ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อธิบาย "อิทธิบาท ๔" โดยพิสดาร(ไม่ควรพลาด)  (อ่าน 9841 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

อธิบาย "อิทธิบาท ๔" โดยพิสดาร

อิทธิบาทสี่ คือ อะไร

คำอธิบายอิทธิบาทสี่จาก อิทธิบาทวิภังค์ วิภังค์ข้อ ๕๐๕
     อิทธิ หมายถึง ความรุ่งเรือง ความสำเร็จ บาท หมายถึง อุบายเครื่องบรรลุ
     ดังนั้น โดยคำแปล อิทธิบาทจึงหมายถึง วิธีการที่ทำให้บรรลุความสำเร็จ
     อิทธิบาทสี่ ซึ่งเป็นธรรมหมวดหนึ่งของโพธิปักขิยธรรม
     ท่านหมายถึง สมาธิอันเกิดจากสาเหตุของธรรมสี่ประการ และเีรียกชื่อของสมาธิเหล่านั้นตามสาเหตุของธรรมเหล่านั้น ดังนี้


     "อิทธิบาทสี่ คือ
           ๑. ภิกษุในศาสนานี้ เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
           ๒. เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิริยสมาธิปธานสังขาร
           ๓. เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยจิตตสมาธิปธานสังขาร
           ๔. เจริญอิทธิบาท อันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิปธานสังขาร"

                   (จบอิทธิบาทวิภังค์ วิภังค์ข้่อ ๕๐๕)



ฉันทสูตร อธิบายอิทธิบาทสี่ จาก สํ.ม.ข้อ ๑๑๕๐
      คำว่า ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ
      ฉันทะในที่นี้ หมายถึง กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความอยากทำ ความใคร่ที่จะทำด้วยความพอใจ สมาธิ ความตั้งใจมั่นในอารมณ์ที่ตั้งใจไว้ จนได้ถึงอุปจาระและอัปปนาสมาธิปธานสังขาร เครื่องปรุงแต่งความเพียร
      ท่านหมายถึง สัมมัปปธานสี่
      วิริยะ การตั้งความเพียร
      จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ เอาใจจดจ่ออยู่แต่สิ่งนั้น
      วิมังสา ปัญญา การหมั่นตรึกตรองพิจารณา
      (พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระราชวรมุนี)

     ฉันทสมาธิปธานสังขาร หมายถึง สมาธิที่เกิดจากการประกอบความเพียร ซึ่งมีฉันทะ ความพอใจอยากจะทำเป็นหัวหน้าใหญ่ หรือเป็นต้นเหตุ
     วิริยสมาธิปธานสังขาร หมายถึง สมาธิที่เกิดจากการประกอบความเพียร โดยมีความเพียรเป็นหัวหน้าใหญ่     
     จิตตสมาธิปธานสังขาร หมายถึง สมาธิที่เกิดจากการประกอบความเพียร โดยมีความเอาใจจดจ่ออยู่ เป็นหัวหน้าใหญ่
     วิมังสาสมาธิปธานสังขาร หมายถึง สมาธิที่เกิดจากการประกอบความเพียร โดยมีปัญญาพิจารณาอยู่ เห็นหัวหน้าใหญ่


ถามว่า ปัญญาพิจารณาอะไร?
ตอบว่า พิจารณาจิตในขณะนั้น หากจิตย่อหย่อนก็ให้ปลอบจิต ถ้าจิตหดหู่ก็ให้ยกจิตขึ้น ถ้าจิตฟุ้งซ่านก็ให้ข่มจิต (ดูรายละเอียดในหัวข้ออาหารของสมาธิที่จะกล่าวต่อไป)

    "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุอาศัยฉันทะแล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต นี้เรียกว่า ฉันทสมาธิ
     เธอยังฉันทะให้เกิด พยายาม ตั้งความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้
     เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น เพื่อความตั้งอยู่ เพื่อความไม่เลือนหาย เพื่อเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญบริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เหล่านี้เรียกว่า ปธานสังขาร
      ฉันทะนี้ด้วย ฉันทสมาธินี้ด้วย และปธานสังขารเหล่านี้ด้วย เรียกว่า อิทธิบาท ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร (วิริย..จิตตะ...วิมังสา ก็ทำนองเดียวกัน)

      (จบฉันทสูตร สํ.ม.ข้อ ๑๑๕๐)



