« เมื่อ: เมษายน 01, 2013, 11:07:46 am »
0
พระพุทธรูป ปางพิจารณาชราธรรม
คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์
พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางคว่ำอยู่บนพระชานุ (เข่า) ทั้งสองข้าง
คติหรือสัญลักษณ์ หรือปริศนาธรรม หรือธรรมที่แสดงผ่านพระพุทธรูปนี้ก็คือ ความอดทน อดกลั้น ต่อทุกขเวทนา เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อธิวาสน ขันติคุณ ท่าทางของพระพุทธรูปที่วางคว่ำฝ่ามือลงบนเข่าทั้งสองข้างคือ อาการของการบอกเล่าตามพระพุทธประวัติว่า
พระพุทธเจ้าซึ่งมีอายุ 80 ปี ประชวรหนักเกิดทุกขเวทนา แต่พระองค์ดำรงพระสติปัฏฐานมั่นคงทุกขเวทนานั้นก็ไม่เบียดเบียน ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระองค์ปราศรัยแก่พระอานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากว่า
"ดูกรอานนท์ บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาล ผ่านวัย ชนมายุกาลของเราถึง 80 ปีเข้านี้แล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเหมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อมมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่ อันมิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น
ดูกรอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้านิมิตเจโตสมาธิดังจิตสงบมั่นไม่มีนิมิตใดๆ
เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสียและหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตสมาธิ
เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุกสบาย
ดูกรอานนท์ เพราะธรรม คือ อนิมิตสมาธิ
มีอานุภาพสามารถทำให้ร่างกายของผู้ที่เข้าถึง และหยุดอยู่ด้วยสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก
ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง มิใช่บุคคลมีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง
คือ จงมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด"
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ได้ทรงแสดงธรรมในข้อว่ามีตนเป็นที่พึ่ง ด้วยสามารถประกอบตนไว้ในสติปัฏฐาน 4 ทรงสั่งสอนภิกษุสงฆ์ในเอกายนมรรค คือสติปัฏฐานภาวนาและปกิณณกเทศนาธรรม
คติธรรมในพระพุทธรูปปางนี้ก็คือ การฝึกตนให้จิตตั้งมั่นในสมาธิที่จิตไม่ยึด ไม่สร้างนิมิตหมาย เจริญในสติปัฏฐาน 4 ได้แก่ การพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้เห็นรู้ความเป็นจริงคือตามที่สิ่งนั้นๆ เป็นของมันเอง
ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdORE14TURNMU5nPT0=§ionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBeE15MHdNeTB6TVE9PQ==