« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 02, 2012, 12:03:46 pm »
0
พระกรรมฐานกลางกรุง
จากบันทึกของดำเกิง สงวนสัตย์
คำอนุโมทนา
สุรินทร์มีหลวงปู่ดูลย์ หนองคายมีหลวงปู่เทสก์ อุดรฯ มีหลวงปู่ขาวและท่านอาจารย์พระมหาบัว สกลนครมีหลวงปู่ฝั้น เชียงใหม่มีหลวงปู่แหวนและหลวงปู่สิม อุบลฯ มีหลวงพ่อชา ฯลฯ ส่วนกรุงเทพฯ ถ้าจะหาพระกรรมฐานชาวกรุงแท้ๆ สักองค์หนึ่ง ก็น่าจะนึกถึงท่านธมฺมวิตกฺโก หรือพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต แห่งวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งคนทั่วไปเรียกนามท่านอย่างเคยปากว่า “ท่านเจ้าคุณนรฯ”
ท่านเป็นพระมหาเถระที่อาตมาให้ความเคารพนับถือมากที่สุดองค์หนึ่ง เพราะคุณงามความดีของท่านในหลายๆ ด้าน เช่น ในด้านความกตัญญูกตเวที ด้านความรักในการเรียนรู้ ด้านความอดทนอดกลั้น และพากเพียรทำกิจทั้งปวงอย่างเอาจริงเอาจัง จนกิจของท่านประสบความสำเร็จด้วยดี และที่สำคัญยิ่งก็คือ ท่านเป็นบทพิสูจน์อันยิ่งใหญ่ว่า
แม้ท่านจะเป็นชาวเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เกิด เรียน ทำงานจนรุ่งเรืองถึงขั้นเป็นองคมนตรี จนถึงการบรรพชาอุปสมบทในเมือง โดยไม่เคยเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาหรือแม้กระทั่งการออกนอกวัด ท่านก็ยังสามารถปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรม เป็นข้อพิสูจน์ว่า ธรรมแท้ไม่เลือกสถานที่ ถ้าเป็นคนจริง ถึงอยู่กลางกรุงก็ปฏิบัติได้ จัดว่าเป็นตัวอย่างและกำลังใจให้นักปฏิบัติรุ่นหลัง ในวันที่เมืองไทยไม่มีป่าเขาจะให้เดินธุดงค์ และสังคมเปลี่ยนจากสังคมเกษตรเป็นสังคมเมืองและอุตสาหกรรมอย่างในขณะนี้
ในวัยเด็กอาตมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดพลับพลาชัย ซึ่งแค่ข้ามถนนก็ถึงวัดเทพศิรินทร์ แต่ไม่เคยพบกันท่านเจ้าคุณนรฯ เพราะเวลาที่อาตมาเข้าไปเที่ยวเล่นในวัดเทพศิรินทร์ ไม่เคยตรงกับเวลาที่ท่านออกจากกุฏิ ต่อเมื่อท่านสิ้นไปแล้ว จึงได้รู้จักเกียรติคุณของท่านผ่านข้อเขียนของบุคคลหลายท่าน ซึ่งก็เขียนแบบลอกกันต่อๆ มา และไม่มีข้อมูลใหม่มานานแล้ว
อาตมาเคยนึกเสียดายว่าทำไมไม่มีใครบันทึกข้อธรรมคำสอนของท่านไว้บ้างเลย จนเมื่อได้ทราบจากคุณดำเกิง สงวนสัตย์ ซึ่งมาเรียนกรรมฐานกับอาตมา ว่าเคยเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านเจ้าคุณนรฯ มาก่อน จึงได้ถามคุณดำเกิงว่าได้เคยบันทึกธรรมะและเรื่องราวของท่านไว้บ้างหรือไม่ นี่คือที่มาของบันทึกฉบับนี้ ซึ่งคุณดำเกิงเขียนให้อาตมาไว้ตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๙ และเขียนเพิ่มเติมอีกในปี ๒๕๕๒
