« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2013, 09:37:37 am »
0
มหาบัณฑิต'สมานฉันท์'รุ่น1 ผู้นำแห่งสันติวิธี ชี้นำสังคมสงบสุข : โดย...ผกามาศ ใจฉลาด
"เมื่อเสร็จจากสงครามเย็นก็คิดว่าโลกจะสงบสุข แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ก็เกิดการปะทะทางอารยธรรมขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่เกิดปัญหาแบ่งสี แบ่งฝ่าย สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น ก็ถูกอ้างอิงไปในเชิงการปะทะกันแห่งอารยธรรม
ซึ่งไม่ใช่สงครามอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เรากลับเอาการเมืองไปแก้ จึงแก้ยาก นี่ไม่ใช่ยุคสงครามเย็น
ปัจจุบันเราต้องสลายความขัดแย้งด้วยองค์ประกอบทางอารยธรรม วัฒนธรรม และการศึกษา มิฉะนั้น เราก็จะอยู่ในวังวนความขัดแย้งมิรู้จบ"
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดใจในพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาโครงการปริญญาโท สาขาวิชาสันติศึกษา กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษากว่า 80 แห่ง เป็นปีแรก เพื่อร่วมกันส่งเสริมบุคลากรด้านสันติวิธี ลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นต่อสังคมและประเทศชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ พร้อมกับประกาศเจตนารมณ์ต่อไปว่า
"ในฐานะผู้นำศาสนาขอประกาศ อย่าได้อ้างศาสนาไปก่อสงคราม เราไม่ต้องการให้ศาสนา ถูกใช้อ้างอิงในทางที่ผิด เช่น การสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม ทั้งๆ ที่ผู้นำทั้งสองศาสนามีความเข้าใจอันดีต่อกัน
จึงเห็นว่า การศึกษาทางศาสนาควรออกมาทำหลักสูตรเรื่องสันติศึกษาขึ้น
เพื่อผลิตวิศวกรทางด้านสันติภาพ ต้องการผู้สร้างสันติภาพ เจรจาให้เกิดความปรองดอง
ผ่านองค์ความรู้ และประสบการณ์ ผลักดันสังคมไปสู่แนวทางสันติภาพ"
พระพรหมบัณฑิต กล่าว
ด้าน รศ.ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร. บอกว่า
จุดเด่นของหลักสูตรสันติศึกษาเน้นบูรณาการพัฒนาสันติภาพแบบผสมผสานทั้งภายในและภายนอก
เริ่มต้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสันติภาพภายในใจ โดยใช้หลัก "สมาธิ"
มาเป็นเครื่องมือพัฒนากล่อมเกลาสติและปัญญาให้แข็งแกร่ง
ทนต่อกระแสอคติ มีใจกว้าง อดทนและยอมรับต่อความแตกต่างอย่างมีสติ
อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น
ส่วนสำนักงานศาลยุติธรรมและสถาบันพระปกเกล้า สนับสนุนให้มีการพัฒนานักสันติภาพ นักประนีประนอมโดยฝึกภาคปฏิบัติในศาล ชุมชนและองค์กรต่างๆ
มีคณาจารย์และอาจารย์พิเศษ ประกอบด้วยนักวิชาการ นักปฏิบัติด้านสันติภาพทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญประจำหลักสูตร อาทิ
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. พระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
พระไพศาล วิสาโล พระนักเขียน/นักสันติวิธี พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) สถาบันวิมุตตาลัย
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถาน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ
รศ.ดร.โคทม อารียา ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.มารค ตามไท นักสันติภาพ ฯลฯ
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นพระภิกษุ แม่ชี นักบวช หรือนักพรต นักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานองค์กรภาครัฐ ผู้นำชุมชน นักวิชาการมหาวิทยาลัย องค์กรระหว่างประเทศและสื่อมวลชน
รับนักศึกษา 40 คน ระบบการศึกษาแบ่งเป็นภาคการศึกษา ภาคละ 3 วิชา
โดยเรียนครั้งละ 1 วิชา วิชาละ 6 สัปดาห์ ต่อเนื่องกันจนจบหลักสูตร
เรียนวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.
รวมทั้งหมดหลักสูตร 15 รายวิชาภายใน 2 ปี
ค่าธรรมเนียมสำหรับคฤหัสถ์ 145,000 บาท และสำหรับนักบวช 120,000 บาท นานาทัศนะศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราสอนแต่ความรู้สันติวิธีเพียงแค่ทฤษฎี แต่เราไม่สามารถปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า ทัศนคติเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้น การจัดหลักสูตรสันติวิธี เป็นความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองขณะนี้มากที่สุด เหมาะสำหรับผู้นำประเทศ นักการเมือง ผู้นำทางทหาร ผู้นำทางตำรวจ โดยเฉพาะผู้นำที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษา เพราะจะทำให้เกิดมุมมอง และความคิดที่รอบด้านมากขึ้น
อดุลย์ ขันทอง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า ศาลได้ขึ้นบัญชีผู้ประนีประนอมประจำศาลกว่า 2,000 ท่าน เห็นควรที่ให้ท่านเหล่านั้นมีโอกาสเข้ามาพัฒนาตัวเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยศาลผลิตบุคลากรด้านการไกล่เกลี่ยให้แก่ศาลเพื่อช่วยแบ่งเบาคดีความต่างๆ ที่เข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมากขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130212/151601/มหาบัณฑิตสมานฉันท์รุ่น1.html#.USA_lvJ6W85