โกงของภิกษุนี้ พึงเห็นเหมือนราชบุตรโกง (ทรราช). ในนครนั้น เวลาที่ภิกษุนี้พรั่งพร้อมด้วยนิวรณ์ ๕ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ราชบุตร (ทรราช) อันเหล่านักเลงแวดล้อม.
สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน พึงเห็นเหมือนราชทูตเร็วทั้งคู่. เวลาที่จิตถูกสมาธิในปฐมฌานเกิดขึ้น ตรึงไว้มิให้หวั่นไหว พึงเห็นเหมือนเวลาที่ราชบุตรทรราชถูกทหารใหญ่จับพระเศียร. ภาวะที่เมื่อปฐมฌานพอเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ ๕ ก็อยู่ห่างไกล พึงเห็นเหมือนภาวะที่เมื่อราชบุตรทรราช พอถูกทหารใหญ่จับพระเศียร. เหล่านักเลงทั้งหลายก็หนีกระจัดกระจายไปไกลคนละทิศละทาง. เวลาที่ภิกษุนั้นออกจากฌาน พึงเห็นเหมือนเวลาที่ทหารใหญ่ พอราชบุตรทรราชรับรองว่าจักทำตามพระบรมราชโองการ ก็ปล่อยพระราชกุมาร.
เวลาที่ภิกษุนั้นทำจิตให้ควรแก่การงาน ด้วยสมาธิแล้ว เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พึงเห็นเหมือนเวลาที่อำมาตย์ทูลให้ทราบกระแสพระบรมราชโองการ (แก่ราชบุตร)
การที่ภิกษุผู้อาศัยสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ยกเศวตฉัตรคือวิมุตติขึ้น พึงทราบเหมือนการที่ราชบุตรนั้น อันราชทูตทั้งคู่นั้นทำการอภิเษก แล้วยกเศวตฉัตรขึ้นถวายในเมืองนั้นนั่นแล. 
ส่วนเนื้อความของบททั้งหลายมีอาทิว่า จาตุมฺมหาภูติกสฺส ในคำมีอาทิว่า นครนฺติ โข ภิกฺขุ อิมสฺเสตํ จาตุมฺมหาภูติกสฺส กายสฺส อธิวจนํ ได้อธิบายไว้อย่างพิสดารแล้วในตอนต้น.
ก็ในสูตรนี้ กายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า นคร เพราะเป็นที่ประทับอยู่ของราชบุตร คือวิญญาณอย่างเดียว.
อายตนะ ๖ ตรัสเรียกว่า ทวาร เพราะเป็นประตู (ทางออก) ของราชบุตร คือวิญญาณนั้นนั่นแล.
สติ ตรัสเรียกว่า นายทวารบาล (คนเฝ้าประตู) เพราะเฝ้าประจำอยู่ในทวารทั้ง ๖ นั้น.
ในบทนี้ว่า สมถะและวิปัสสนา เป็น ราชทูตด่วน สมถะพึงทราบว่าเหมือนทหารใหญ่ วิปัสสนาพึงทราบว่าเหมือนอำมาตย์ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต เพราะถูกพระธรรมราชาผู้ตรัสบอกกัมมัฏฐาน ทรงส่งไปแล้ว.
บทว่า มชฺเฌ สึฆาฏโก ความว่า ทางสามแยกกลางนคร.
บทว่า มหาภูตานํ ได้แก่ มหาภูตรูปอันเป็นที่อาศัยของหทยวัตถุ. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศัพท์ว่า มหาภูตรูป ๔ ไว้ก็เพื่อแสดง (นิสสย) ปัจจัยของวัตถุรูปนั่นเอง.
พระราชบุตรคือวิปัสสนาจิต ประทับนั่งอยู่ที่ทางสามแยกคือหทยรูปในท่ามกลาง (นครคือ) กาย อันเหล่าราชทูต คือสมถะและวิปัสสนา พึงอภิเษกต้องการอภิเษกเป็นพระอรหันต์ พึงเห็นเหมือนพระราชกุมารนั้น (ประทับนั่ง) อยู่กลางนคร.
ส่วนพระนิพพานตรัสเรียกว่า ยถาภูตพจน์ เพราะขยายสภาพตามเป็นจริง มิได้หวั่นไหว.
ก็อริยมรรค ตรัสเรียกว่า ยถาคตมรรค เพราะอธิบายว่า วิปัสสนามรรคแม้นี้ก็เป็นเช่นกับวิปัสสนามรรค อันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นเอง เพราะประกอบดีแล้ว ด้วยองค์ ๘.
ข้อเปรียบเทียบ (ดังจะกล่าวต่อไปนี้) เป็นข้อเปรียบเทียบ ในฝ่ายที่นำมาเพื่อทำความนั้นเองให้ปรากฏชัด.
อธิบายว่า ในสูตรนี้ อุปมาด้วยทวาร ๖ (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจผัสสายตนะ ๖.
อุปมาด้วยเจ้านคร (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจเบญจขันธ์
อุปมาด้วยทางสามแยก (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจเตภูมิกธรรม.
แต่ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัจจะทั้ง ๔ นั่นแหละไว้โดยย่อ.
แท้จริง ทุกขสัจนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วด้วยองค์ประกอบของเมืองทั้งหมด. นิโรธสัจ ตรัสไว้แล้วด้วยยถาภูตวจนะ. มัคคสัจ ตรัสไว้แล้วด้วยยถาคตมรรค. ส่วนตัณหาที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด คือสมุทยสัจ.
ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้ถามปัญหาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล.
จบอรรถกถากิงสุกสูตรที่ ๘ ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=339 ขอบคุณภาพจาก
http://www.larnbuddhism.com/