ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานรัก ตำนานสร้างวัดของ.."เจ้าชายสายน้ำผึ้ง-แม่นางสร้อยดอกหมาก"  (อ่าน 2252 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ตำนานรัก ตำนานสร้างวัดของ.."เจ้าชายสายน้ำผึ้ง-แม่นางสร้อยดอกหมาก"
โดยเรื่อง / ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

        ตำนานรักเรื่อง “เจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก” เป็นตำนานแห่งการสร้างวัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา หรือวัดพระเจ้าแพนงเชิง หรือวัดพระนางเชิญ ก็มี เป็นวัดที่ได้รับความเคารพนับถือของชาวไทยและจีน รวมถึงชาวต่างชาติอย่างไม่ขาดสาย ด้วยมีความเชื่อกันว่า  เจ้าแม่สร้อยดอกหมากสามารถดลบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้ได้สมปรารถนาดังที่ขอไว้ได้ทุกเรื่องทุกประการ
 
       “ตั้งแต่อยู่วัดพนัญเชิงมา มีเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จของคนมาขอพรกับเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนับครั้งไม่ถ้วน ที่ยอดฮิตคือ การขอพรเรื่องความรัก และการขอบุตร มีบางคนนำชุดแต่งงานมาถวาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกประคำ รวมทั้งทองคำ”
       นี่เป็นคำบอกเล่าของพระเทพรัตนากร หรือเจ้าคุณแวว เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง
 
       สำหรับตำนานรักเจ้าชายสายน้ำผึ้งกับพระนางสร้อยดอกหมาก เจ้าคุณแวว เล่าว่า โบราณนานมาแล้ว มีเด็กหญิงเล็กๆ คนหนึ่ง เกิดอยู่ในจั่นหมากพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงนำมาเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และได้ให้นามนางว่า “นางสร้อยดอกหมาก”
 
       เมื่อนางสร้อยดอกหมากเจริญวัยขึ้น นางมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก พระเจ้ากรุงจีนทรงโปรดให้โหรทำนายว่าในกาลภายหน้า พระนางสร้อยดอกหมากจะคู่ควรกับกษัตริย์เมืองใด โหรพิเคราะห์ดูแล้วกล่าวว่า คู่ของนางจะเป็นกษัตริย์กรุงไทย อยู่ทางทิศตะวันตกเป็นผู้มีบุญญาอภินิหารมากนัก 
       พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังคำโหรทำนายดังนั้น ก็ทรงพอพระทัยยิ่งนัก ทางด้านกรุงไทย ขณะนั้นกำลังว่างผู้ปกครองแผ่นดินและไม่มีรัชทายาทจะสืบราชสมบัติ ต่อมาบรรดาเสนาอำมาตย์และสมณชีพราหมณ์ จึงทำพิธีเสี่ยงเรือสุวรรณหงส์เอกชัย เพื่อเสาะหาผู้มีบุญวาสนามาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
 
      เมื่อเรือแล่นไปถึงยังที่แห่งหนึ่งที่ริมฝั่ง มีเด็กเลี้ยงโคกำลังเล่นกันอยู่ เรือสุวรรณหงส์เอกชัยจอดหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนอีกต่อไป แม้เหล่าฝีพายจะพยายามสักเท่าไรเรือก็ไม่เคลื่อนที่ เหล่าอำมาตย์เห็นเช่นนั้น รู้สึกอัศจรรย์ใจและเกิดสังหรณ์ใจ จึงเดินเข้าไปในกลุ่มเด็กเลี้ยงโคที่กำลังเล่นกันอยู่
       พบเด็กชายคนหนึ่งท่าทางฉลาดพูดจาตอบโต้ฉาดฉาน เหล่าอำมาตย์ต่างก็คิดว่า “ชะรอยเด็กคนนี้คงเป็นผู้มีบุญ  กิริยาท่าทางจึงต่างกับเด็กคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด แม้การเจรจากับเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าก็ฉลาดหลักแหลม” เมื่อคิดดังนั้นแล้วเหล่าอำมาตย์จึงพร้อมใจกันอัญเชิญเด็กชายคนนั้นมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองกรุงไทยต่อไป

 

       เมื่อพระเจ้ากรุงไทยพระองค์ใหม่ได้ขึ้นปกครองแผ่นดิน ทรงปกครองบ้านเมืองเป็นปกติสุข ครั้งหนึ่งพระองค์โปรดให้ยกขบวนพยุหยาตราไปทางชลมารคพร้อมกับเหล่าเสนาบดี เมื่อเสด็จมาถึงยังหัวแหลมวัดปากคลอง เป็นเวลาน้ำขึ้น
       จึงตรัสสั่งให้จอดเรือพระที่นั่งอยู่หน้าวัด ทรงทอดพระเนตรเห็นผึ้งจับอยู่ที่อกไก่ใต้ช่อฟ้าหน้าบันของโบสถ์จึงทรงดำริว่า “จะขอนมัสการพระพุทธปฏิมากร ด้วยเดชะบุญญาภิสังขารของเรา เพื่อจะได้ครองไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ ขอให้น้ำผึ้งหยดลงมากลั้วเอาเรือขึ้นไปประทับแทนกำแพงแก้วนั้นเถิด”

       หลังตรัสจบน้ำผึ้งก็หยดลงมากลั้วเอาเรือพระที่นั่งยกขึ้นไปถึงที่ทันที เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ตาของเสนาบดีน้อยใหญ่ พระเจ้ากรุงไทยจึงเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร โดยเปลื้องพระภูษาทรงสักการะพระพุทธปฏิมากร เสร็จแล้วจึงเสด็จลงเรือประทับพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งก็ถอยลงมาตามเดิม บรรดาภิกษุสงฆ์และเหล่าเสนาบดีต่างก็พากันถวายพระพรชัยและถวายพระนามพระเจ้ากรุงไทยว่า “ พระเจ้าสายน้ำผึ้ง”
 
