ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ไข่จากไก่ฟาร์ม กับ ไข่จากไก่บ้าน" ไข่อะไรกินแล้วผิดศีล.?  (อ่าน 3673 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

"ไข่จากไก่ฟาร์ม กับ ไข่จากไก่บ้าน" ไข่อะไรกินแล้วผิดศีล.?
บทความ : ศีลที่โลกยุคใหม่ต้องการ โดยพระไพศาล วิสาโล

ในเว็บไซต์ของ"สำนักข่าวชาวพุทธ" (www.budpage.com) เคยมีการตั้งคำถามถึงผู้อ่านว่า หากจะเลือกไข่สักฟองหนึ่งมาทำเป็นอาหาร จะเลือกฟองไหนระหว่างไข่สองฟองนี้ คือ
    ๑.ไข่จากไก่บ้านที่คุ้ยเขี่ยอาหารตามธรรมชาติ
    ๒. ไข่จากไก่ที่เลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่แบบอุตสาหกรรม

ปรากฏว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ตอบคำถามเลือกไข่ฟองที่ ๒ โดยให้เหตุผลว่าเป็นไข่ที่ไม่มีเชื้อ ดังนั้นกินแล้วย่อมไม่ผิดศีลข้อ ๑ ส่วนไข่ฟองแรกนั้น สาเหตุที่ไม่เลือกก็เพราะมีเชื้อ ใครกินเข้าไปย่อมเป็นปาณาติบาต


 :96: :96: :96:

ทัศนะดังกล่าวเป็นเรื่องน่าสนใจเพราะอาจจะสะท้อนความคิดเห็นของชาวพุทธส่วนใหญ่ในเมืองไทยเลยทีเดียว ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ตอบคำถามนี้มองไม่เห็นว่า การกินไข่ฟองที่ ๒ นั้นก็มีส่วนทำให้เกิดการเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วย เพราะเป็นการส่งเสริมการทารุณสัตว์ อีกทั้งยังทำให้เกิดพิษภัยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วย

เป็นที่รู้กันว่าไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มใหญ่ ๆ นั้นจะอยู่อย่างแออัดยัดเยียด และถูกบังคับให้กินตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพราะมีการเปิดไฟให้สว่างจ้าตลอดเวลา ไก่เหล่านี้ภูมิต้านทานต่ำมาก เพราะร่างกายอ่อนแอจึงต้องกินยาฆ่าเชื้อ ซึ่งบ่อยครั้งก็ให้มากเกินไป จนร่างกายอ่อนแอ วันดีคืนดีก็อาจถูกขนทิ้งลงทะเล หากราคาตกต่ำจนไม่คุ้มทุน และไม่แน่ว่าหากมีโรคระบาด ก็อาจถูกฆ่าพร้อมกันเป็นแสน ๆ ล้าน ๆ อย่างในฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้ หรือในทำนองเดียวกับวัวยุโรปที่ถูกคุกคามด้วยโรควัวบ้าและเท้าเปื่อยปากเปื่อย

 :49: :49: :49:

นอกจากผลเสียต่อไก่โดยตรงแล้ว ฟาร์มไก่แบบอุตสาหกรรมยังอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน เพราะฟาร์มเหล่านี้ก่อปัญหามลพิษมาก ไม่ว่าจากขี้ไก่จำนวนมหาศาลที่ถูกระบายลงน้ำ จนน้ำเสีย หรือจากยาและสารเคมีต่าง ๆ ที่ยัดใส่ไก่ทุกตัว จนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ยังไม่ต้องพูดถึงส่วนที่ไหลสู่แหล่งน้ำจนเกิดมลภาวะ

เห็นได้ชัดว่าไข่ฟองที่ ๒ นั้นเกิดจากกระบวนการที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตนานาชนิด จนอาจเรียกได้ว่าเป็นปาณาติบาต ถ้าหากการกินไข่ฟองแรกเป็นปาณาติบาต การกินไข่ฟองที่ ๒ ก็เป็นการสนับสนุนปาณาติบาตอย่างกว้างขวาง เพราะไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ไก่จำนวนมหาศาลถูกฆ่าตายแบบผ่อนส่ง (หรือตายทันทีในกรณีถูกโยนลงทะเล) เท่านั้น หากยังส่งเสริมให้มีการฆ่ามนุษย์แบบผ่อนส่ง (โดยการทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดมลพิษ)





กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ชี้ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะมองเรื่องศีลแต่ในแง่เดียวหรือชั้นเดียว คือมองเฉพาะที่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างซึ่ง ๆ หน้า หรืออย่างชัด ๆ ตรง ๆ ดังนั้นจึงเห็นว่าการกินไข่จากไก่บ้านเป็นการผิดศีล (ซึ่งก็ไม่แน่เสมอไปเพราะไข่อาจไม่มีเชื้อก็ได้) แต่ไม่เห็นว่าการกินไข่จากฟาร์มไก่เป็นการสนับสนุนให้ผิดศีล เพียงเพราะว่าการเบียดเบียนอันเกิดจากฟาร์มไก่นั้นผ่านหลายกระบวนการจนบางครั้งไม่สามารถระบุชัด ๆ ตรง ๆ ว่า ใครเป็นคนทำ

 :96: :96: :96:

ปัญหาก็คือ การมองศีลแค่ชั้นเดียวนั้นเพียงพอหรือไม่สำหรับทุกวันนี้ เพราะสังคมปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก การเบียดเบียนมิได้เกิดจากการกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคล (หรือกับชีวิตอื่น) โดยตรง ชนิดเห็นหน้าเห็นตากันเท่านั้น แต่เรายังสามารถเบียดเบียนหรือทำให้ผู้อื่นชีวิตอื่นเดือดร้อนได้โดยผ่านกลไกต่าง ๆ มากมายในสังคม การที่เราใช้น้ำใช้ไฟอย่างไม่บันยะบันยัง อาจทำให้คนชนบทนับพันนับหมื่นต้องสูญเสียที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าและผันน้ำให้คนกรุงใช้ตลอดปี การบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยของคนในเมืองหมายถึง ขยะและมลพิษจำนวนมหาศาลที่เกลื่อนกล่นชนบททั้งบนดิน ใต้ดินและตามแหล่งน้ำ

ในขณะที่รายได้จากการส่งผลิตผลทางการเกษตรไปขายยังต่างประเทศ แทนที่จะช่วยชาวนาชาวไร่ให้ลืมตาอ้าปากได้ กลับถูกดูดมาหล่อเลี้ยงชีวิตอันสุขสบายของคนในเมือง โดยผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับคือหนี้สินและความยากจน การเบียดเบียนเหล่านี้นอกจากเกิดขึ้นโดยผ่านระบบตลาดที่ยึดหลักใครมือยาวสาวได้สาวเอาแล้ว ยังเกิดจากกลไกรัฐและนโยบายนานาชนิดของรัฐ

อาทิ นโยบายพลังงาน นโยบายอุตสาหกรรม นโยบายจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนโยบายการเกษตร ซึ่งล้วนแต่ผันทรัพยากรทุกชนิดของคนส่วนใหญ่ในประเทศไปเอื้อให้แก่คนส่วนน้อยในเมืองในนามของการพัฒนา หาไม่ก็ผลักภาระให้แก่ชาวไร่ชาวนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความสะดวกสบายแก่คนเมือง





พูดง่าย ๆ คือกลไกต่าง ๆ ในสังคมสมัยใหม่ ได้กลายเป็นเครื่องมือที่เพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้คนในการเบียดเบียนกันหรือสร้างความทุกข์แก่กัน เป็นแต่ว่าแทนที่จะทำกับคนใกล้ตัวที่เห็น ๆ หน้า ก็ไปทำกับคนที่อยู่อีกมุมหนึ่งของประเทศหรือของโลก ซึ่งไม่เห็นหน้าค่าตา และดังนั้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเขาจึงไม่ปรากฏซึ่งหน้าคาตา แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างให้ปฏิเสธความรับผิดชอบได้โดยเฉพาะสำหรับชาวพุทธที่ปรารถนาชีวิตและสังคมที่ดีงาม

