สักการะ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ในอินเดีย-เนปาล
ครั้งหนึ่ง ในชีวิตของชาวพุทธ ที่ควรปฏิบัติ คือ การเดินทางไป สักการะสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในประเทศอินเดีย-เนปาล อันมี ๑.สถานที่ประสูติ ลุมพินี / เนปาล ๒.สถานที่ตรัสรู้ พุทธคยา / อินเดีย ๓.สถานที่แสดงปฐมเทศนา สารนาถ เมืองพาราณสี / อินเดีย และ ๔.สถานที่ปรินิพพาน สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา / อินเดีย
การเดินทางในประเทศอินเดีย หลายท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้วว่า มีความเหนื่อยยากลำบากพอสมควร เนื่องจากถนนหนทางไม่ดี รถราเยอะ ผู้คนไร้ระเบียบวินัย ทำให้เป็นปัญหาในการเดินทางที่ล่าช้า แต่ละช่วงต้องใช้เวลาในการเดินทางถึง ๕-๖ ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสกปรกของบ้านเมือง และขอทาน ที่มีเยอะมากในทุกแห่งหน
เรื่องต่างๆ เหล่านี้ ถ้าหากเราทำใจได้ ก็จะไม่เป็นปัญหา โดยคิดเสียว่า เราไปกราบพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของเรา สมัยพุทธกาลพระองค์ทรงลำบากกว่าเราหลายร้อยหลายพันเท่า พระองค์ก็อยู่ได้ จนตรัสรู้เป็นพระศาสดาที่มีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสทั่วโลก
การเดินทางไปแสวงบุญยังสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลนี้ ผู้ที่จะไปได้ต้องมี
๑.ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
๒.มีปัจจัยใช้จ่ายในการเดินทาง
๓.มีเวลา (ถ้ามีงานมากก็ต้องตัดออกไปให้ได้) และ
๔.มีสุขภาพที่แข็งแรง หรือถ้าไม่แข็งแรงก็ขอให้มี "ใจสู้" เพราะคนวัย ๗๐-๙๐ ปี เดินไม่ค่อยไหวก็ยังไปได้ โดยนั่งวีลแชร์ ซึ่งมีให้พบเห็นอยู่เสมอ
อย่างเช่นคณะที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามไปแสวงบุญด้วยนั้น ก็มีผู้สูงหลายท่าน อาทิ พระเดชพระคุณ หลวงปู่จำรัส (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี อายุ ๘๖ ปี พระเถราจารย์ที่ชาวเกาะสมุยให้ความเคารพนับถือกันมาก เป็นผู้นำคณะ พร้อมด้วยพระลูกศิษย์อีก ๔ รูป ในส่วนของฆราวาส มีคุณพ่อคุณแม่ของ คุณวชิระ สถิรกุล เจ้าของสมุยนาเทียนรีสอร์ท อ.เกาะสมุย ซึ่งมีอายุ ๘๙-๘๘ ปี รวมทั้งหมด ๑๕ รูป/คน
การเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงสนามบินแห่งชาติของอินเดีย คือ สนามบินอินทิรา คานธี กรุงนิวเดลี หรือไปลงที่สนามบินคยา (ที่ตั้งของพุทธคยา) ใช้เวลาบินประมาณ ๔ ชั่วโมง เวลาที่อินเดียช้ากว่าเมืองไทย ๐๑.๓๐ ชั่วโมง 
จุดแรกที่ไปสักการบูชาเมื่อไปถึง คือ พุทธคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ พระธรรมวิทยากร (พระสงฆ์ไทย) ในสายงานพระธรรมทูตอินเดีย ผู้ทำหน้าที่เหมือนคนนำทาง ได้พาเข้าสักการะ พระพุทรเมตตา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า ๑ พันปี,
