ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ที่ศักดิ์สิทธิ์กลางกรุง วัดปทุมวนาราม สถูปสรีรางคารแห่งราชสกุลมหิดล  (อ่าน 6571 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29290
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระอุโบสถ

ที่ศักดิ์สิทธิ์กลางกรุง วัดปทุมวนาราม สถูปสรีรางคารแห่งราชสกุลมหิดล
คอลัมน์ : ข่าวสด หลาก&หลาย

กลางย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพ มหานคร วัดปทุมวนารามราชวรวิหารตั้งอยู่สงบเงียบ บนถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน แม้ล้อมด้วยอาคารห้างสรรพสินค้า หากปกคลุมร่มรื่นด้วยต้น ไม้ใหญ่

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร หรือ วัดสระปทุม เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในฐานะพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น โดยมีพระราชดำริถึงบริเวณนาหลวง บริเวณริมคลองบางกะปิ ในพื้นที่ทุ่งพญาไท เป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป จึงมีพระราชประสงค์สร้างสระบัวเพื่อเป็นที่เสด็จประพาสในยามว่างจากพระราชกรณียกิจ

พ.ศ.2396 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จ้างจีนขุดลอกสระกว้าง 2 สระ สระทางด้านเหนือเรียกว่าสระใน ทางด้านใต้เรียกว่าสระนอก ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ในสระทั้งบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ทางฝั่งเหนือของสระใน กำหนดเป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์ ข้างในปลูกโรงเรือนขึ้นเป็นพระที่นั่งสำหรับประทับแรม 1 องค์ เรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับแรมของเจ้าจอม โรงครัวข้างในและโรงครัวเลี้ยงขุนนาง ส่วนสระนอกอนุญาตให้เป็นที่เล่นเรือของข้าราชการและราษฎรทั่วไป


    รมณียสถานแห่งนี้พระราชทานนามว่า "ปทุมวัน" คำนี้แปลว่า ป่าบัวหลวง
    แต่เนื่องจากขุดไว้เป็นสระอย่างงดงาม จึงเรียกกันอย่างลำลองว่า "สระปทุม"
    ส่วนบริเวณที่ประทับ พระราชทานนามว่า "วังสระปทุม" สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2400





เมื่อสร้างสระบัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นที่ทิศตะวันตกของสระนอก เพื่อพระราชทานพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี พระราชทานนามว่า วัดปทุมวนาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารคไปเชิญพระใสและพระแสน มาจากวัดเขมาภิรตาราม นนทบุรี แล้วแห่แหนมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม

วัดปทุมวนาราม แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนหน้าเป็นเขตพุทธาวาส มีพื้นที่ประมาณ 46x127 เมตร ทำแนวกำแพงล้อมโดยตลอด ภายในประกอบด้วยพระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร และต้นพระศรีมหาโพธิ องค์ประกอบทั้งหมดจัดให้วางเรียงอยู่บนแนวแกนเดียวกันทั้งหมดตามลำดับ

พระอุโบสถ เป็นอาคารขนาดย่อม กว้างยาวประมาณ 10.20x 17.20 เมตร แบ่งเป็น 5 ห้อง รูปทรงอาคารทำหลังคาลดหน้า-หลังอย่างละชั้น หน้าบันใช้เครื่องไม้แกะสลักเป็น กระบวนลายกอบัวมีแนวคลื่นเหมือนน้ำ ตอนกลางสลักรูปพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานบนพานมีกรอบรูปดอกบัวล้อม ด้านนอกสลักลาย กนกเปลวโดยรอบ เครื่องประกอบหน้าเป็นเครื่องลำยอง มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

พระอุโบสถ หันเข้าสู่สระปทุมวัน ด้านในของประตูหน้าต่าง เขียนรูปเครื่องบูชาแบบจีนสอดสีสวยงามยิ่ง ภายในพระอุโบสถมีพระประธานมีนามว่า "พระใส" เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนชุกชี 4 ชั้น ข้างหลังองค์พระมีซุ้มประทับ ส่องให้เห็นองค์พระงามเด่นยิ่งขึ้น ผนังหลังพระประธานเขียนเป็นรูปดอกบัวสวรรค์ขนาดใหญ่ แต่ละดอกมีนางฟ้าไปฟ้อนรำอยู่ถึง 7 นาง



พระเสริม


ถัดจากพระอุโบสถ เป็นพระเจดีย์รูปทรงกลม แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยม ตามมุมทั้งสี่มีพุ่มปั้น เป็นรูปดอกซ้อน 4 ชั้น เฉพาะฐานแท้ เป็นรูปกลมข้างในโปร่งเปิดเข้าไปเห็นผนังที่ก่อรับน้ำหนักสามชั้นแต่ละชั้นหนาประมาณสามศอก ตรงกลางเป็นลานว่าง

ปัจจุบัน ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหินอ่อน บันไดขึ้นไปถึงตัวเจดีย์ สร้างเป็นรูปกลมข้างในโปร่งเหมือนกัน ตรงกลางมีพระพุทธรูปไสยาสน์หินอ่อน ด้านข้างมีพระพุทธรูปยืนในท่าต่างๆ ด้านตะวันออกมีรูปอดีตเจ้าอาวาสประดิษฐานอยู่

ถัดจากพระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตก เป็นพระวิหาร มีรูปทรงคล้ายพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส หลังคาลดสองชั้น และต่อระเบียงยื่นหน้าหลัง มุงกระเบื้องลูกฟูกอย่างพระอุโบสถ ประดับช่อฟ้าใบระกา หน้าบันปิดกระจก พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว มีพระนามว่า "พระเสริม" ข้างหน้าพระเสริมมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอย่างเดียวกัน แต่ย่อมกว่าอีกองค์หนึ่ง หน้าตักกว้าง 1 ศอก 6 นิ้ว มีพระนามว่า "พระแสน" ประดิษฐานลดลงมา





ส่วนบริเวณที่หน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดปทุมวนาราม เป็นที่ประดิษฐาน "พระสถูปเจดีย์" สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระสรีรางคารของผู้ที่สืบสายตรงแห่งราชสกุลมหิดลของพระองค์ ด้วยพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับวัดนี้เป็นอย่างมาก

พระสถูปเจดีย์บรรจุพระสรีรางคารของแต่ละพระองค์ ดังนี้
    1. พระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของสมเด็จพระบรมราชชนก บรรจุเมื่อปีพ.ศ.2472 (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ก่อนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมราชชนกได้กราบบังคมทูลพระราชมารดา ให้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งของพระองค์ไว้ ณ พระสถูปเจดีย์ของวัดปทุมวนาราม เพื่อ "สังวาลย์และลูกๆ จะได้มาหาโดยสะดวก")
    2. พระทนต์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพัน วัสสาอัยยิกาเจ้า บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2472
    3. พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2481
    4. หนังส่วนพระเศียรของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล บรรจุเมื่อ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2538
    5. พระอัฐิส่วนหนึ่งของพระโสณี (สะโพก) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี บรรจุเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2538
    6. พระทนต์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรจุเมื่อปี พ.ศ.2539


    พระสถูปเจดีย์แห่งนี้จึงเป็นสถานที่ส่วนพระองค์ของพระประยุรญาติที่สืบสายตรงในการบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายตลอดมา



ศาลาพระราชศรัทธา


บริเวณด้านหลังของวัด คือ สวนป่าพระราชศรัทธา บรรยากาศร่มรื่นเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ทางเข้าสวนป่าด้านซ้ายมือ เคยมีกุฏิที่พักหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่าชื่อดัง เคยมาอยู่ที่นี่ เมื่อพรรษาที่ 8 ปัจจุบันรื้อออกไปสร้างเป็นกุฏิตึกแทน
   
นอกจากนี้ ยังมีศาลาพระราชศรัทธา ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เปิดให้ผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรมทั่วไปมานั่งสมาธิ ฟังธรรม หรือทำกิจทางศาสนา

 :96: :96: :96:

สำหรับประวัติความเป็นมาของศาลาพระราชศรัทธา ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทอดผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

จากนั้นสองพระองค์เสด็จไปถวายบังคมพระสถูปเจดีย์ที่ประดิษฐานพระราชสรีรางคารพระบรมราชชนก และเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังลานปฏิบัติธรรมลานสวนไผ่ ทรงมีพระราชปรารภถึงสถานที่ปฏิบัติธรรม ที่ควรจะสร้างขึ้นอย่างถาวร ไม่ใช่เป็นหลังคาจาก หรือให้อยู่กันตามธรรมชาติแบบที่เป็นอยู่นี้ เพื่อว่าเมื่อมีสถานที่ที่สัปปายะพอสมควรแล้ว จะได้เป็นที่พักใจของคนเมืองกรุงด้วย

จากพระราชปรารภนั้น ต่อมา วัดปทุมวนาราม มีการจัดสร้าง "ศาลาพระราชศรัทธา" ขึ้นในที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และได้รับพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตรา ภปร. ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันศาลา ทั้งสองด้าน และที่ผ้าทิพย์องค์พระพุทธรูปพระเสริมจำลอง ซึ่งอัญเชิญเป็นพระประธานตลอดจนวัตถุมงคลต่างๆ ที่ได้สร้างขึ้นให้พุทธศาสนิกชนบูชา เพื่อนำรายได้สมทบทุนในการสร้างศาลาพระราชศรัทธา





วันที่ 23 เมษายน 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังศาลาพระราชศรัทธา เพื่อทรงวางศิลาฤกษ์ และทรงเททองหล่อพระเสริมจำลอง อัญเชิญประดิษฐานเป็นพระประธานบนศาลาพระราชศรัทธา

วันที่ 25 มีนาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธีเปิดศาลาพระราชศรัทธา ทรงเจิมป้ายศาลา และทรงประกอบพิธีเปิดศาลาพระราชศรัทธาเป็นที่ปฏิบัติธรรม หลังจากนั้นได้เสด็จพระราช ดำเนินไปทอดพระเนตรสวนป่า ข้างศาลาพระราชศรัทธา และบริเวณโดยรอบ

ปัจจุบัน ศาลาพระราชศรัทธา อยู่ในการดูแลและบริหารงานของมูลศาลาพระราชศรัทธาและมูลนิธิถาวรจิตฺตถาวโร-วงศ์มาลัย โดยพระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร จิตตถาวโร) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ ทั้งวันธรรมดา วันหยุด หรือปฏิบัติแบบต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี


ขอบคุณบทความจาก http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE1UazRPRGt4TkE9PQ==&sectionid=
ภาพจาก http://www.watpathumwanaram.com/main/gallery.php
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 18, 2013, 09:52:47 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