       ครั้นถึงเวลาน้ำลง พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงมีรับสั่งให้เหล่าเสนาบดีกลับไปรักษาพระนคร ส่วนพระองค์นั้นเสด็จไปโดยเรือพระที่นั่งเอกชัยเพียงลำเดียว เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ด้วยอำนาจแห่งราชกุศลที่สร้างมาแต่ปางหลัง จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย จนกระทั่งลุถึงกรุงจีน ชาวจีนทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงนำความขึ้นทูลว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์นี้มีบุญญาธิการมาก
 
      พระเจ้ากรุงจีนจึงรับสั่งให้เสนาบดีผู้ใหญ่ไปสืบดูว่าพระเจ้ากรุงไทยมีบุญญาธิการจริงหรือไม่ เสนาบดีจีนออกไปทูลเชิญพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่อ่าวนาค ซึ่งเป็นที่ที่มีภยันตรายมาก ตกเพลาค่ำเสนาบดีจีนใช้ทหารไปสอดแนมดูว่า “เหตุการณ์ร้ายแรงอันใดจะเกิดขึ้นหรือไม่” มีแต่เสียงดุริยางค์ดนตรีเป็นที่ครึกครื้น

     ในคืนต่อมาเสนาบดีจึงทูลเชิญเสด็จพระเจ้าสายน้ำผึ้งประทับที่มีอันตรายมากขึ้นไปอีก เหตุการณ์ยังเหมือนคืนก่อนเมื่อพระเจ้ากรุงจีนได้ทรงทราบก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง และให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง

 

    เมื่อเวลาผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนให้นำสำเภาห้าลำพร้อมด้วยเครื่องอุปโภคเป็นอันมาก เมื่อถึงปากน้ำพระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน เมื่อจัดตำหนักซ้ายขวาเสร็จก็จัดขบวนมารับพระนางสร้อยดอกหมากจากเรือ โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย

     พระนางสร้อยดอกหมากจึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ กล่าวว่า “มาด้วยพระองค์ก็โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับก็จะไม่ไป”
 
     เสนาบดีนำเนื้อความไปกราบทูลพระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่นจึงกล่าวสัพยอกว่า “เมื่อมาถึงแล้วจะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด” เมื่อพระนางทราบเนื้อความจึงสำคัญว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งพูดจริง จึงน้อยพระทัยและเศร้าพระทัยยิ่งนัก ครั้นรุ่งเช้าเมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งจัดกระบวนแห่มารับ และเสด็จมาด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นไปบนสำเภา พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่าพระองค์
 
     พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เอาล่ะ เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น ด้วยความน้อยพระทัยนางจึงกลั้นพระทัยตายทันที
     พระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงเสียพระทัยมาก โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระศพของพระนางขึ้นมาพระราชทานเพลิง ท่ามกลางความอาลัยรักของประชาชนชาวจีนและชาวไทย จึงทรงสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระนางสร้อยดอกหมาก และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระนางเชิญ” แต่นั้นมา



งานวันเกิดเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก
 
      ผู้ที่มากราบไหว้ขอพรเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก บ้างก็มีความเชื่อในเรื่องของความรัก คู่ครอง และการขอบุตรจากเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เมื่อได้สมหวังดังที่ขอ บ้างก็มีการบนบานสานกล่าวด้วยผ้าแพร ไข่มุก เรือสำเภา หรือนำสิงโตมาเชิด ก็มีการบอกต่อหรือเล่าขานต่อๆ กันมา จนเป็นความเชื่อ โดยถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณีคือ เมื่อมานมัสการองค์หลวงพ่อโตในพระวิหารเสร็จจะต้องแวะมาสักการะเจ้าแม่สร้อยดอกหมากด้วย
 
       ส่วนการจัดงานประจำปีเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก เจ้าคุณแววบอกว่า เดิมทีนั้นไม่มีกำหนดวันแน่นอน จะจัดอยู่ ๒ วัน คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เช่นเดียวกับหลวงพ่อโต จะมีกำหนดงานการจัดวัน ๔ วัน คือ วันที่ ๙ วันที่ ๑๐ วันที่ ๑๑ หรือวันที่ ๑๒ เดือนเมษายน ทั้งนี้ กำหนดงานจะเป็นไปตามวันว่างของคณะงิ้ว จึงเรียกคณะกรรมการวัดมาประชุมเพื่อกำหนดวันงานทุกๆ ปี ที่แน่นอน โดยพิจารณาว่าในอดีตที่ผ่านมาเลือกวันใดจัดงานมากที่สุด
 
      ในที่สุดก็มีข้อสรุปว่า งานสมโภชหลวงพ่อโต (งานวันเกิด) จัดวันที่ ๑๑ เมษายน มีการนิมนต์พระมาทำบุญไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ รูป ส่วนวันงานสมโภชเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก (งานวันเกิด) จัดวันที่ ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งตรงกับวันลอยกระทง มีการนิมนต์พระมาทำบุญไม่ต่ำกว่า ๔-๕๐๐ รูป



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20120214/122909/ตำนานรักตำนานสร้างวัดของ...เจ้าชายสายน้ำผึ้งแม่นางสร้อยดอกหมาก.html
ขอบคุณภาพจาก http://www.hohew.com/,http://www.oknation.net/,http://www.moohin.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