วิศวกรสันติภาพ จาริกแดนพุทธภูมิ...ตามรอยสันติธรรม
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
"แบบอย่างที่ยิ่งใหญ่คือแรงแรงบันดาลใจที่ยอดเยี่ยม" เพราะแบบอย่างที่ดีที่เกิดจากเสียงของบุคคลอื่น หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก (ปรโตโฆษะ) ถือได้ว่าเป็นกัลยาณมิตร อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดสัมมาทิฐิ และพัฒนาปัญญาตามกระบวนการคิดแบบโยนิโสมนสิการ การตระหนักรู้ถึงความสำคัญดังกล่าว จึงทำให้โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ จำเป็นต้องนำนิสิตที่กำลังได้รับการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ รุ่นที่ ๑ เดินทางไปแสวงหาสันติธรรม ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย เป็นระยะเวลา ๑๐ วัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ ๑๖ จนถึง ๒๖ มกราคม ๒๕๕๖ ตามโครงการ "จาริกแดนพุทธภูมิตามรอยสันติธรรม"
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการนี้ เพื่อมุ่งกระตุ้นเตือนให้นิสิตได้เกิดแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ (กัตตุกัมมยตาฉันทะ) อันเกิดจากการตามรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นร่องรอยแห่งสันติธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระกรุณาคุณเสียสละชีวิตของพระองค์เพื่อทำหน้าที่ในการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพ และส่งต่อลมหายใจแห่งสันติภาพตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งชี้ให้มนุษยชาติได้ตระหนักว่า "ในบรรดาความสุขต่างๆ ในโลกนี้ ไม่มีความสุขอื่นใดที่จะยอดเยี่ยมไปกว่าสันติสุข" จากปณิธานเช่นนี้ จึงทำให้ทุกตารางนิ้วที่พระองค์เสด็จไปอุดมไปด้วยความสุขอันเกิดจากสันติภาพ และอยู่ร่วมกันด้วยความรัก เคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ท่ามกลางความหลากหลาย และแตกต่าง
นอกจากนี้ โครงการฯ จะนำนิสิตเข้าศึกษา เรียนรู้ และซึมซับบทเรียนจากนักสันติภาพที่โลกไม่เคยลืมเลือน คือ "มหาตมะ คานธี แม่ชีเทเรซ่า และ ดร.อัมเบการ์" บทบาทของนักสันติภาพทั้งสามท่านที่โดดเด่น คือการทำหน้าที่ในฐานะ "ผู้ปลดปล่อย" กล่าวคือ มหาตมะ คานธีปลดปล่อยชาวอินเดียจากการครอบครองของอังกฤษ แม่ชีเทเรซ่าปลดปล่อยความทุกข์ยากลำบากของกลุ่มคนที่หิวโหยและยากไร้ ในขณะที่ ดร. อัมเบการ์ได้ปลดปล่อยอิสรภาพให้แก่ชาวจันฑาล และชาวศูทรจำนวนมาก เพื่อไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและความเชื่อเรื่องวรรณะ ที่จำกัดพื้นที่ในการฝึกฝนและพัฒนาศักยภาพของตนเอง
โครงการฯ เชื่อมั่นว่า การจาริก หรือท่องไปในดินแดนพุทธภูมิตลอดเวลา ๑๐ วัน จะก่อให้เกิดคุณูปการอย่างมหาศาลในการจุดประกายแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ผ่านการเรียนรู้จากแบบอย่างที่ทรงคุณค่า ดังที่สุภาษิตจีนได้ชี้ในประเด็นนี้ว่า "อ่านหนังสือหมื่นเล่ม มิสู้เดินทางหมื่นลี้ ซึ่งเรื่องราวที่เราได้ยินได้ฟังไม่มีให้ศึกษาในตำราดอก" คำกล่าวเช่นนี้พยายามจะสะท้อนว่า ในบางสถานการณ์ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน ผลดีที่จะเกิดตามมาหลังจากนี้ สังคมไทยจะมีวิศวกรสันติภาพรุ่นใหม่จำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งปริมาณ และคุณภาพ ที่ผ่านการบ่มเพาะ และพัฒนาทักษะชีวิตทั้งด้านกายภาพ พฤติภาพ จิตภาพ และปัญญาภาพ อีกทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคม สอดรับกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาหลักสูตรของโครงการที่ว่า "สันติศึกษา พัฒนาชีวิตและสังคม อุดมสันติ" 
อนึ่ง ขณะนี้ โครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา ภายใต้การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำนักงานศาลยุติธรรม และสถาบันพระปกเกล้า กำลังเปิดรับสมัคร "วิศวกรสันติภาพ" รุ่นที่ ๒ ตั้งแต่วันนี้จนถึง ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๗ ผู้สนใจเข้าร่วมศึกษาในหลักสูตรฯ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ ๐๘๑ ๘๗๕ ๙๑๕๔, ๐๘๐ ๒๗๙ ๔๑๘๔ หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.ps.mcu.ac.th
ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20140108/176412.html