« เมื่อ: มีนาคม 11, 2012, 02:07:20 pm »
0
ออกแบบห้องน้ำสาธารณะ - ชีวิตกับธรรมชาติ
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร มีสภาพอากาศร้อนชื้น แสงแดดทำให้อุณหภูมิสูงกระจายไปทั่ว ขณะเดียวกันก็มีความชื้นในอากาศสูง อันเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ดังนั้นการออกแบบที่อยู่อาศัยไม่ให้มีความร้อนและความชื้นสะสมอยู่ภายในอาคารต้องคำนึงในแต่ละด้าน เช่น จัดวางแนวอาคารให้ด้านยาวของอาคารอยู่ในแนวแกนตะวันออก-ตก เพื่อรับลมธรรมชาติจากทางทิศใต้ และเพื่อให้ด้านแคบของอาคารรับแดดทางตะวันออกและตะวันตก ซึ่งมีความร้อนสูง และเราไม่ควรเปิดหน้าต่างหรือช่องเปิดใด ๆ ในด้านนี้
ในแต่ละพื้นที่ห้องภายในอาคาร ควรมีช่องเปิด อย่างน้อยสองด้านและกว้างเพียงพอ เพื่อให้มีการระบายอากาศตามธรรมชาติ คือมีการเข้าและออกของลม
กำหนดให้มีชายคาที่ยื่นยาวเพียงพอ เหมาะสม เพื่อให้เกิดร่มเงาแก่ช่องเปิด และการใช้พื้นที่อาคาร
พยายามจัดสภาพแวดล้อมภายนอกอาคารด้วยต้นไม้พืชพรรณ เพื่อปรับอุณหภูมิของอากาศที่แวดล้อมอาคารให้ลดลงและมีความเย็น เพื่อให้ลมธรรมชาติพัดเข้าไปแทนที่ความร้อนในอาคารก่อให้เกิดความเย็นสบายในอาคาร
โดยสรุปคือการออกแบบในเมืองไทย ควรคิดถึงคำสั้น ๆ สองคำ คือ
ต้อง “โล่ง” และ “ร่ม” จึงจะเย็นสบาย
ในปีที่ผ่านมาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้เปิดศูนย์สถาปัตยกรรมเพื่อประชาชนและสภาพแวดล้อม หรือ SCAPE เพื่อให้บริการแจกแบบก่อสร้างอาคารสำเร็จรูปฟรี
ตลอดจนให้คำปรึกษา ชี้แนะการวางผัง ตกแต่ง และภูมิทัศน์ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ชุมชนหรือองค์กรทางสังคม ที่มีรายได้น้อย ได้มีโอกาสรับแบบที่มีมาตรฐานเพื่อนำไปใช้ในก่อสร้าง
ซึ่งมีทั้งประชาชน ชุมชน รวมถึงพระสงฆ์ สนใจเข้ามาขอรับแบบบ้าน และกุฏิเพื่อนำไปสร้าง และใช้ประโยชน์กันอย่างมากมายเมื่อปีที่แล้ว
ดร.มณฑล จันทร์แจ่มใส รองคณบดีฝ่ายบริหารและแผนงาน คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กล่าวว่า
สำหรับปีนี้ คณะฯ ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแจกแบบอาคารอเนกประสงค์ขนาดกลาง ที่ชุมชน หรือวัดสามารถนำไปสร้างได้ รวมถึงการออกแบบห้องน้ำสาธารณะ ที่ใช้หลักการออกแบบ Universal Design คือ การออกแบบสภาพแวดล้อม สถานที่ และสิ่งของ ที่ทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้ ทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งเหมาะกับวัดที่ยังไม่มีห้องน้ำที่ได้มาตรฐาน
เพราะมีการดีไซน์ครบถ้วน มีทั้งห้องน้ำ และห้องอาบน้ำในตัว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผมอยากให้วัดมีห้องน้ำดี ๆ ที่มีการออกแบบ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอย ถูกสุขภาวะ มีการระบายอากาศที่ดี รวมถึงมีความสวยงามด้วย ถ้าวัดไหนสนใจสามารถมารับแบบฟรีนำไปสร้างได้
รองคณบดีฝ่ายบริหารและแผนงาน กล่าวว่า
ในกลางปีศูนย์ฯมีโครงการออกแบบอาคาร บ้านเรือน ที่ป้องกันภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วม โดยจะนำภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนในการสร้างบ้านที่สามารถอยู่ร่วมกับน้ำท่วมได้ สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ประกอบได้ง่าย มีโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบา รวมถึงบ้านที่รองรับแผ่นดินไหว อีกด้วย
นอกจากนี้ มีโครงการที่จะออกแบบบ้านหลังวัยเกษียณ โดยเฉพาะข้าราชการวัยเกษียณ ซึ่งส่วนใหญ่ชอบใช้ชีวิตในบ้านสวน หรือต้องการมีสวนเล็ก ๆ ตามชานเมือง ที่มีความต้องการบ้านพักอาศัยขนาดกะทัดรัด อยู่กับธรรมชาติ ซึ่งมีรูปแบบที่ต้องตอบสนองกับผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องวัสดุ ทางกายภาพ การเดิน การเคลื่อนไหว การป้องกันอุบัติเหตุ มีห้องน้ำที่กว้างขวาง และไม่ลื่น ฯลฯ งบประมาณไม่เกิน 300,000 บาท
“คนเป็นสถาปนิก ไม่ได้มีแค่การออกแบบอาคารสูง สวย ๆ หรู ๆ หรือห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานเล็ก ๆ อย่าง กุฏิ ศาลา หรือห้องน้ำ ที่มักจะถูกก่อสร้างขึ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน ซึ่งเรามักจะพบเห็นบ่อย ๆ ในกรณีของอาคารสาธารณะทั่วไป”
หากประชาชนต้องการปรึกษาเรื่องการออกแบบ รวมถึงการก่อสร้าง
สามารถโทรฯมาได้ที่ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โทร.0-2522-6637.ขอบคุรข้อมูลและภาพจาก
http://www.dailynews.co.th/article/728/16556