วิภังคสูตร วิธีเจริญอิทธิบาทสี่ จาก สํ.ม.ข้อ (๑๑๗๙-๑๒๐๔)
     "ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทสี่เหล่านี้ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็อิทธิบาทสี่อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
     ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า
     ฉันทะของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไปไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ้านไปในภายนอก
     และเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น
     กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น
     เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรห่อหุ้ม อบรมจิตให้สว่างอยู่

     ภิกษุทั้งหลาย ก็ฉันทะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน?
     ฉันทะที่ประกอบด้วยความเกียจคร้าน สัมปยุตด้วยความเกียจคร้าน นี่เรียกว่า ฉันที่ที่ย่อหย่อนเกินไป

     ก็ฉันทะที่ต้องประคองเกินไปเป็นไฉน?
     ฉันทะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ สัมปยุตด้วยอุทธัจจะ นี้เรียกว่า ฉัททะที่ต้องประคองเกินไป


     ก็ฉันทะที่หดหู่ในภายในเป็นไฉน?
     ฉันทะที่ประกอบด้วยถีนมิทธะ สัมปยุตด้วยถีนมิทธะ นี้เรียกว่า ฉันทะที่หดหู่ในภายใน

    ก็ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกเป็นไฉน?
     ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไป พล่านไป คิดถึงกามคุณห้าในภายนอก นี้เรียกว่า ฉันทะที่ฟุ้งซ่านไปในภายนอก


     ภิกษุมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างไร?
     ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไ้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา
     ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น อย่างนี้แล

     ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้นอย่างไร?
     ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณากายนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องล่างแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ
     ว่าในกายนี้ มีผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ( สามสิบสองอาการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของปฏิกูล)
     ภิกษุชื่อว่า มีความสำคัญอยู่ว่า เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น อย่างนี้แล



     ก็ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่า กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างไร?
     ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางวัน ด้วยอาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด
     เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิ และปธานสังขารในกลางคืนด้วย อาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น

     อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารในกลางคืนด้วย อาการเหล่าใด ด้วยเพศเหล่าใด ด้วยนิมิตเหล่าใด
     เธอย่อมเจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร ในกลางวัน ด้วยอาการเหล่านั้น ด้วยเพศเหล่านั้น ด้วยนิมิตเหล่านั้น
     ภิกษุมีความสำคัญอยู่ว่ากลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น อย่างนี้แล


     ก็ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่อย่่างไร?
     อาโลกสัญญา (ความสำคัญว่า แสงสว่าง) อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ยึดไว้ดีแล้ว มีความสำคัญว่า กลางวันตั้งมั่นดีแล้ว ภิกษุมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ อย่างนี้แล

     ก็วิริยะที่หย่อนเกินไปเป็นไฉน?...
     ก็จิตตะที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน?...
     ก็วิมังสาที่ย่อหย่อนเกินไปเป็นไฉน?...
     "ภิกษุทั้งหลาย อิทธิบาทสี่ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
     ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาทสี่อย่างนี้แล ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ฯลฯ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้


     ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งอิทธิบาทสี่อย่างนี้แล ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่"
     
     เธอมีจิตเปิดเผย ไม่มีอะไรหุ้มห่อ อบรมจิตให้สว่างอยู่ ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิริยสมาธิ... ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยจิตตสมาธิ..ย่อมเจริญอิทธิบาทประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ดังนี้ว่า     
     วิมังสาของเราจักไม่ย่อหย่อนเกินไป ไม่ต้องประคองเกินไป ไม่หดหู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านไปในภายนอกและเธอมีความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้าอยู่ว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น เบื้องหลังฉันใด เบื้องหน้าก็ฉันนั้น เบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น เบื้องบนฉันใด เบื้องล่างก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น.
    (จบวิภังคสูตร สํ.ม.ข้อ ๑๑๗๙-๑๒๐๔)


