ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ค้นตำนานพระเจ้าตากฯ..."เจ้าพระยาจักรี" ผู้ทำให้เกิด-ดัง-ดับ  (อ่าน 1493 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระบรมรูปพระเจ้าตากฯ ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน อำเภอเมือง จังหวัดตาก

ค้นตำนานพระเจ้าตากฯ..."เจ้าพระยาจักรี" ผู้ทำให้เกิด-ดัง-ดับ
โดย วิภา จิรภาไพศาล

พระราชประวัติ "พระเจ้าตากฯ" แห่งกรุงธนบุรี มี "เจ้าพระยาจักรี" ที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยความสำคัญกับพระองค์อยู่ 3 คน คนหนึ่งเป็นพ่อบุญธรรม คนหนึ่งเป็นนาย คนหนึ่งเป็นเพื่อน
   เจ้าพระยาจักรีที่เป็นพ่อบุญธรรมข้อนี้รู้กันมานาน แต่ก็รู้กันเพียงเท่านี้
   เจ้าพระยาจักรีที่เป็นเพื่อนซึ่งภายหลังปราบดาภิเษก และสั่งสำเร็จโทษพระองค์ด้วยการประหารชีวิต ในโรงเรียนก็สอน
   ส่วนเจ้าพระยาจักรีที่เป็นนายนั้น ได้รู้จักกันครั้งแรกที่นิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ โดยการแนะนำของ ปรามินทร์ เครือทอง ในบทความของเขาที่ชื่อว่า "คุ้ยตำนานสืบ พระเจ้าตาก เป็น "เจ้าเมืองตาก" ตอนไหน ใคร "วิ่งเต้น" ให้ ?"


พออ่านจบก็รู้ว่า เจ้าพระยาจักรี 2-3 คนที่มีความสำคัญกับพระเจ้าตากฯ มีอะไรสนุกให้ชวนติดตาม เพราะ "เจ้าพระยาจักรี" ไม่ใช่ชื่อเฉพาะของใคร แต่เป็นตำแหน่งสูงสุดของข้าราชการตำแหน่งหนึ่งที่เริ่มใช้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงธนบุรี และช่วงเวลาดังกล่าวมี "เจ้าพระยาจักรี" หลายคน ซึ่งบางคนก็ใช้ราชทินนามอื่น เช่น เจ้าพระยาราชภักดี เป็นต้น

เริ่มจากเจ้าพระยาจักรีคนแรกในชีวิตพระเจ้าตากฯ คือ "พ่อบุญธรรม" ตามตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าตากฯ เมื่อเกิดมานั้นเหตุอันเป็นลางร้าย จนครอบครัวจะเอาพระองค์ไปทิ้ง หากเจ้าพระยาจักรีขอไปเป็นลูกบุญธรรม และตั้งชื่อให้ว่า "สิน" ตามลาภและทรัพย์ที่ได้ตั้งแต่รับพระเจ้าตากฯมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม

เจ้าพระยาจักรีคนที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้านายนั้น ผู้เขียน (ปรามินทร์) เฉพาะเจาะจงว่า เป็นเจ้าพระยาจักรีที่กราบบังคมทูลเสนอพระเจ้าตากฯ เป็น "เจ้าเมืองตาก" ซึ่งหนังสือ "อภินิหารบรรพบุรุษ" กล่าวว่า

"ครั้นกาลล่วงมาไม่ช้าเจ้าเมืองตากก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายหลวงยุกรบัตรสิน จึ่งเปนผู้ถือบอกข่าวตายลงมายังกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีคนใหม่ มิใช่บิดาหลวงยุกรบัตรสิน จึ่งนำข่าวตายเจ้าเมืองตากขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาได้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท แล้วจึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งยศ เลื่อนหลวงยุกรบัตรสินให้เปนที่เจ้าเมืองตากด้วย"


(บน) "พระเจ้าตากแรกเกิด" ภาพเขียนจากพระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน วัดอินทรารามวรวิหาร กรุงเทพฯ
(ล่าง) "เจ้าพระยาจักรีนำเด็กชายสินไปฝากเรียน

การสืบค้นจากหลักฐานต่างๆ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน, คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2, อภินิหารบรรพบุรุษ ฯลฯ พอจะประมวลได้ว่า

พระเจ้าตากฯ ประสูติเมื่อ พ.ศ.2277 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อเจ้าพระยาจักรีรับเป็นลูกบุญธรรมก็ดูแลอย่างดี อายุถึงเกณฑ์ ก็พาไปฝากเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส, โกนจุก และเป็นเจ้าภาพบวชให้ เมื่ออายุ 24 ปี (พ.ศ.2301) ก็เกิดการปฏิวัติในวังหลวงเพื่อหวังคืนราชสมบัติให้กับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อายุ 25 ปี (พ.ศ.2302) เกิดศึกอลองพญา พม่าบุกมะริด, ตะนาวศรี และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองตาก

    ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่าขุนนางคนใดบ้างกินตำแหน่งเจ้าพระยาจักรีในช่วงเวลาดังกล่าว
    ผู้เขียน (ปรามินทร์) ประเมินว่า เจ้าพระยาจักรีผู้เป็นพ่อบุญธรรมน่าจะเป็น "เจ้าพระยาราชภักดี"


เจ้าพระยาจักรีผู้เป็นนาย ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายชื่อพระเจ้าตากฯ ให้เป็นเจ้าเมืองตาก น่าจะเป็น "พระยาพิพัฒโกษา" ซึ่งทั้ง 2 ท่านนี้ รวมถึงเจ้าพระยาจักรีที่เป็น "เพื่อน" กันมาแต่ก่อนนั้น ล้วนแต่มีบทบาทที่พลิกผันวิถีชีวิตของพระเจ้าตากฯ ทั้งสิ้น

ข้อสรุป และความสนุกในการตรวจสอบข้อมูล-วิเคราะห์-ประมวลผลตรงนี้ขอได้โปรดติดตามเบาะแสในนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" เพราะนอกจาก "เจ้าพระยาจักรี" ที่มีบทบาทในชีวิตพระเจ้าตากฯ แล้วยังเห็นการแต่งตั้งข้าราชการสมัยอดีตซึ่งเป็นแม่แบบต่อมา


ที่มา : หน้า 21 มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556
ขอบคุณบทความและภาพจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1360626816&grpid=01&catid=&subcatid=
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 11, 2013, 02:12:01 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