‘ชวนน้องท่องพุทธวจน’ ฉีดวัคซีนธรรมะ สร้างเกราะป้องกันอบาย
ปัจจุบันพ่อแม่มักจะส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนกวดวิชา เป็นการเน้นเนื้อหาสาระวิชาการ เด็ก ๆ ถูกปลูกฝังให้มีค่านิยมทางด้านวัตถุและความเจริญก้าวหน้าทางโลก ทำให้เรื่องของคุณธรรมจริยธรรม จิตเมตตาและการเกื้อกูลกันค่อยๆ จางหาย ทั้งนี้พ่อแม่อาจจะหลงลืมการสร้างความสมดุลให้ชีวิตให้แก่ลูกหลาน โดยการปลูกฝังให้เด็กได้มีธรรมะเป็นหลักยึดทางจิตใจ
เป็นเหตุให้หลงเข้าสู่อบายมุขจากสิ่งยั่วยุหรือสิ่งเร้าต่างๆ ได้โดยง่าย
ยอมกระทำผิดศีลเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก
ซึ่งจะเป็นหนทางแห่งความเสื่อมของสังคมในระยะยาว นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
แต่ใช่ว่าจะหมดหนทางแก้ไขและป้องกัน วันนี้มูลนิธิพุทธโฆษณ์ ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัด “โครงการชวนน้องท่องพุทธวจน”ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นโครงการที่จะสนับสนุนความสามารถของเยาวชน ด้านการสาธยายพุทธวจน และจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมให้เยาวชน ผู้ปกครอง ครูอาจารย์
รวมถึงประชาชนได้หันมาสนใจการนำ “พุทธวจน” คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระตถาคต
มาเป็นเสาเขื่อนเสาหลักของจิตใจ เป็นหลักยึดเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต และเสริมสร้างศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
รวมถึงก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 
นางปราณี สืบวงศ์ลี ประธานคณะทำงานชวนน้องท่องพุทธวจน กล่าวว่า โครงการนี้เปรียบเหมือนการฉีดวัคซีนธรรมะให้เด็กอยู่ในศีลในธรรม ไม่ใช่รู้แค่ศีล 5 ที่ต้องรักษา แต่ให้รู้ว่าถ้าไม่รักษาศีล 5 แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งแน่นอนหลายคนอาจจะสงสัยว่า การให้เด็กท่องคำยาก ๆ อย่างนั้นเด็ก ๆ เขาจะเข้าใจหรือ ก็อยากบอกว่า
พระสูตรที่เลือกมาให้เด็กท่องนั้น เป็นพระสูตรที่เด็ก ๆ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
โดยเป็นพระสูตรภาษาไทยที่เด็กสามารถเข้าใจความหมายได้ด้วยตัวเองเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เด็กอาจจะยังไม่เข้าใจในตอนแรก
แต่อยากให้มองว่า เราต้องการฉีดวัคซีนต้องการเพียงแค่ให้เด็กได้จำคำของพระพุทธเจ้า
ถ้าเขาจำได้ เมื่อถึงเวลาจำเป็นที่จะใช้ธรรมะที่เคยท่องจะผุดขึ้นมาเอง จะทำให้เกิดความใคร่ครวญโดยอัตโนมัติ เช่นเดียวกับที่เราท่องสูตรคูณมาตั้งแต่เด็กเวลาที่เราจะใช้ก็ผุดขึ้นมาเอง
นางปราณี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้จากการที่เด็กได้เข้าร่วมโครงการอีกมากมาย เช่น ช่วยเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาไทยของเด็กได้เป็นอย่างดี เป็นโอกาสดีที่คนในครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกันทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และเชื่อว่าจะทำให้พ่อแม่ได้รักษาศีล 5 เข้มขึ้นได้ด้วย เพราะเหมือนเป็นการเริ่มต้นจากเด็ก 7 หมื่นกว่าคนที่จะเข้าร่วมโครงการ แต่ส่งผลถึงคนอย่างน้อย 2 แสนคน
นั่นคือ พ่อแม่ คนในครอบครัว และครู ที่จะได้ยินได้ฟังคำของพระพุทธเจ้า
ได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของศีล 5 เกี่ยวกับเรื่องการทดแทนบุญคุณบิดามารดา การผิดศีลและผลของการผิดศีล