อธิบายวิภังคสูตร ตามแนวอรรถกถา
     อุบายในการแก้ไขความเกียจคร้านให้เอาภัยในอุบายมาข่มจิต ก็จะทำให้เกิดฉันทะ (วิริยะ จิตตะ วิมังสา) ในการเจริญอิทธิบาทขึ้นมาอีก แล้วเธอก็พิจารณากรรมฐานต่อไปอย่างเดิม
     อุบายในการแก้อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ก็ทำใจให้ร่าเริง ควรแก่การงาน ด้วยการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
     อุบายในการแก้ถีนมิทธะ (หดหู่ในภายใน) ความง่วงเหงาหาวนอน โดยเอาน้ำมาล้างหน้า ดึงใบหู ท่องธรรมที่คล่อง (ด้วยเสียงอันดัง) หรือสนใจความสำคัญว่า แสงสว่าง ที่ถือเอาไ้ว้เมื่อตอนกลางวัน (อาโลกสัญญา)      
     อุบายในการแก้จิตฟุ้งซ่านออกไปในอารมณ์กามคุณภายนอก ก็ให้คำนึงถึงอนมตัคคสูตร เทวทูตสูตร เวลามสูตรและอนาคตภยสูตรเป็นต้น คือข่มจิตด้วยอาชญาคือพระสูตรเหล่านั้น
     อุบายทั้งสี่นี้ ขอให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในตอนว่าด้วยอาหารของสมาธิในตอนต่อไป
     เมื่อแก้ไขได้สำเร็จแล้ว ก็ให้กลับไปตั้งฉันทะ (วิริยะ..จิตตะ..วิมังสา..) ในสมาธิต่อไป


     คำว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้น มีความหมาย ๒ นัย
     นัยแรก เบื้องหน้า หมายความว่า การตั้งมั่นแห่งกรรมฐานโดยไม่มีการขัดข้องของอุปสรรคทั้งสี่ข้างต้น เบื้องหลัง หมายถึง อรหัต
     ท่านอธิบายความหมายนี้ เพิ่มเติมว่า เมื่อยึดเอามูลกรรมฐานไว้มั่นแล้ว (เบื้องหน้า) พิจารณาสังขารทัี้งหลายย่อมบรรลุพระอรหัต (เบื้องหลัง) (ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยึดไว้ดีแล้วกระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา)
     อีกนัยหนึ่ง เบื้องหน้า หมายถึง ผม เบื้องหลัง หมายถึง มันสมอง

     คำว่าเบื้องล่างฉันใด เบื้องบนก็ฉันนั้น ก็ได้แก่ ฝ่าเท้าอันเป็นเบื้องล่างจนถึงปลายผมอันเป็นเบื้องบน
     โดยจะพิจารณาทั้งอาการ ๓๒ หรือเฉพาะกระดูกก็ได้ คือ กระดูกข้อต่อปลายสุดของนิ้วเท้าเป็นเบื้องล่าง กระดูกกระโหลกศีรษะเป็นเบื้องบน (โดยพิจารณาเห็นว่า เหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสิ่งไม่สะอาด คือเป็นปฏิกูลทั้งนั้น)


    คำว่า ด้วยอาการเหล่าใด ท่านหมายถึง ส่วนของร่างกายที่กำลังพิจารณานั้นด้วยเพศเหล่าใด ก็เช่นกัน       
     หมายถึง ทรวดทรงของส่วนของร่างกายที่กำลังพิจารณาด้วยนิมิตเหล่าใด
     หมายถึง ลักษณะของส่วนของร่างกายที่ปรากฏเช่น สีดำ (ของผม) เป็นต้น
     อาโลกสัญญา ลืมตา กำหนดแสงสว่างจนติดตา แล้วก็หลับตาให้เห็นแสงสว่างเช่นเมื่อลืมตา ถ้ายังไม่เห็นก็ให้หลับตากำหนดแสงสว่างใหม่ จนเห็นเป็นภาพติดตาในขณะหลับตา จำนิมิตนี้ไว้เพื่อนำมาใช้เป็นอุบายแก้ความง่วง

     (จบคำอธิบายตามแนวอรรถกถา)



ข้อควรสังเกต
    ๑. องค์แห่งอิทธิบาททั้งสี่ ถึงแม้จะแยกการอธิบายก็มักใช้ประกอบกัน คือ ถึงแม้เจริญฉันทสมาธิก็ต้องใช้ความเพียร (วิริยะ) ความเอาใจจดจ่อ (จิตตะ) เมื่อจิตย่อหย่อนก็ต้องรู้โดยปัญญา คือ วิมังสา
     ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอิทธิบาทสี่นี้ มีลักษณะคล้ายกับเป็นธรรมสามัคคีอย่างหนึ่ง เพียงแต่ว่า ขณะนั้นมีธรรมอะไรเป็นประธาน ก็เรียกสมาธิตามชื่อของประธานนั้น


