ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เข้า "วัด" สำรวจชีวิตที่หลากหลาย​​​​​  (อ่าน 868 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เข้า "วัด" สำรวจชีวิตที่หลากหลาย​​​​​

ภาพลงรักปิดทองบนบานหน้าต่างวัดอุโบสถบรวรนิเวศวิหาร ไม่ได้มีแต่สัตว์หิมพานต์ แต่มีสัตว์ป่าของไทยที่ช่างฝีมือโบราณบรรจงสร้างไว้ หลักฐานจากภาพวาดโบราณ อาจใช้ติดตามต้นกำเนิดสายพันธุ์ สัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู หมา แมว วัว ไก่ ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจสอบ และจำแนกสายพันธุ์ลงลึกในระดับพันธุกรรม แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างภาพเขียนถือเป็นสิ่งอ้างอิงที่ช่วยสนับสนุน หรือท้วงติงเพื่อตรวจสอบสมมุติฐาน


       เข้าสู่ช่วงปิดเทอม ถึงเวลาที่ผู้ปกครองต้องจัดการกับเวลาว่างของลูกหลาน บางคนไปเรียนภาษา ท่องเที่ยว ร้องเต้นเล่นละคร นายปรี๊ดขอแนะนำให้พาเด็กๆ สำรวจรอบรั้ววัด นอกจากเย็นใจ ยังมีเรื่องราวความหลากหลายของชีวิตที่น่าค้นหาซ่อนอยู่
       
       สัปดาห์ก่อนญาติผู้ใหญ่ชวนนายปรี๊ดไปไหว้พระเก้าวัด แต่ถึงเวลาจริงแค่ได้ไหว้แค่ 3 วัดก็หมดเวลาแล้ว เพราะนายปรี๊ดมัวเถลไถลเดินดูต้นไม้ ดอกไม้ หินแกะสลัก จิตรกรรมฝาผนัง และบานไม้แกะสลักอยู่นานสองนาน
       
       เรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในวัด ไม่ได้มีแค่เรื่องลึกลับ หรือความเชื่อ แต่มีเรื่องราวของวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติให้คนรุ่นเราได้ศึกษาทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์


        :88: :88: :88:

       ความผูกพันของธรรมชาติกับวิถีชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ต้นไม้และสรรพสัตว์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยิ่งในสังคมเกษตรกรรมแล้ว การพึ่งพิงธรรมชาติเป็นแรงบันดาลของงานศิลปะของชนทุกชาติ นักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ หลายคนเห็นพ้องว่า ภาพเขียนสีหลายแห่งในไทยที่เล่าถึงการล่าสัตว์และปลูกพืช น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันภูมิปัญญาการ “ปลูกข้าว” ในเขตสุพรรณภูมิ ที่เชื่อมโยงกับหลักฐานการปลูกข้าวของชาติพันธุ์ในเขตจีนตอนใต้
       
       ความหลากหลายของจิตรกรรมฝาผนัง และบานไม้แกะสลัก สามารถสร้างเป็นกิจกรรมเล็กๆ ได้ วัดในกรุงเทพและหัวเมืองต่างๆ นิยมวาดภาพ “สัตว์หิมพานต์” ตามคติทางศาสนาที่ถือว่าอุโบสถเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเขาพระสุเมรุซึ่งมีสัตว์หน้าตาประหลาดมากมายอาศัยอยู่ กิจกรรมสนุกๆ ที่ใช้ในการฝึกทักษะการจำแนกสิ่งมีชีวิตได้ดีคือการทำ “อนุกรรมวิธานสัตว์หิมพานต์”


        :sign0144: :sign0144: :sign0144:

       นายปรี๊ดไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมนี้ แต่คาดว่าครั้งแรกๆ เกิดขึ้นในค่ายโอลิมปิกวิชาการสาขาชีววิทยา และค่ายนักเรียนทุนพสวท. กิจกรรมนี้ใช้หลักการพื้นฐานของการจำแนกสิ่งมีชีวิตจากรูปร่างหน้าตาภายนอก แล้วแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ ตามความเหมือนที่สังเกตได้ทีละคู่ หรือเรียกว่าการจำแนกแบบไดโคโตมัสคีย์ (dichotomous key)
       เช่น ครั้งแรกแยกจากสัตว์ที่มีขาและไม่มีขา ต่อไปแยกจากจำนวนขา ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ



มาลัยและเครื่องแขวนดอกไม้สดในวัด ถือเป็นความสวยงามที่แฝงนัยของการพึ่งพิงธรรมชาติในวิถีชีวิตแบบไทยๆ สมัยนายปรี๊ดเป็นเด็ก การเรียนร้อยพวงมาลัย แม้จะน่าเบื่อแต่ก็ฝึกความใจเย็น และอดทน ที่สำคัญคือการเตรียมดอกไม้ที่สมัยก่อนมักไม่ต้องซื้อหา แต่เปิดโอกาสให้เด็กๆ รวมตัวกันออกไปเก็บหาวัสดุในธรรมชาติ ได้รู้ว่าบ้านไหนปลูกอะไร แมลงชนิดไหนอาศัยต้นอะไรอยู่ เสมือนการเรียนรู้ทรัพยากรในท้องถิ่นผ่านงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ


       การจำแนกสัตว์ป่าหิมพานต์ เป็นการจำลองว่าหากเราเป็นนักชีววิทยาที่หลงเข้าไปอยู่ในป่าที่ไม่มีใครเคยรู้จัก เราจะมีทักษะการสังเกตและตรรกะดีพอที่จะจำแนกสัตว์ออกเป็นกลุ่มๆ หรือไม่ จนอาจมีคำถามต่อว่าจากรูปร่างที่ช่างเขียนสร้างขึ้น ถ้าพวกมันอยู่ในธรรมชาติจริง น่าจะอยู่อาศัยอย่างไร กินอะไร มีพฤติกรรมแบบไหน เชื่อมโยงกับสัตว์ที่เราพบได้อย่างไร
       
       นอกจากสัตว์หิมพานต์ สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าที่มีอยู่จริงและปรากฏอยู่ในงานศิลปะภายในวัดก็ไม่ควรถูกมองข้าม ภาพจิตรกรรมฝาผนังและภาพวาดในสถานที่สำคัญทางศาสนา เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญในการไขประวัติศาสตร์ของการพัฒนาสายพันธุ์ และการโยกย้ายสิ่งมีชีวิตในประเทศต่างๆ ควบคู่ไปกับการตรวจสอบด้วยวิทยาการสมัยใหม่


        :96: :96: :96:

       ตัวอย่างเช่นภาพเขียนของนกแก้วโมงจากอินเดีย ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Alexandrine parrot หรือ นกแก้วของพระเจ้าอเล็กซานเดรีย เป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการขยายอิทธิพลของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเหนือแหล่งเครื่องเทศขยายใหญ่อย่างอินเดีย และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้า สะสม และความพยายามในการสะสมและขยายพันธุ์สัตว์แปลกๆ จากทวีปเอเชียในยุโรป
       
       เรื่องการถอดประวัติศาสตร์ด้านชีววิทยาในบ้านเรายังไม่มีใครถอดความรู้อย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น นายปรี๊ดเคยอ่านพบหลักฐานการนำเข้า “จิงโจ้” สมัย ร.5 จากภาพจิตรกรรมฝาผนังของสัตว์คล้ายจิงโจ้ในวัดหลวงแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งถูกเล่าในบทความของศิลปินแห่งชาติท่าน ส.พลายน้อย ที่พูดถึงการนำเข้าของแปลกสู่สยาม แต่จนบัดนี้ก็ยังค้นหาบทความนั้นไม่พบ แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้นายปรี๊ดพยายามมองหา “จิงโจ้” ตัวนั้นตามผนังวัดอยู่จนทุกวันนี้

        :49: :49: :49:

       ต้นไม้หายากในวัดก็เป็นสิ่งที่น่าติดตามค้นหา เพราะนอกจากความร่มรื่นแล้ว ต้นไม้หายากถือเป็นของมีค่าที่นักเลงต้นไม้มักนำมาปลูกในวัดเพื่อเป็นพุทธบูชา ในรายงานการสำรวจไม้หายากในวัดของกรุงเทพฯ โดย ผศ.วิชัย ปทุมชาติพัฒน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งสำรวจพรรณไม้จากวัด 236 แห่ง จาก 433 แห่งในจังหวัดกรุงเทพ ได้พบพรรณไม้ยืนต้นถึง 227 ชนิด พบพืชหายากตามหนังสือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน ๙ ชนิด ได้แก่ กฤษณา ขยัน (หญ้านางแดง) คำมอกหลวง จำปีสิรินธร ใบสีทอง มหาพรหม สะตือ อรพิมและศรียะลา
       