เมื่ออ่านแล้วเกิดความประทับใจในท่านเจ้าคุณนรฯ ยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะมีข้อธรรมะที่ไม่เคยได้ยินใครกล่าวถึงอีกหลายเรื่องแล้ว ยังเป็นบันทึกที่เขียนถึงท่านอย่างมีชีวิตชีวายิ่ง เมื่อได้อ่านเรื่องดีขนาดนี้แล้ว ก็อดที่จะคิดเผื่อแผ่ให้เพื่อนร่วมทางได้อ่านด้วยไม่ได้ จึงขออนุญาตคุณดำเกิงนำมาจัดพิมพ์ และเมื่อคุณสุเมธ โสฬศ ทราบว่าอาตมาจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ก็ได้อาสาที่จะจัดพิมพ์ให้ ซึ่งอาตมาก็ต้องขออนุโมทนากับทั้งสองท่านมา ณ โอกาสนี้ และหวังว่าเรื่องนี้จะเป็นแบบอย่างและเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนนักปฏิบัติชาวเมืองทุกท่านด้วย
พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ 
วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙
กราบนมัสการ ท่านอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่เคารพอย่างสูง
เรื่องราวและธรรมะที่กระผมได้บันทึกไว้ต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่กระผมได้ฟังมาด้วยตนเองจากท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (พระธมฺมวิตกฺโก) ซึ่งต่อไปจะเรียกขานนามท่านสั้นๆ ว่า “ท่านเจ้าคุณนรฯ” บางเรื่องก็เกี่ยวกับปฏิปทาจริยวัตรของท่าน โดยมิได้แต่งเติมหรือคัดมาจากหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของท่านเล่มอื่นๆ แต่ประการใด
กระผมได้มีโอกาสบรรพชาอุปสมบทที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๑๒ ถึงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ เป็นเวลา ๒ เดือนเศษ อันเป็นขณะสมัยที่ท่านเจ้าคุณนรฯ ยังดำรงขันธ์อยู่ ซึ่งกระผมถือว่าเป็นลาภอย่างยิ่งและเป็นโอกาสอันประเสริฐสุด
ถึงแม้ว่ากาลเวลาจะล่วงเลยมานานกว่า ๓๗ ปีแล้ว กระผมก็ยังจดจำภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับท่านได้เป็นอย่างดี ราวกับว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เอง และคิดว่าคงจะไม่มีวันลืมเหตุการณ์ที่ประทับใจนั้นๆ ตราบชั่วชีวิต
กระผมรู้สึกปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์ให้ความสนใจ และได้ขอให้กระผมเขียนบันทึกธรรมจากท่านเจ้าคุณนรฯ ให้
ถ้าหากบันทึกของกระผมที่เกี่ยวกับท่านเจ้าคุณนรฯ จะมีส่วนดีอยู่บ้าง นั่นเป็นเพราะความบันดาลใจอันเกิดจากการที่ได้ยินได้ฟังเรื่องราวและธรรมะเหล่านั้นจากท่านด้วยตนเอง ด้วยความกรุณา ปัญญาบารมี และปฏิปทาที่บริสุทธิ์ อันน่าเคารพเลื่อมใสของท่านเจ้าคุณนรฯ ซึ่งกระผมขอถวายแด่ท่าน แต่หากจะมีข้อบกพร่องหรือผิดพลาดอันเกิดจากเหตุใดก็ตาม กระผมขอน้อมรับความผิดนั้นไว้เองแต่เพียงผู้เดียว และหากกระผมมีความเข้าใจผิดในสัจธรรมใดๆ กระผมกราบขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ได้โปรดชี้ผิดและบอกถูกแก่กระผมด้วยครับ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพอย่างสูง
ดำเกิง สงวนสัตย์ที่มา
http://www.oknation.net/blog/tocare/2009/10/20/entry-1 Posted by forgive
ขอขอบพระคุณภาพจาก :
http://www.gmwebsite.com/,http://www.dhammada.net/