     ๒. สมาธิกรรมฐานในพระสูตรข้างบน ใช้การภาวนาในอาการ ๓๒ ในสมัยพุทธกาลถือว่า กรรมฐานนี้เป็นกรรมฐานที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้ละความยึดมั่นในกายได้ง่าย
     แม้ใตคัมภีร์วิภังค์ ตอนสติปัฏฐานวิภังค์ หัวข้อกายนุปัสสนา ท่านก็อธิบายเฉพาะอาการ ๓๒ เพียงเรื่องเดียว ซึ่งชี้ให้เห็นความสำคัญอย่างยิ่งของกรรมฐานบทนี้

     ๓. คำว่า เบื้องหน้าฉันใด เบื้องหลังก็ฉันนั้นและคำอธิบายความหมายนี้ตามที่ปรากฏในพระสูตรย่อมเป็นที่ เข้าใจได้ดีในสมัยพุทธกาล ในที่นี้อรรถกถาท่านอธิบายความหมายไว้สองนัยแต่ถ้าวิเคราะห์ถึงองค์กรรมฐาน คืออาการ ๓๒ แล้ว
     ชวนให้เข้าอีกแนวหนึ่งโดยเหตุผลที่ว่า ก่อนการภาวนาในอาการ ๓๒ ผู้ปฏิบัติจะต้องท่องจำจนขึ้นใจให้ได้ก่อน ทั้งโดยอนุดลมและปฏิโลม จึงจะนำไปพิจารณา (เจริญกรรมฐาน)
     และจากคำอธิบายของพระพุทธองค์ที่ว่า "ความสำคัญในเบื้องหลังและเบื้องหน้า อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ยึดไว้ดีแล้ว กระทำไว้ในใจดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ทรงไว้ดีแล้ว แทงตลอดแล้ว
     ในธรรมหมวดใดหมวดหนึ่ง ซึ่งควรจะต้องมีอารมณ์ใกล้กับอาการ ๓๒ นี้
     มิฉะนั้น เอกัคคตาจิตที่ถึงอัปปนาจะเกิดได้ยาก
     เมื่อเป็นเช่นนี้ ธรรมหมวดนี้ คงจะเป็นการสาธยายอาการ ๓๒ ทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม โดยพิจารณาว่า เบื้องหน้า (อนุโลม) ฉันใด เบื้องหลัง (ปฏิโลม) ก็ฉันนั้น


การนำอิทธิบาทสี่ไปใช้ในอานาปานสติกรรมฐาน
     คำอธิบายวิธีเจริญอิทธิบาทสี่ที่ปรากกฏจากพระสูตร เป็นการเจริญอิทธิบาทสี่โดยมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ หากจะใช้ในกรรมฐานอื่น เช่น อานาปานสติก็ต้องปรับปรุงหรือตัดออกในบางเรื่อง เช่นในตอนที่ว่าเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ข้างบนและข้างล่าง โดยใช้เรื่องของอานาปานสติแทนหรือตัดออกเลยก็ได้ ทั้งนี้ต้องให้มีจิตเปิดเผยไม่มีอะไรห่อหุ้มก็แล้วกัน


อาหารของสมาธิสัมโพชฌงค์
     อาหารของอิทธิบาทสี่ก็เช่นเดียวกันกับอาหารของสมาธิสัมโพชฌงค์ ธรรม ๑๑ ประการย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดขึ้นแห่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือ
     ๑. การทำวัตถุให้สะอาดทั้งร่างกาย เครื่องแต่งกายและที่อยู่
     ๒. การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน กล่าวไว้แล้วในอาหารของธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์