ซึ่งจะทำให้คนกลัวการทำบาปโดยปริยาย ถือเป็นอานิสงส์ทางอ้อมจากโครงการนี้
เพราะฉะนั้นแม้เด็ก 7 หมื่นกว่าคนจะไปต่อในรอบการประกวดระดับจังหวัด กระทั่งถึงชิงชนะเลิศ จนเหลือทีมที่ได้รับรางวัลจำนวน 3 ทีมเท่านั้น แต่ทุกคนจะมีพระสูตรอย่างน้อย 5 พระสูตรที่สามารถท่องได้ขึ้นใจ ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเกราะป้องกันอบายได้อย่างแน่นอน
การแข่งขันจะเริ่มจากระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยให้โรงเรียนส่งนักเรียนเข้าประกวดเป็นทีม ทีมละ 10 คน (เขตพื้นที่ละไม่เกิน 40 ทีม) แล้วคัดให้เหลือทีมที่ชนะในแต่ละเขตจำนวน 366 ทีม เพื่อมาแข่งระดับภาค จากนั้นคัดเลือกไปแข่งระดับประเทศจำนวน 56 ทีม
- ซึ่งทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เดินทางไปท่องแดนพุทธภูมิ ตามรอยพระพุทธเจ้า ณ ประเทศอินเดีย พร้อมถ้วยเกียรติคุณนายกรัฐมนตรีและใบประกาศเกียรติคุณ
- รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติคุณจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
- ส่วนรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับทุนการศึกษา 20,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติคุณจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ทั้งนี้ทีมที่ได้รับคัดเลือกระดับเขต 366 ทีม จะได้รับทุนการศึกษาทีมละ 3,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และ ทีมที่ได้รับคัดเลือกระดับภาค 56 ทีม ได้รับทุนการศึกษาทีมละ 5,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณด้วย
สำหรับ พระสูตรที่ใช้ในการประกวด ในแต่ละระดับประกอบด้วย ระดับจังหวัด 5 พระสูตร คือ
1. การตอบแทนคุณมารดา บิดา อย่างสูงสุด
2. ศีล 5
3. ผลของการมีศีล
4. ผลของการไม่มีศีล และ
5. กายนี้เป็น “กรรมเก่า”
ระดับภาค 5 พระสูตร ประกอบด้วย
1. ความอยากคือต้นเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท
2. ลมหายใจก็คือ “กาย”
3. เจริญสมาธิได้อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง
4. การบูชาตถาคตอย่างสูงสุด และ
5. พินัยกรรมของ “พระสังฆบิดา”
และ พระสูตรสำหรับประกวดรอบชิงชนะเลิศ 7 พระสูตร ประกอบด้วย
1. หากไม่สนใจคำตถาคต จะทำให้เกิดความอันตรธานของคำตถาคต เปรียบด้วยกลองสึก
2. พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิ เมื่อจะพูดทุกถ้อยคำจึงไม่ผิดพลาด
3. คำพูดที่ตรัสมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน
4. แต่ละคำพูดเป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริง ไม่จำกัดกาลเวลา
5. ทรงให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสแล้วเป็นศาสดาแทนต่อไป
6. ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือตัดทอน สิ่งที่บัญญัติไว้ และ
7. เหตุผลที่ต้องรับฟังเฉพาะคำตรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น
ทั้งนี้โรงเรียนที่สนใจส่งนักเรียนเข้าร่วมประกวดท่องพุทธวจน
สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร กติกาการประกวด และพระสูตรปฐมธรรม (17 พระสูตร) ได้ที่
www.nongtongbuddhawajana.com
โดยสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2556 สอบถามรายละเอียด โทร. 09-0918-9301-3.
อรนุช วานิชทวีวัฒน์
ขอบคณภาพข่าวจาก
http://www.dailynews.co.th/education/199745วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น.