มารธีตุสูตรที่ ๕
ว่าด้วย มารธิดาทั้ง ๓ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
[๕๐๕] ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคาจึงพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไร หรือเศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหน หม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วยบ่วง คือราคะ นำมาถวาย เหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้นชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของคุณพ่อ ฯ
[๕๐๖] พระยามารกล่าวว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ
[๕๐๗] ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์ ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่านั้น เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ......ฯลฯ......... 
[๕๑๔] ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่า เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูดไว้ว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไปได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ
ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วยความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่นพึงพลุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน (จิตลอย)เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้งไป แม้ฉันใดสมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ......ฯลฯ.........

[๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีมารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุในพระศาสนานี้ มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ แล้ว
เวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่งฌานอย่างไหนมาก ฯ
[๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มีอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง
มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่วซึ่งธรรม มีปรกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้
ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฯ
ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว
บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก ฯ
......ฯลฯ.........____________________________________________________
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๔๐๑๐ - ๔๑๓๖. หน้าที่ ๑๗๔ - ๑๗๙.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=4010&Z=4136&pagebreak=0 ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=505ขอบคุณภาพจาก
http://www.84000.org/ ,
http://3.bp.blogspot.com/ ,
http://download.buddha-thushaveiheard.com/