     ๓. ความเป็นผู้ฉลาดในนิมิต ได้แก่ การเรียนการศึกษาในลักษณะของกสิณนิมิต หรือการศึกษาลักษณะของนิมิตในกายคตาสติ (อาการ ๓๒) ซึ่งได้แก่สีต่างๆ หรือกลิ่น หรือลักษณะอื่นๆ อีก เป็นต้น
     ๔. ความยกจิตในสมัยจิตหดหู่ เนื่องจากความเพียรย่อหย่อน ต้องยกขึ้นด้วยธัมมวิจัย วิริยะ และปีติสัมโพชฌงค์
    ๕. ความข่มจิตในสมัย จิตฟุ้งซ่าน เนื่องจากความเพียรมากเกินไป ต้องข่มด้วยปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขาสัมโพชฌงค์
     ๖. ความให้จิตร่าเริงในสมัย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในการปฏิบัติ เนื่องจากเป็นผู้มีปัญญาอ่อน หรือเพราะไม่ได้ความสุขจากการปฏิบัติ ต้องทำให้จิตสังเวชด้วยการพิจารณาสังเวควัตถุ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ความทุกข์จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ความทุกข์ในอบาย ความทุกข์ในอดีตชาติ ความทุกข์ในอนาคตชาติ และความทุกข์ที่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ พร้อมกันนั้นก็ให้ทำความเลื่อมใสในการน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย

     ๗. การวางจิตเฉยในสมัย ในเมื่อจิตไม่หดหู่ ไม่ฟุ้งซ่านหรือไม่เบื่อหน่าย
     ๘. เว้นบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น
     ๙. คบบุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น
     ๑๐. น้อมจิตไปในสมาธิทุกอิริยาบถ



การใช้เอกสารอ้างอิง
๑. พระไตรปิฎก ใช้หนังสือพระสูตร พระอภิธรมและอรรถกถา แปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ทั้งนี้เนื่องจากความสะดวกในการมีอรรถกถารวมอยู่ในเล่มเดียวกัน
๒. วิสุทธิมรรค แปล ฉบับของมหามกุฏราชวิทยาลัย แปลโดย นาวอากาศเอกเมฆ อำไพจริต ป.ธ.๙
๓. วิมุตติมรรค พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมฺมจิตโต) และคณะ แปลจากภาษาอังกฤษของพระเอฮารา พระโสมเถระุ และพระเขมินทรเถระ
๔. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์และฉบับประมวลธรรมของพระธรรมปิฎก (ป.อ.)
๕. พจนานุกรม บาลี- ไทย ฉบับนักศึกษาของพระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์ สระคำ)และร.ศ.ดร.จำลอง สารพัดนึก
๖. คบะรรม ธัมมานุกรม รวบรวมดดย พ.อ.ทวิช เปล่งวิทยา
๗. อภิธัมมัตถสังคหะ ฉบับรวบรวมโดยท่านขุนสรรพกิจโกศล
๘. The path of Freedom (VIMUTTIMAGGA) BY THE ARAHANT UPATISSA Translate by Tipitaka Sanghapala of Funan Translated from Chinese by The Rev. N.R.M. Ehara, Soma Thera and Kneminda Thera
๙. THE PATH OF PURIFICATION VISUDDHI MAGDDA BY BHADANTACARIYA BUDDHAGGHOSA Translated from the Pali by BHIKKHU NANAMOLI
๑๐. The Guide ท่าน Bhikkhu Nanamoli แปลจาก เนตติปกรณ์ ภาษาบาลีเป็นภาษาอังกฤษ

ที่มา http://board.palungjit.com/f45/๒๗-วิมุตติมรรค-ทางแห่งความหลุดพ้น-ภาคปัญญา-242899.html
ขอบคุณภาพจาก http://www.palungjit.com/,http://www.bloggang.com/,http://www.dmc.tv/,http://www.oknation.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 13, 2012, 01:49:47 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29288
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อธิบาย "อิทธิบาท ๔" โดยพิสดาร(ไม่ควรพลาด)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 12, 2012, 11:57:20 am »
0



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙
ชื่อ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เป็น สุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๑
       
       ภายในมีเนื้อหาที่กล่าวถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธาน พละ อิทธิบาท
       หากท่านใดสนใจเรื่องอิทธิบาท ๔ เล่มนี้มีการประมวลเรื่องอิทธิบาท ๔ เอาไว้ เรียกว่า อิทธิบาทสังยุต มีทั้งหมด ๓๑ สูตร ดังนี้

