คนไทยใช่กบเฒ่า? เถรวาท vs. ลัทธิอาจารย์ (3)
คอลัมน์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

เมื่ออยู่ในโลกปลอมๆ มานานมาก บรรดานักศิลปศาสตร์ไทยเลยงงมากเมื่อได้ยินของจริงๆ ของไม่ปลอม เพราะต่างจากของปลอมๆ ที่ตัวเองคุ้นเคยแล้วงมงายมานาน
พระนวกะ: จบบทความครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: ก็ไม่ยาวเท่าไร อยากจะถามท่านที่ฟังก่อน ว่าฟังแล้วท่านมีความรู้สึกหรือความคิดเห็นอย่างไร
แต่การที่จะมีความรู้สึก หรือความคิดเห็น ก็ต้องมีฐาน คือมีความรู้ความเข้าใจว่าเถรวาทคืออะไร จึงจะรู้ว่าเขาเขียนผิดหรือเขียนถูก ถ้าเราไม่รู้เราก็นึกไม่ออกใช่ไหม อันนี้มันกลายเป็นว่าเป็นประโยชน์ขั้นที่หนึ่ง คือมาดูพวกเราเองในฐานะที่ท่านเป็นตัวแทนของพระไทย หรือว่าคนไทยทั่วไป ว่ามีฐานความรู้ในเรื่องเถรวาทที่จะฟังท่านผู้นี้หรือไม่ ฟังแล้วมองเรื่องออกหรือไม่
อยากจะฟังท่านด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร ใครอยากจะพูดบ้างไหม นิมนต์ครับ
พระนวกะ: อันนี้อาจจะยังเป็นความคิดเห็นนะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: ไม่เป็นไร ขั้นความคิดเห็น ตอนนี้ถามความคิดเห็น
พระนวกะ: คือ ผมเข้าใจว่าเถรวาทนี่หลักการสำคัญคือ การรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้องมากที่สุดครับ จึงต้องมีการท่องจำ แต่ว่าเวลาสังคมนำไปใช้ผมเข้าใจว่าสังคมเอาไปใช้แบบผิดๆ ครับ คือที่สังคมไทยบอกว่ามีรากฐานมาจากเถรวาท เป็นการเข้าใจผิดอย่างแรง คือเอาแต่ตัวรูปแบบคือการท่องจำ แต่ไม่เอาตัวเนื้อหาว่าก็คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ดังนั้น จึงยึดติดแต่รูปแบบหรือท่องอย่างเดียว ต้องเชื่อฟังอาจารย์อย่างเดียว ทำให้มันเพี้ยนครับ แล้วนักวิจารณ์เขาวิจารณ์ เขามองเถรวาทในฐานะรูปแบบครับ บางทีเขาจะพูดแบบเหมารวมไป ขอบคุณครับ
พระพรหมคุณาภรณ์: เอาละขอบใจ ใครจะมีความเห็นอะไรก็นิมนต์ แต่อย่าให้ยาวนัก เพราะเวลาของเราน้อย ใครอยากจะพูดอะไรไหมครับ
พระนวกะ: จากการที่ได้อ่านบทความ แล้ว ไปทำการบ้านหาข้อมูล เกี่ยวกับคำว่า "เถรวาท" จากที่มาต่างๆ แล้วถามความคิดเห็นจากอาจารย์ที่สอนทางด้านศาสนา ได้ข้อมูลหลายอย่าง ที่เห็นจุดบอดในการเขียนคอลัมน์นี้ว่ามีข้อมูลหลายอย่างที่มีความผิดพลาด
ถ้ายังไม่แตะเรื่องของเถรวาทการที่เขาเอาข้อมูลการประเมินระดับมหาวิทยาลัยของไทย ก็ผิดพลาด ในที่นี้บอกว่าติดอยู่แค่ครั้งเดียว มีติดมหาวิทยาลัยเดียวตอนการสำรวจครั้งแรก ครั้งที่สองไม่มีมหาวิทยาลัยไทยติดเลย
จากที่ผมได้ถามอาจารย์ที่คณะของผม ถ้าผู้รู้จริงๆ จะบอกได้ว่าการสำรวจจริงๆ มี 2 ครั้ง ครั้งแรกติดมหิดลกับจุฬาฯ ส่วนครั้งที่ 2 เหลือแต่มหิดลอยู่มหาวิทยาลัยเดียว นี่คือข้อมูลก็ผิด ในเรื่องของการใส่ใจกับรูปแบบการแต่งกายอะไรต่างๆ มันมีความสำคัญที่มันต้องให้เกิดความปลอดภัยกับนักศึกษา อันนี้คือผิวเผิน
แต่ว่าพอมาแตะในเรื่องของเถรวาท เขาใช้คำนี้เป็นการเหมาภาพรวมว่าการศึกษาไทยที่เป็นอยู่ทุกวันแบบท่องจำ ใช้กับคำว่า "ระบบ เถรวาท" คือท่องจำคำครู ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นคำที่ไม่ควรจะมาใช้ในบริบทแบบนี้ มันเป็น การเรียนแบบจำมากกว่า น่าจะใช้บริบทคำอื่นมากกว่านี้ คือ เขาไม่ให้ความหมายของเถรวาทอย่างชัดเจนจริงๆ
ซึ่งตามที่มาเถรวาทจากการที่ได้คุยกับอาจารย์ทั้งสองท่าน ก็บอกว่าในหลักฐานตามพระไตรปิฎกจริงๆ ไม่มีคำว่าเถรวาทปรากฏ คำว่า "เถรวาท" มาปรากฏหลังจากมีการสังคายนามาแล้วเมื่อเกิดแตกเป็นนิกายขึ้นมา ซึ่งคำว่าเถรวาทใช้โดยห่างช่วงกัน ขาดหาย ไม่มีการใช้ต่อเนื่องชัดเจนที่มา
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXhNREk0TVRJMU5BPT0=§ionid=TURNd053PT0=&day=TWpBeE1TMHhNaTB5T0E9PQ==ขอบคุณภาพจาก
http://upload.wikimedia.org/