วิปัลลาสสูตร
[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส
ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑
ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑
สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้
๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส
ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ๑
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑
ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ๑
สัญญาไม่วิปลาสจิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล ฯ
เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิดมีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่ไม่งามว่างาม
สัตว์คือชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้วในเครื่องประกอบของมาร ไม่เป็นผู้เกษมจากโยคะ มีปรกติไปสู่ชาติและมรณะ ย่อมไปสู่สงสาร
ก็ในกาลใด พระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้กระทำแสงสว่าง บังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้นย่อมประกาศธรรมนี้เป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์ ชนเหล่านั้น ผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามโดยความเป็นของไม่งามสมาทานสัมมาทิฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
จบสูตรที่ ๙_________________________________________________
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๔๑๐ - ๑๔๓๓. หน้าที่ ๖๑ - ๖๒
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1410&Z=1433&pagebreak=0ขอบคุณภาพจาก
http://www.phuketdata.net/ ,
http://www.kammatan.com/วิปัลลาส หรือ วิปลาส 4 (ความรู้เห็นคลาดเคลื่อน, ความรู้เข้าใจผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง)
วิปลาส มี 3 ระดับ คือ
1. สัญญาวิปลาส (สัญญาคลาดเคลื่อน, หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู)
2. จิตตวิปลาส (จิตคลาดเคลื่อน, ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหาร)
3. ทิฏฐิวิปลาส (ทิฏฐิคลาดเคลื่อน, ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเชื่อถือไปตามสัญญาวิปลาส หรือจิตตวิปลาสนั้น เช่น มีสัญญาวิปลาสเห็นเชือกเป็นงู แล้วเกิดทิฏฐิวิปลาส เชื่อหรือลงความเห็นว่าที่บริเวณนั้นมีงูชุม หรือมีจิตตวิลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง จึงเกิดทิฏฐิวิปลาสว่า แผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าบันดาล)
วิปลาส 3 ระดับนี้ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นไปใน 4 ด้าน คือ
1. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง
2. วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข
3. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ว่าเป็นตัวตน
4.. วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม ________________________
อ้างอิง : องฺ.จตุกฺก. 21/49/66
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)