สักการะพระแท่นวัชรอาสน์ และสัตตมหาสถานที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุข หลังตรัสรู้ ๗ แห่งในบริเวณนี้ ซึ่งเนืองแน่นไปด้วยชาวพุทธจากนานาประเทศ โดยเฉพาะพระสงฆ์ชาวทิเบต มีมากกว่าชาติอื่นๆ รวมทั้งคณะศรัทธาชาวไทย ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส หลายคณะด้วยกัน
คณะของเราโชคดีที่มีโอกาสได้ถวาย ข้าวมธุปายาส แด่หลวงพ่อพระพุทธเมตตา ซึ่งหัวหน้าทัวร์ได้สั่งทำไว้ล่วงหน้า และได้ห่มผ้าองค์พระพุทธเมตตา พร้อมทั้งสักการบูชาด้วยการปฏิบัติทักษิณาวรรต เวียนรอบพระมหาเจดีย์พุทธคยา รวมทั้งต้นศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเริ่มผลัดใบ
และที่พิเศษคือ มีโอกาสได้นั่งสวดมนต์บูชาพระพุทธเจ้า และนั่งสมาธิ ซึ่งบางคนที่ไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติในยามอยู่บ้านที่เมืองไทย ไปอินเดียจะได้ทำกันทุกวัน ทั้งที่สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล และสถานที่เกี่ยวเนื่องทุกแห่ง รวมทั้งขณะเดินทางด้วยรถโค้ชปรับอากาศ โดยพระธรรมวิทยากร ผู้บรรยายความเป็นมาของพุทธสถานทุกแห่งที่ไปสักการะ รวมทั้งเรื่องราวของชาวอินเดีย และบรรยากาศ ๒ ข้างทางรถที่ผ่านไป พร้อมทั้งทำบรรยากาษบนรถโค้ชปรับอากาศให้เป็นอุโบสถ โดยนำสวดมนต์ทำวัตรเช้าวัตรเย็นทุกวัน
จากพุทธคยา วันรุ่งขึ้นได้ออกเดินทางสู่เมืองพาราณสี ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๕ ชั่วโมง ไปถึงแล้วได้ล่องเรือชมการอาบน้ำล้างบาปบูชาพระอาทิตย์ของชาวอินเดีย ริมฝั่งแม่น้ำคงคา พร้อมทั้งลอยประทีปบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระแม่คงคา
จากนั้นไปสักการบูชา ธัมเมกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ใกล้เมืองพาราณสี (สารนาถ) สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ เสร็จแล้วเข้าพักที่โรงแรม ๑ คืน วันรุ่งขึ้นเดินทางสู่เมืองกุสินารา ระยะทางประมาณ ๒๗๕ กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๗ ชั่วโมง
ที่เมืองกุสินารา ได้สักการะสถูปอันเป็นที่สถานที่ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานองค์ใหญ่ สวดมนต์ไหว้พระ และทำสมาธิภาวนา ที่ตรงนี้เมื่อต้นปีนี้ยังไม่ได้กั้นเชือกล้อมองค์พระพุทธรูป
แต่ไปคราวนี้มีเชือกกั้นเอาไว้ไม่ให้คนเข้าไปสัมผัสองค์พระพุทธปฏิมา แต่ถ้าขออนุญาตยามชาวอินเดียที่เฝ้าดูแลอยู่ เขาก็ให้เข้าไปปิดทองได้ ส่วนใหญ่คนไทยนิยมเอาศีรษะไปทาบกับพระบาทของพระพุทธรูปด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด บางคนปลาบปลื้มปีติมาก ถึงกับหลั่งน้ำตาก็มี
จากนั้นพระธรรมวิทยากร ได้นำไปสักการะ มกุฎพันธเจดีย์(สถูป) สถานที่ถวายพระเพลิงพระสรีระสังขารของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันเป็นซากสถูปทรงกลมขนาดใหญ่ ทุกคนนั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ เสร็จแล้วเดินทางไปทำบุญทอดผ้าป่าที่ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งมี พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เป็นเจ้าอาวาส ผู้มีผลงานอย่างมากมายในการสร้างวัดไทยทั้งที่อินเดียและเนปาล