       ตัวอย่าง พรรณไม้หาดูยากในกรุงเทพฯ หลายชนิด เช่น กระเบาที่วัดเบญจมบพิธ เกดที่วัดราชนัดดาราม การบูรที่วัดนายโรง ขันทองพยาบาทที่วัดประยุรวงศาวาส ไข่เน่าที่วัดโสมนัสวิหาร จันทน์หอมที่วัดนรนาถสุทธิการาม เจ้าหญิงสีชมพูที่วัดนายโรง เฉียงพร้านางแอที่วัดอัปสรสวรรค์ ช้าแป้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลา ดิ๊กเดียมที่วัดเทพศิรินทราวาส ตะคร้อหนามที่วัดบางยี่ขัน มะกอกเกลื้อนที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มะเกลือเลือดที่วัดนรนาถสุนทริการาม มะแพร้วที่วัดนางชี ลำไยเถาที่วัดเปาโรหิตย์ สมอพิเภกที่วัดโสมนัสวิหาร สมอไทยแคระที่วัดราชาธิวาส สาละอินเดียที่วัดราชบพิธและวัดเบญจมบพิธ แสลงใจที่วัดโมลีโลกยาราม ส้มกบที่วัดสัมพันธวงศ์ หางนกยูงฝรั่งสีทองที่วัดมะพร้าวเตี้ย และเอกมหาชัยที่วัดเทพนารี เป็นต้น


        :88: :88: :88:

       ในวัดไม่ได้มีแต่หมา แมวจรจัด แต่นกและสัตว์เล็กๆ ที่อาศัยในวัดก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะวัดคือเขตอภัยทานหรือ ในด้านชีววิทยาการอนุรักษ์ นักนิเวศวิทยาถือว่าป่าในวัดมีค่าเทียบเท่ากับป่าชุมชน และถือว่าเป็น Cultural wildlife sanctuary หรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์เชิงวัฒนธรรม ที่ไม่ต้องเสียกำลังคนจัดการดูแลมากนักแต่ก็เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่ปลอดภัยได้ หากมองหาดีๆ ในวัดไม่ได้มีแต่นกพิราบ แต่มักพบนกกินปลีหรือนกกาฝากตัวเล็กๆ นกขมิ้น นกกาเหว่า นกตีทองสีสด นกนางแอ่น กระรอก กระแต กระจ้อน ฯลฯ ก็พบว่าอาศัยอยู่ได้อย่างสงบแม้แต่ภายในวัดใหญ่ๆ กลางใจเมือง
       
       การศึกษาเชิงวิชาการและทำรายชื่อพรรณไม้ และสัตว์ขนาดเล็กภายในวัดและสถานที่สำคัญ มีการศึกษาและทำรายงานอยู่หลายฉบับ ทั้งในกรุงเทพ และจังหวัดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ แต่ยังไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้จริง หากมีบุคคลากรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น กรรมการสถานศึกษา สพฐ. มหาวิทยาลัย หรือแม้กระทั่ง สนง.กรุงเทพมหานคร ใส่ใจ นำมาสร้างเป็นโปรแกรมศึกษาธรรมชาติใกล้ตัว ก็น่าสนใจ ถึงขั้นที่ น่าสร้างจุดขายให้นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจเฉพาะด้วยซ้ำไป

        :s_hi: :s_hi: :s_hi:

       เรื่องราวในวัดยังมีมุมมองดีๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องสภาปัตยกรรม เช่น บางวัดสร้างอุโบสถแบบท้องแอ่นเลียนแบบเรือสำเภา ซึ่งหากมองในแง่ฟิสิกส์ก็น่าแปลกใจว่าช่างโบราณทำไมจึงคำนวนโครงสร้างแปลกๆ ได้แข็งแรงแม่นยำ ปิดเทอมนี้ลองพาตัวเอง และเด็กๆ เข้าวัด ไหว้พระแล้ว ก็ชี้ชวนกันดูภาพวาด ปูนปั้น หรือสำรวจรอบรั้ววัด เพราะในวัดยังมีเรื่องราวมากมาย ลองเปิดตาเปิดใจแล้วจะพบว่าในวัดไม่ได้มีแต่หมาวัดแมววัดอย่างที่คุ้นเคย

       

อ้างอิง http://chm-thai.onep.go.th/chm/city/research%20and%20media.html
ขอบคุณภาพและบทความจาก http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9570000024127
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