'ปีใหม่ไทย' ไปไหว้พระ..เมืองเกินร้อย
ท่องไปกับใจตน : ปีใหม่ไทย ไปไหว้พระเมืองเกินร้อย : เรื่องและภาพ...ธีรภาพ โลหิตกุล
“ร้อยเอ็ด” ถือเป็น “จุดเกรงใจ”ของผม เพราะเดินทางไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ แต่จนแล้วจนรอด ยังไม่เคยแวะพัก หรือตั้งใจชมบ้านชมเมือง “ร้อยเอ็ด” อย่างจริงจัง ได้แต่ใช้เป็นทางผ่านไปโน่นนี่นั่น ครั้งล่าสุดก็เช่นกัน มีภารกิจไปตัดสินการประกวดภาพ “ผู้ไท...สายสัมพันธ์มั่นยืน” ที่กาฬสินธุ์ตอนบ่าย แต่ต้องขึ้นเครื่องบินไปลงร้อยเอ็ดแต่ไก่โห่ พร้อมกับคุณอภินันท์ บัวหภักดี บก.อนุสารอสท. จึงพอมีเวลาว่างสัก 2-3 ชั่วโมง เลยกระวีกระวาดชวนท่านบก.ไปกราบพระคู่บ้านคู่เมืองเกินร้อย โดยมีสมาชิกชมรมนักถ่ายภาพกาฬสินธุ์ และเครือข่ายนักถ่ายภาพร้อยเอ็ด คอยอำนวยความสะดวกด้วยความขอบคุณในไมตรียิ่ง
เพราะการไปกราบพระคู่เมือง นอกจากได้ความเป็นสิริมงคลแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้อารยธรรมของเมืองนั้นด้วย อย่างที่ วัดกลางมิ่งเมือง มีโบสถ์หรือ “สิม” ที่โดดเด่นเป็นสง่าด้วยแผง “ฮังผึ้ง” หรือรังผึ้ง ลวดลายวิลิสมาหราอยู่ตรงประตูโบสถ์ แต่ที่น่าสนใจคือ “ฮูปแต้ม” หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังโทนสีคราม เล่าเรื่องทศชาติชาดก แทนที่จะอยู่ภายในโบสถ์ กลับรังสรรค์ไว้ให้เห็นเด่นชัดที่ผนังโบสถ์ด้านนอก อาจเป็นเพราะผู้สร้างโบสถ์นี้เมื่อราว 200 ปีก่อน เป็นภริยาของเชื้อสายเจ้าอนุวงศ์แห่งกรุงเวียงจันทร์ ที่ไปเติบโตในกรุงเทพฯ (เช่นเดียวกับเจ้าอนุวงศ์) จึงลงทุนจ้างช่างหลวงจากกรุงเทพฯ มาสร้างด้วยจิตศรัทธาสูงส่ง
พระเจ้าใหญ่วัดบูรพาภิรมย์
ในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันเป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรมและสถานที่สอบธรรมสถาน แต่น่าเสียดาย ที่ระเบียงรอบโบสถ์เต็มไปด้วยมูลนกจนแทบจะเข้าไปยืนชมภาพจิตรกรรมฝาผนังไม่ได้ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแล เพราะโบสถ์หลังนี้เคยได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามมาแล้ว
ถัดไปไม่ไกลกัน คือ วัดบูรพาภิรมย์ ที่ประดิษฐาน “พระพุทธรัตนะมงคลมหามุนี” หรือ “พระเจ้าใหญ่” พระพุทธรูปปางพระทานพร ความสูง 67 เมตร มองเห็นได้ในระยะไกล ที่ฐานพระมีห้องที่ใช้ในศาสนกิจและห้องพิพิธภัณฑ์หลายห้อง องค์พระนั้นสร้างในปี 2516 นับถึงวันนี้ก็ 40 ปีพอดี แต่ตัววัดสร้างมาตั้งแต่ปี 2546 แล้ว ปีนี้จึงมีอายุครบ 100 ปีเต็ม ที่ชอบใจคือประติมากรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติในสวนหย่อมของวัด มีฉากพระอินทร์มาดีดพิณสามสายให้เจ้าชายสิทธัตถะเข้าใจหลักมัชฌิมาปฏิปทา แล้วเลิกทำทุกรกิริยา จนสามารถตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระอินทร์ดีดพิณสามสายให้ทรงเลิกทุกรกิริยา
เล่าขานกันว่ากรณีนี้ทำให้ฝ่ายฮินดูไม่พอใจ ที่เทพฮินดูถูกอ้างว่ามาช่วยศาสดาของชาวพุทธ ถึงกับ “ลดชั้น” ให้พระอินทร์กลายเป็นเทพชั้นต่ำกว่าพระอิศวรและพระนารายณ์ ด้วยการเล่าเรื่องในเชิง “ปรามาส” หรือ “ดีสเครดิต” ว่าพระอินทร์แอบไปมีชู้กับเมียเทวดาอื่น จนถูกสาปให้มี “โยนี” ติดตามลำตัวนับพันอัน ต้องไปอ้อนวอนให้ศัลยแพทย์สวรรค์ ผ่าตัดแปลงโยนีให้กลายเป็นดวงตานับพัน จนพระอินทร์มีอีกพระนามว่า “ท้าวสหัสนัยน์” หรือท้าวพันตา นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จะสักกี่พันปีผ่านไป เรื่องสตรีเพศยัง “ต้องจริต” ปุถุชนคนธรรมดาอยู่เสมอ