ที่วัดไทยแห่งนี้ มีพระอุโบสถและเจดีย์ทรงไทยอย่างสวยงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ได้รับจากข้าหลวงใหญ่ ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งปกครองประเทศอินเดีย ในสมัยที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ
เข้าไปที่วัดนี้แล้วมีความรู้สึกว่า กำลังอยู่ในเมืองไทย เพราะเป็นบรรยากาศไทยๆ ได้พบเห็นวัตรปฏิบัติของพระคุณเจ้าทุกรูปแล้ว น่าศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง และที่วัดแห่งนี้ ยังได้เปิด โรงพยาบาล ขนาดเล็ก
สำหรับรักษาอาการป่วยไข้ของชาวอินเดียพื้นบ้านแถบนี้ โดยได้ว่าจ้างนายแพทย์ชาวอินเดีย เป็นผู้ดูแลรักษา เก็บค่าบริการเพียงคนละ ๘ รูปี (ประมาณ ๕ บาท) เท่านั้น รักษาทุกโรค (เฉพาะวันพระฟรีทุกอย่าง) สำหรับค่ายาส่วนใหญ่ได้รับจากการทำบุญบริจาคของคนไทย
ออกจากเมืองกุสินารา คราวนี้จะเดินทางผ่านด่านไปประเทศเนปาล ระยะทางประมาณ ๑๖๐ กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ ชั่วโมง ระหว่างทางจะลงแวะ วัดไทยนวราชรัตนาราม (๙๖๐) วัดเล็กๆ ก่อนถึงชายแดนเนปาลเล็กน้อย เพื่อทำธุระส่วนตัว เข้าห้องน้ำ ดื่มน้ำชากาแฟ และรับประทานโรตีร้อนๆ ที่ทางวัดจัดเตรียมต้อนรับตลอดเวลา

เสร็จธุระแล้วขึ้นรถผ่านเข้าเขตประเทศเนปาล ตรงไปสักการะ สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า สวนพินีวัน โบราณสถานแห่งนี้ประกอบด้วย สระโบกขรณี เสาศิลาจารึก พระเจ้าอโศกมหาราช มายาเทวีวิหาร ซึ่งภายในมีซากกิฐเก่า และรอยพระพุทธบาท ที่เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่แท้จริงของพระพุทธองค์ เมื่อต้นปีนี้สถานที่ภายในวิหารแห่งนี้ ยังถ่ายภาพได้ แต่ทุกวันนี้มีคำสั่ง ห้ามถ่ายภาพ
ต่อมาคณะได้เดินทางไปทอดผ้าป่าที่ วัดไทยลุมพินี แล้วเดินทางกลับประเทศอินเดีย เพื่อเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินกลับเมืองไทยต่อไป
ตลอดระยะเวลา ๘ วัน ๗ คืน ที่คณะของเราได้ร่วมเดินทางแสวงบุญในดินแดนพุทธภูมิแห่งนี้ ถามว่า เหนื่อยไหม ต้องบอกตามตรงว่า เหนื่อยพอสมควร จากการนั่งรถในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ต้องใช้เวลาเดินกว่า ๔ ชั่วโมงขึ้นไป แต่ก็หายเหนื่อยเมื่อได้ไปถึงพุทธสถานแต่ละแห่ง ที่ได้กราบไหว้สักการบูชาพระพุทธเจ้าในถิ่นกำเนิดของพระองค์ จนทุกรูป/คน บอกว่า ปีหน้าจะไปแสวงบุญกันอีก โดยให้บริษัท ทรัพย์พันแสน จัดให้เหมือนเดิม เพราะเท่าที่ผ่านมา ๘ วัน ๗ คืน บริการได้ดีมาก ถูกใจทุกรูป/คนในคณะนี้ที่มา
สักการะสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ในอินเดีย-เนปาล อย่างมีความสุข
เรื่อง : แล่ม จันท์พิศาโล / ภาพ : วชิระ สถิรกุล
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20111229/118948/สักการะสังเวชนียสถาน๔ตำบลในอินเดียเนปาล.html