ศีลนั้นมิได้เป็นไปเพื่อชีวิตที่สุขสงบเท่านั้น หากยังมุ่งให้เกิดสังคมที่ผาสุกด้วย แม้จะอ้างว่าการเบียดเบียนโดยผ่านกลไกต่าง ๆ ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นโดยเจตนา ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นบาปหรืออกุศลกรรมแต่จะพ้นวิบากกรรมไปเลยนั้น หาได้ไม่ เพราะถึงแม้จิตใจจะไม่เศร้าหมอง แต่การกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลสะท้อนกลับมาสู่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะสังคมที่มีการเบียดเบียนดังกล่าวย่อมไม่อาจสงบสุขได้ ความยากจนที่เพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากการสูญเสียที่ดินและทรัพยากรยังชีพ

อาชญากรรมที่ตามติดมา รวมทั้งธรรมชาติที่แปรปรวน และมลพิษที่แพร่ระบาดไปทั่ว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนนำหายนะมาสู่สังคม และบั่นทอนชีวิตของทุกคนที่มีส่วนในการสนับสนุนกลไกซึ่งเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบดังกล่าว เราอาจพ้น"กรรมส่วนบุคคล" แต่ไม่อาจหนีพ้น"กรรมร่วม"ที่ช่วยกันก่อได้เลย


 ans1 ans1 ans1

ด้วยเหตุนี้ศีลในสังคมสมัยใหม่จึงไม่ควรที่จะจำกัดอยู่แค่การกระทำระหว่างบุคคลต่อบุคคลเท่านั้น หากควรคลอบคลุมไปถึงการกระทำที่ผ่านกลไกและระบบต่าง ๆ ในสังคมด้วย การรักษาศีลจึงไม่ควรหมายถึงการไม่เบียดเบียนซึ่ง ๆ หน้า ชัด ๆ ตรง ๆ แต่ควรรวมถึงการไม่สนับสนุนกลไก ระบบ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เบียดเบียนหรือก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นหรือชีวิตอื่นด้วย แน่นอนว่าการรักษาศีลในความหมายหลังนี้เป็นเรื่องยาก เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ทั่วถึงว่าการกระทำของเราอะไรบ้างที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเบียดเบียนกัน

แต่ศีลในความหมายเช่นนี้แหละที่จะทำให้เราต้องใส่ใจกับการไตร่ตรองตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรือการประกอบอาชีพก็ตาม ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่จะก่อความทุกข์แก่ผู้อื่นแม้โดยไม่เจตนาก็ตาม ศีลในความหมายนี้แหละที่จะเป็นฐานอันมั่นคงให้แก่สังคมที่สงบสุขและสันติอย่างแท้จริง

 



การทำความดีในพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจตนาที่เป็นกุศลเท่านั้น หากยังขึ้นอยู่กับปัญญาคือการแลเห็นความจริง และการตระหนักรู้ในผลที่เกิดจากการกระทำนั้น ๆ ด้วย แม้จะให้ทานด้วยเจตนาดี แต่ถ้าไม่มีวิจารณญาณในการให้ หรือให้โดยไม่รู้ว่าเป็นโทษแก่ผู้รับ ทานนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นบุญ อย่างน้อยก็ไม่เรียกว่าเป็นสัปปุริสทานหรือทานของสัตบุรุษ

ในทำนองเดียวกันหากประสงค์จะมีชีวิตที่งดงามด้วยศีล ลำพังการไร้เจตนาเบียดเบียนย่อมไม่เพียงพอ หากจำเป็นต้องมีการพิจารณาด้วยสติปัญญาอย่างดีที่สุดเพื่อไม่ให้วิถีชีวิตหรือการกระทำของตนก่อความทุกข์ยากเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

ด้วยเหตุนี้ความรู้ความเข้าใจในผลกระทบจากกลไกต่าง ๆ ในสังคมที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ตลอดจนการตรวจสอบติดตามผลที่เกิดจากการกระทำของเราทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับจริยธรรมหรือการรักษาศีลในสังคมสมัยใหม่


 
ที่มา มติชนรายวัน วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
http://www.visalo.org/article/matichon254405_2.htm
ภาพจาก http://www.rakbankerd.com/ , http://www.manager.co.th/ , http://www.triptravelgang.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