« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 27, 2012, 02:26:59 pm »
0
...ในภาพ...
เจ้าชายเทวทัตเสด็จมาพบพญาหงส์อยู่กับเจ้าชายสิทธัตถะ
ก็ได้ขอทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งพญาหงส์นั้นไปเสียให้ได้
โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้
วันหนึ่งในฤดูร้อน พญาหงส์สีขาวสะอาดตัวหนึ่ง
บินนำฝูงผ่านพระอุทยานของพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์
บ่ายหน้าไปทางทิศเหนือสู่ถิ่นพำนัก ณ ยอดเขาหิมาลัยโพ้น
ความขาวของฝูงหงส์ ซึ่งทาบอยู่บนท้องฟ้าสีครามดูประหนึ่งทางช้างเผือก
ยังความนิยมยินดีให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งนัก แต่สำหรับ พระเทวทัตกุมาร มิได้เป็นเช่นนั้น
น้ำพระทัยของเจ้าชายองค์น้อยนี้ เป็นพาลเหี้ยมโหดมุ่งแต่จะทำลายเป็นที่ตั้ง
พอทอดพระเนตรเห็นฝูงหงส์ เธอก็ทรงยกลูกศรขึ้นพาดสาย น้าวคันธนูจนเต็มแรงยิงออกไปทันที
ลูกศรนั้นวิ่งขึ้นไปถูกพญาหงส์สีขาวซึ่งกำลังบินร่อนร่าเริงใจอยู่บนอากาศ ถลาตกลงสู่เบื้องล่างทันที
ขณะนั้น พระสิทธัตถกุมาร พระโอรสแห่งพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์
กำลังทรงสำราญอยู่ในพระอุทยานนั้นด้วย ทรงทอดพระเนตรเห็น พญาหงส์
ร่วงตกลงมาในเขตพระอุทยาน พระองค์จึงละเสียจากการเล่นโดยสิ้นเชิง แล้วรีบเสด็จออกไปค้นหา
ในที่สุดก็พบนกที่น่าสงสารนั้นกำลังดิ้นรน กระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวดอยู่บนพื้น
โดยที่ปีกข้างหนึ่งของมันมีลูกศรเสียบทะลุคาอยู่ เจ้าชายองค์น้อยบังเกิดความเวทนายิ่งนัก
ทรงอุ้มหงส์นั้นขึ้นจากพื้น ประคองกอดแต่เบาๆ มิให้วิหคเคราะห์ร้ายตื่นตกใจ
ทรงชักลูกศรที่เสียบอยู่บนปีกนั้นออกเสีย
แล้วทรงนำใบไม้ที่มีรสเย็นมาปิดบาดแผลเพื่อให้โลหิตหยุดไหล
เจ้าชายน้อยทรงรำพึงถึงความทุกข์ของพญาหงส์
อันมีกายปรากฏเป็นบาดแผลใหญ่แล้ว ก็ทรงทอดถอนพระหฤทัย
พระกุมารนั้นแม้จะมีพระชนมายุเพียง ๘ พระชันษา ยังทรงพระเยาว์นัก
ชอบที่จะแสวงสุขอย่างเด็กอื่นๆ แต่พระองค์กลับคิดใคร่ครวญถึงความเจ็บปวดของพญาหงส์
อันความทุกข์สำแดงอยู่ในเวลานั้น จึงทรงปลอบนกด้วยพระวาจาอ่อนหวาน
และอุ้มกอดมันไว้กับทรวงอกให้อบอุ่น ทั้งลูบขนปลอบโยนให้คลายความหวาดกลัว
เมื่อพระเทวทัตกุมาร ผู้เป็นพระญาติเรียงพี่เรียงน้องของพระสิทธัตถกุมาร
เสด็จมาพบเข้าก็ทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งนกนั้นไปเสียให้ได้
โดยอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของนกตัวนั้นเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้
พระสิทธัตถกุมารทรงปฏิเสธที่จะมอบนกให้โดยตรัสว่า
“ถ้านกตายมันจึงจะเป็นของผู้ยิง แต่เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่
ควรจะเป็นของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือมัน
เรามิเคยมีใจที่จะมอบนกตัวนี้ให้กับใครทั้งสิ้นตราบใดที่มันยังคงบาดเจ็บอยู่”
ต่างฝ่ายก็ไม่ยินยอมต่อกัน ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสนอขึ้นว่า
“ข้อพิพาทนี้ควรจักต้องนำไปให้บรรดานักปราชญ์ของแผ่นดิน
พิพากษาตัดสินชี้ขาดในที่ประชุม” เจ้าชายเทวทัตก็เห็นด้วย
ณ ที่ประชุมนักปราชญ์แห่งนครกบิลพัสดุ์
ในวันนั้นได้ยกกรณีพิพาทเรื่องหงส์ตัวนี้ขึ้นมาพิจารณา มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมาก
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เจ้าชายเทวทัตควรเป็นเจ้าของนก เพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้
อีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่า นกควรเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ
เพราะเป็นผู้พบมันก่อนและได้ช่วยชีวิตมันเอาไว้
เมื่อมีผู้แสดงความคิดเห็นแตกแยกขัดแย้งกันดังนี้ การประชุมก็ไม่เป็นที่ยุติลงได้
จนในที่สุดมี นักปราชญ์ท่านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครรู้จักพบเห็นมาก่อน
ได้ก้าวออกมาและพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงอันดังท่ามกลางที่ประชุมนั้นว่า
“ในโลกนี้ชีวิตเป็นของล้ำค่ายิ่ง ไม่ว่าใครก็ต่างรักและหวงแหนชีวิตตน
ผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์ได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้ชีวิต
แต่ผู้ที่ทำลายชีวิตสัตว์ให้ดับล่วงไปได้ชื่อว่า เป็นผู้เข่นฆ่า
ผู้ใดกรุณาต่อสัตว์ เป็นผู้ช่วยเหลือสัตว์ บุคคลนั้นจึงสมควรเป็นเจ้าของ
ดังนั้น ขอให้นกตัวนี้จงเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ที่ช่วยชีวิตมันไว้เถิด”
ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับ
ถ้อยคำอันมีเหตุผลเที่ยงธรรมของนักปราชญ์ผู้นั้น
จึงตัดสินให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้รับเอาหงส์
ซึ่งพระองค์ได้ทรงพยายามช่วยชีวิตนั้นไป
หลังจากนั้นพระกุมารน้อยทรงเอาพระทัยใส่ดูแลนกนั้นอย่างเอื้ออารีที่สุด
จนกระทั่งบาดแผลของมันหายสนิท มีกำลังวังชาฟื้นคืนดีแล้ว
พระองค์ก็ทรงปล่อยมันให้บินกลับไปอยู่รวมฝูงกับพวกพ้องของมัน
ในสระกลางป่าลึกด้วยความผาสุกสืบไป
พระสิทธัตถกุมารองค์น้อยนี้แหละ ในกาลต่อมาคือ พระบรมศาสดา
ผู้ประกาศพุทธศาสนาด้วยหลักธรรมแห่งเมตตา
ให้บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ เทพยดา และยักษ์มารอสูร
ได้ประจักษ์แจ้งในสัทธรรมอันสูงสุด
พระปรีชาญาณและดวงหทัยอันเปี่ยมไปด้วยมหาเมตตาคุณ
ได้ฉายแสงปรากฏให้ชนทั้งหลายได้ชื่นชมตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมา
**************************************************ที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=39873
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 27, 2012, 02:39:47 pm โดย jaravee »

บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