ภาพวาดแสดงปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารของยาน MOM
เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในอีกกว่า 300 วันข้างหน้า (ภาพจากอินเดียไทม์ส)
รู้จัก MOM ยานสำรวจดาวอังคารสัญชาติอินเดีย
เดือน พ.ย.2013 เป็นอีกช่วงเวลาที่มีความหมายสำหรับวงการอวกาศอินเดีย หลังจากสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้บริการทางด้านอวกาศมาร่วม 50 ปี และส่งยานไปวนรอบดวงจันทร์มาครั้งหนึ่งแล้ว อินเดียก็พร้อมแสดงศักยภาพในการสำรวจดาวเคราะห์เพื่อนบ้านอย่างดาวอังคารบ้าง
ยานมาร์สออร์บิเตอร์มิสชัน (Mars Orbiter Mission: MOM) หรือ “มงคลยาน” (Mangalyaan) ที่คนอินเดียรู้จัก เป็นยานในภารกิจสำรวจดาวอังคารขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation: ISRO) ซึ่งได้ทะยานฟ้าจากศูนย์อวกาศตีศธวัน (Satish Dhawan Space Centre SHAR) บนเกาะศรีหริโกฏา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2013 โดยการนำส่งของจรวดนำส่งดาวเทียมขั้วโลก (Polar Sattellite Launch Vehicle: PSLV-XL)

ทั้งนี้ ยานไม่มีเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนด้วยตัวเอง จรวดนำส่งจึงต้องนำยานวนรอบโลกเป็นเวลาเกือบเดือนเพื่อให้มีความเร้วหลุดพ้นจากแรงดึงดูดโลก และยานจะใช้เวลากว่า 300 วันเพื่อเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารโดยการควบคุมของอินเดียในวันที่ 21 ก.ย.2014 เมื่อยานเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร จากนั้นอินเดียจะเริ่มการทดลองวิทยาศาสตร์ ส่วนหนึ่งคือการตรวจวัดมีเทนในบรรยากาศดาวอังคาร
ข้อมูลจากเว็บไซต์องค์การวิจัยอวกาศอินเดียระบุว่า ยาน MOM มีอุปกรณ์ในการศึกษาดาวอังคาร 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่ศึกษาบรรยากาศดาวอังคาร ที่ประกอบด้วย เซนเซอร์ตรวจวัดมีเทน และเซนเซอร์ตรวจดิวเทอเรียม (หรือไอโซโทปของไฮโดรเจน) และไฮโดรเจน จากการปลดปล่อยไลแมน-อัลฟา (Lyman-Alpha) ในบรรยากาศชั้นบนของดาวอังคาร 2.ส่วนศึกษาอนุภาคแวดล้อมในบรรยากาศชั้นนอกของดาวอังคาร และ 3.บันทึกภาพดาวอังคาร ที่ประกอบด้วยกล้องบันทึกภาพสามสี และกล้องบันทึกภาพอินฟราเรด
ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นปฏิบัติการสำรวจดาวเคราะห์อื่นครั้งแรกของอินเดีย นับแต่เข้าสู่วงการอวกาศเมื่อปี 1963 โดยอินเดียเพิ่งประกาศทำโครงการไปดาวอังคารเมื่อเดือน ส.ค.55 ที่ผ่านมา และยังมีแผนคร่าวๆ ที่จะส่งคนไปดาวอังคารด้วย

วิศวกรอินเดียประกอบยาน MOM (ISRO)
วิศวกรอินเดียทำการทดสอบยาน MOM (ISRO)
ยาน MOM ในขั้นตอนการทดสอบหลังประกอบเสร็จ โดยวิศวกรอินเดีย (ISRO)
ทดสอบในสภาพสุญญากาศภายในอุโมงค์ขนาดใหญ่ (ISRO
)
ทดสอบทางด้านเสียง (ISRO)
ทดสอบทางแม่เหล็กไฟฟ้า (ISRO)
เตรียมนำไปทดสอบก่อนปล่อย (ISRO)
เตรียมความพน้อมก่อนปล่อยยานที่ฐานยิงจรวดของศูนย์อวกาศตีศธวัน (ISRO)
ติดตั้งบนชิ้นส่วนจรวด (ISRO)
ประกอบเข้ากับจรวด (ISRO)
จรวดท่อนที่ติดตั้งยาน (ISRO)
จรวด PSLV-C25 นำยาน MOM ทะยานฟ้า เมื่อ 5 พ.ย.2013 (ISRO)
ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000138180