สัตวโลกคบกันโดยธาตุ
เนื่องจากสิ่งทั้งหลายแตกต่างกันเป็นเพราะว่า มีสัดส่วนของธาตุแต่ละชนิดรวมทั้งความบริสุทธิ์ สะอาดแตกต่างกัน ทำให้เกิดคุณสมบัติแตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ สิ่งต่างๆ ในโลกจึงรวมกันหรือแยกกัน เป็นประเภทตามคุณสมบัติ หรือตามธาตุที่แต่ละสิ่งมี
โดยที่สิ่งที่มีคุณสมบัติเหมือนกันก็จะอยู่รวมกัน แต่ถ้าคุณสมบัติ หรือธาตุต่างกันก็จะแยกกัน
อาทิเช่น สิ่งที่มีคุณสมบัติหรือธาตุเหมือนกัน เป็นต้นว่า น้ำ ถ้าเราเทน้ำออกจากภาชนะ 2 ใบ ลงในภาชนะเดียวกัน น้ำนั้นก็จะไหลเข้าไปรวมตัวกันได้อย่างกลมกลืน หรือแม้แต่น้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำจากสถานที่ต่างๆ สุดท้ายก็ไหลไปรวมกันในแม่น้ำ ในทะเล ในมหาสมุทร เหมือนกัน
เช่นเดียวกันกับธาตุอื่น และสิ่งทั้งหลายที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน ก็อยู่ในลักษณะนี้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรานำธาตุที่มีคุณสมบัติต่างกันมาไว้ด้วยกัน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นจะไม่สามารถ รวมกันเป็นเนื้อเดียวกันได้
เป็นต้นว่า น้ำกับน้ำมัน ถ้าเราผสมน้ำกับน้ำมันเข้าด้วยกัน
แม้ว่าจะเขย่าและใช้ความพยายามอย่างไรเพื่อจะให้น้ำกับน้ำมันผสมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
น้ำกับน้ำมันก็ไม่สามารถรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะทั้งสองมีธาตุหรือคุณสมบัติต่างกัน
ไม่เฉพาะวัตถุสิ่งของ แม้มนุษย์และสัตว์ก็เป็นเช่นนั้น สัตว์ประเภทใดก็มีธรรมชาติเข้าไปสู่หมู่สัตว์ประเภทนั้น ดังมีภาษิตที่ว่า “นกเข้าฝูงนก เนื้อเข้าฝูงเนื้อ ปลาเข้าฝูงปลา” เช่นเดียวกับคน ปกติของคนก็จะเข้าคบหาสมาคมกับคนที่มีธาตุเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน อย่างที่เรียกกันว่า ถูกอัธยาศัย หรือใจตรงกัน เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงแสดงไว้ตอนหนึ่งว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ย่อมคบค้าสมาคมกันโดยธาตุทีเดียว คือ พวกมิจฉาทิฏฐิ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉาทิฏฐิ พวกมิจฉาสังกัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉาสังกัปปะ พวกมิจฉาวาจา ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉาวาจา พวกมิจฉากัมมันตะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉากัมมันตะ พวกมิจฉาอาชีวะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกพวกมิจฉาอาชีวะ พวกมิจฉาวายามะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉาวายามะ พวกมิจฉาสติ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกมิจฉาสติ พวกมิจฉาสมาธิ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับพวกมิจฉาสมาธิ
พวกสัมมาทิฏฐิ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาทิฏฐิ
พวกสัมมาสังกัปปะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาสังกัปปะ
พวกสัมมาวาจา ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาวาจา
พวกสัมมากัมมันตะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมากัมมันตะ
พวกสัมมาอาชีวะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาอาชีวะ
พวกสัมมาวายามะ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาวายามะ
พวกสัมมาสติ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาสติ
พวกสัมมาสมาธิ ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันกับพวกสัมมาสมาธิ” 7) จากพุทธดำรัสนี้ ทำให้เราเข้าใจดีถึงสภาพชีวิตจริงในสังคม ที่แต่ละคนต่างก็มีกลุ่ม และเข้าหากลุ่มของตนเอง เพราะว่ามีธาตุใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุนี้ มนุษย์แต่ละคนจึงไปสู่กลุ่มต่างๆ ตามธาตุของตน ซึ่ง เราจะสังเกตเห็นได้ทั่วไปในสังคม เป็นต้นว่า ข้าราชการก็จะเข้าหาสมาคมกับเหล่าข้าราชการด้วยกัน หรือพวกติดยาเสพติด พวกนักเล่นการพนันก็จะไปสู่กลุ่มของตนเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะธาตุในตัวใกล้เคียงกัน ทำให้ดึงดูดเข้าหากัน
ดังนั้นถ้าเราอยากจะไปเข้าสมาคมกลับกลุ่มคนประเภทใด ก็สามารถทำได้ด้วยการทำให้มีธาตุใกล้เคียงหรือเหมือนกับกลุ่มคนเหล่านั้น หรือที่เรียกว่ากลั่นธาตุ หรือแปรธาตุดังที่ได้กล่าว มาแล้ว ในทำนองกลับกันก็พึงสังวรระวังว่า หากเราไปสังสรรค์ผูกสัมพันธ์คบหาใกล้ชิดกับคนประเภทใดแล้ว ธาตุในตัวของเขาก็จะเหนี่ยวนำให้ธาตุในตัวของเราค่อยๆ เปลี่ยนไปใกล้เคียงกับธาตุในตัวของเขาด้วย เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการคบคนพาล แต่หมั่นคบบัณฑิต7) อัฏฐังคิกสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 399-400 หน้า 484-485.
อ้างอิง หนังสือจักรวาลวิทยา
http://book.dou.us/doku.php?id=gl101:2