เมื่อต้อง "ทำงานร่วมกับคนโกง"...ทำอย่างไรดี.?
เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนขี้โกงทำอย่างไรดี? : ปุจฉา -วิสัชนา กับพระไพศาล วิสาโล
ปุจฉา - กราบนมัสการพระอาจารย์ อยากสอบถามเพื่อขอธรรมเป็นทางชีวิต เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนที่มีพฤติกรรมเสื่อม เช่น ยักยอกเงินและเวลาทำงาน เมื่อเราเลี่ยงไม่ได้ยังต้องทำงานร่วม อยากถามพระอาจารย์ว่าธรรมใดจะเป็นเกราะป้องกันตัวและใจได้ เมื่อต้องอยู่ใกล้กับคนประเภทนี้ และในบางครั้งจะใช้อำนาจการงานมาบีบให้เราเดินทางเสื่อมตาม ขอกราบพระคุณเจ้า
วิสัชนา : อย่างแรกที่คุณควรมี คือ สติรู้เท่าทันความเกลียด หรือความรู้สึกลบ ที่มีต่อคนเหล่านี้
เพราะหากคุณเกลียดชังหรือรู้สึกลบต่อเขา คุณจะมีความทุกข์มากเวลาทำงานร่วมกับเขา
และหากเป็นไปได้ควรมีเมตตาต่อคนเหล่านั้นให้มาก เพราะเขากำลังสร้างบาปกรรมโดยไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม คนที่จะได้รับประโยชน์จากความเมตตาดังกล่าวก็คือ ตัวคุณนั่นเอง
เพราะเมตตาจะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ความเกลียดชังครอบงำจิตใจของคุณ
ขณะเดียวกันคุณก็ควรมีขันติธรรมด้วย เพราะอาจอารมณ์เสียได้ง่ายเวลาทำงานกับเขาเหล่านั้น
พยายามอดกลั้น อย่าลุแก่อารมณ์หรือบันดาลโทสะ เพราะจะทำให้คุณมีศัตรูเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนั้นคุณควรเสริมสร้างฉันทะในงานให้มีขึ้นหรือเพิ่มขึ้น เพราะจะช่วยให้คุณทำงานอย่างมีความสุข ความสุขนั้นจะหล่อเลี้ยงใจคุณให้ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและไม่หวั่นไหวง่ายเมื่อประสบอุปสรรคโดยเฉพาะจากเพื่อนร่วมงาน
เมื่อเพื่อนเศร้า...เราควรทำอย่างไรปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ ขออนุญาตเรียนถามว่าหากเราโทรศัพท์ไปหาเพื่อนแล้วเสียงตอบมาเป็นเสียงเพื่อนที่กำลังร้องไห้ คุยกับเราก็ร้องไห้อยู่ พร่ำพูดว่าอยู่ตัวคนเดียวแล้วทุกคนทิ้งไปหมดแล้ว เราก็บอกให้คิดถึงตนเองให้ได้ก่อน คิดถึงลมหายใจของตนเอง มีแค่นี้เอง เขาก็บอกไม่ได้ คิดแต่ว่าคนทิ้งไปและร้องไห้ตลอด จนเขาวางหูไป ก็ยังไม่หยุดร้อง คุยกันอยู่ประมาณ 5 นาที เราควรทำอย่างไรดีเจ้าคะ? นมัสการขอบพระคุณเจ้าค่ะ
วิสัชนา : เวลาคนมีความทุกข์แบบนั้น การแนะนำธรรมะหรือให้ข้อคิดที่เป็นเหตุผลนั้น มักมีประโยชน์น้อย เพราะใจเขายังไม่พร้อมที่จะรับฟัง แต่หากให้กำลังใจเขา จะช่วยได้มากกว่า เช่น บอกให้เขารู้ว่าเขายังมีคนอื่นที่รักเขา เช่น พ่อแม่ มิตรสหาย หรืออย่างน้อยเขาก็ยังมีคุณอีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนเขาและพร้อมจะช่วยเหลือเขา
ที่จริงเพียงแค่คุณรับฟังเขาระบายความทุกข์ก็ช่วยเขาได้มาก
เพราะเวลาคนเรามีความทุกข์ ย่อมอยากมีคนรับฟังหรือพร้อมจะเข้าใจเขา
โดยไม่ด่วนตัดสินว่า "เขาผิด เลวหรือโง่"
ระหว่างที่เขาร้องไห้ก็ควรปล่อยให้เขาร้องไห้ให้เต็มที่ โดยคุณแค่รับรู้และอยู่เป็นเพื่อนเขา
ต่อเมื่อเขารู้สึกดีขึ้นแล้ว จึงค่อยแนะนำธรรมะหรือข้อเตือนให้เขา
เพราะตอนนั้นเขาจะพร้อมมากขึ้นในการรับฟังคำแนะนำหรือคำท้วงติง
เปิดสายด่วนให้คำปรึกษาทางจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย
โทร.๐-๒๘๘๒-๔๙๕๒ และ ๐๘-๖๐๐๒-๒๓๐๒
จันทร์ถึงศุกร์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๖.๐๐ น.
ขอบคุณบทความและภาพจาก
www.komchadluek.net/detail/20121121/145291/เมื่อต้องทำงานร่วมกับคนโกงทำอย่างไรดี.html#.UKxfnGfvolh http://blog.th.88db.com/,http://palungjit.com/