จากตัวเมืองร้อยเอ็ด เรามุ่งหน้าสู่ อำเภอศรีสมเด็จ เพียง 40 นาที ผมก็ต้องตะลึงกับหมู่เจดีย์หินทรายเรียงรายด้วยรูปลักษณ์เดียวกันกับ “พุทธสถานบรมพุทโธ” บนเกาะชวา แหล่งมรดกโลกล้ำค่าของอินโดนีเซีย นี่คืออนุสรณ์สถานที่บรรดาศิษยานุศิษย์ ร่วมกันก่อสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธา ในวาระครบรอบ 90 ปี พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) พระเกจิอาจารย์รูปสำคัญแห่งแดนอีสาน สร้างด้วยงบประมาณกว่า 40 ล้านบาท ไว้ที่ วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) โดยมีพิธีสมโภชไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549
ฮูปแต้มหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดกลางมิ่งเมือง
ความเป็นมาของ “บรมพุทโธเมืองเกินร้อย” สืบเนื่องจากปี 2531 หลวงปู่ศรีได้ไปปฏิบัติศาสนกิจและจำพรรษาที่อินโดนีเซีย แล้วได้ไปชมพุทธสถานบรมพุทโธด้วยความประทับใจ จึงกลับมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง และดำริว่าจะจัดสร้างไว้ในประเทศไทย โดยถึงกับส่งพระ และสถาปนิกไปดูงานที่บรมพุทโธ ก่อนลงมือก่อสร้างในปี 2547 และแล้วเสร็จเพียงสองปีเท่านั้น
ในขณะที่ บรมพุทโธ หรือบูโรพุทโธ เก่าแก่กว่า 1,200 ปี มีลักษณะเป็นทรงพีระมิด มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 121 เมตร สูง 50 เมตร แบ่งเป็นสามชั้น คือชั้นฐาน หรือชั้น “กามธาตุ” เปรียบเสมือนโลกมนุษย์ที่ยังมีกิเลสยึดติดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส วนเวียนอยู่ในความโลภ โกรธ หลง ชั้นที่สองเป็นชั้น “รูปธาตุ” หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง แต่ยังข้องแวะในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ชั้นที่สามเป็นชั้น “อรูปธาตุ” หลุดพ้นจากกิเลสเมามัวทั้งมวล เปรียบได้ดั่งแดนนิพพาน
พระพุทธรูปประดับรายรอบบรมพุทโธ
และยังมีตัวเลขที่น่าสนใจ คือบรมพุทโธ มีบันไดทางขึ้นมี 171 ขั้น (1+7+1 = 9) มีพระพุทธรูปในซุ้มเหนือฐานชั้นที่หนึ่ง 432 องค์ (4+3+2 = 9) มีพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาประดิษฐานในเจดีย์รายเจาะเป็นรูโปร่ง 72 องค์ (7+2 = 9) รวมจำนวนพระพุทธรูปทั้งสิ้น 504 องค์ ซึ่ง 5+0+4 ก็เท่ากับ 9 อันเป็นเลขมงคล ส่วนบรมพุทโธ ณ วัดป่ากุง เป็นเจดีย์รูปทรงแปดเหลี่ยม กว้าง 101 เมตร ยาว101 เมตร ตามชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด และสูง 109 เมตร แบ่งเป็น7 ชั้น ตบแต่งด้วยหินทรายธรรมชาติ จากปากช่อง นครราชสีมา
การสร้างรูปจำลองของสถานที่สำคัญระดับโลก ถือเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขั้นตอนหนึ่ง โดยเฉพาะการเรียนรู้เพื่อนบ้านก่อนเข้าสู่ “ประชาคมอาเซียน” ขอเพียงสร้างอย่างมีเหตุผล มีที่มา มีหลักวิชาการ ไม่ใช่สร้างแบบเห่อตามกันไป เช่น เห็นเขาเห่อ “เจ้าแม่กวนอิม” ก็เห่อบ้าง เห็นเขาสร้าง “พระพิฆเนศ” แล้วคนเข้าวัดคึกคักดี ก็สร้างกับเขาด้วย ไม่มีที่มาที่ไป รังแต่จะทำให้เกิดความสับสน จนกลายเป็น “ทัศนะอุจาด” เพราะขาดองค์ความรู้ และที่สำคัญคือมุ่งแต่จะหาเงินเข้าวัดลูกเดียว จนลืมให้สติปัญญาแก่ตนเองและญาติโยม
วันนี้ 14 เมษายน วันครอบครัว รดน้ำดำหัวของพรผู้ใหญ่แล้ว ท่านใดอยู่รัศมีทำการจังหวัดเกินร้อย ขอเชิญชวนไปไหว้พระดีเพื่อความเป็นสิริมงคลกันนะครับ 
อัฐิหลวงปู่ศรีมหาวีโรประดิษฐานไว้ในสถูปที่ชั้นสองของบรมพุทโธ
ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.komchadluek.net/detail/20130414/156099/ปีใหม่ไทยไปไหว้พระเมืองเกินร้อย.html#.UWv0A0p6W85