ปาวาลวรรคที่ ๑
     ๑. อปารสูตร อิทธิบาท ๔
     ๒. วิรัทธสูตร ผู้ปรารภอิทธิบาทชื่อว่าปรารภอริยมรรค
     ๓. อริยสูตร เจริญอิทธิบาท ๔ เพื่อความสิ้นทุกข์
     ๔. นิพพุตสูตร เจริญอิทธิบาท ๔ เพื่อความหน่าย
     ๕. ปเทสสูตร ฤทธิ์สำเร็จได้เพราะเจริญอิทธิบาท
     ๖. สัมมัตตสูตร ฤทธิ์บริบูรณ์ได้เพราะเจริญอิทธิบาท
     ๗. ภิกขุสูตร ได้เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติเพราะเจริญอิทธิบาท
     ๘. พุทธสูตร เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะเจริญอิทธิบาท
     ๙. ญาณสูตร พระพุทธเจ้าเจริญอิทธิบาท ๔
     ๑๐. เจติยสูตร การเจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้อายุยืน

      (จบ ปาวาลวรรคที่ ๑)

ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒
     ๑. ปุพพสูตร วิธีเจริญอิทธิบาท ๔
     ๒. มหัปผลสูตร อานิสงส์ของการเจริญอิทธิบาท
     ๓. ฉันทสูตร ว่าด้วยอิทธิบาทกับปธานสังขาร
     ๔. โมคคัลลานสูตร พระโมคคัลลานแสดงฤทธิ์
     ๕. พราหมณสูตร ว่าด้วยปฏิปทาเพื่อละฉันทะ
     ๖. สมณพราหมณ์สูตรที่ ๑ ผู้มีฤทธิ์มาก เพราะเจริญอิทธิบาท ๔
     ๗. สมณพราหมณ์สูตรที่ ๒ แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่างเพราะเจริญอิทธิบาท ๔
     ๘. อภิญญาสูตร ได้เจโตวิมุติและปัญญาวิมุติเพราะเจริญอิทธิบาท ๔
     ๙. เทสนาสูตร แสดงปฏิปทาเข้าถึงอิทธิบาทภาวนา
     ๑๐. วิภังคสูตร วิธีเจริญอิทธิบาท ๔

     (จบ ปาสาทกัมปนวรรคที่ ๒)

อโยคุฬวรรคที่ ๓
     ๑. มรรคสูตร ว่าด้วยปฏิปทาแห่งการเจริญอิทธิบาท
     ๒. อโยคุฬสูตร ว่าด้วยการแสดงฤทธิ์
     ๓. ภิกขุสุทธกสูตร ว่าด้วยการเจริญอิทธิบาท
     ๔. ผลสูตรที่ ๑ เจริญอิทธิบาทหวังผลได้ ๒ อย่าง
     ๕. ผลสูตรที่ ๒ ว่าด้วยผลานิสงส์ ๗
     ๖. อานันทสูตรที่ ๑ ว่าด้วยปฏิปทาที่จะถึงอิทธิบาท
     ๗. อานันทสูตรที่ ๒ ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์
     ๘. ภิกขุสูตรที่ ๑ ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์
     ๙. ภิกขุสูตรที่ ๒ ว่าด้วยอิทธิฤทธิ์
     ๑๐. โมคคัลลานสูตร สรรเสริญพระโมคคัลลานว่ามีฤทธิ์มาก
     ๑๑. ตถาคตสูตร พระตถาคตมีฤทธิ์มาก

      (จบ อโยคุฬวรรคที่ ๓)

     คังคาทิเปยยาลแห่งอิทธิบาทสังยุตที่ ๔ ว่าด้วยผลแห่งอิทธิบาท ๔
      (จบ อิทธิบาทสังยุต)





ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=19&A=6413&Z=6423&pagebreak=0
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  บรรทัดที่ ๖๔๑๓ - ๗๒๔๖  หน้าที่  ๒๖๘ - ๓๐๑.
ขอบคุณภาพจาก http://www.dmc.tv/,http://palungjit.com/     
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 12, 2012, 12:00:49 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

ครูนภา

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +25/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 608
  • ภาวนา ร่วมกับพวกท่าน แล้วสุขใจ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อธิบาย "อิทธิบาท ๔" โดยพิสดาร(ไม่ควรพลาด)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 12, 2012, 01:46:55 pm »
0
สาธุ เป็นเรื่องที่น่าอ่านมากคะ กว่าจะถึงคิวเข้ามาอ่านเรื่องนี้ บอกตรง ๆ เลยนะคะ อ่านกระทู้ไม่ทันนะคะ

 :s_hi: :s_hi: :c017: :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
ศรัทธา ปัญญา ขันติ ความเพียร คุณสมบัติผู้ภาวนา
ขอเป็นกัลยาณมิตร กับทุกท่าน ที่เป็นกัลยาณมิตร