ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย ถวายแด่พระสังฆราช  (อ่าน 1257 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทยถวายแด่พระสังฆราช
โดย วรธาร ทัดแก้ว

งานบำเพ็ญกุศลศพในแบบวัชรยาน ถวายแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทางวัดบวรนิเวศวิหาร ร่วมกับสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติงดงามเพิ่งผ่านไปหมาดๆ ของค่ำคืนวันที่ 19 มี.ค. ณ ลานด้านหน้าพระตำหนักเพ็ชร โดยงานนี้นอกจากชาวไทยจะเดินทางมาร่วมงานคับคั่งแล้วชาวอินเดียในประเทศไทย ซึ่งนำโดย มร.ฮัช วาร์ดัน ชริงลา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย พร้อมคณะก็มาร่วมงานด้วย

ความจริงงานนี้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. ทว่าเป็นช่วงของการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดเรียบร้อยก่อนที่ไฮไลต์ของงานจริงๆ จะมีในวันที่ 19 ซึ่งเป็นวันประกอบพิธีวัชรยานบูชาเต็มรูปแบบ ซึ่งงานนี้จะสมบูรณ์ตามแบบฉบับของวัชรยานนั้นจะขาด “ลามะ” ซึ่งเป็นผู้จัดแจง เตรียมการ และประกอบพิธีกรรมต่างๆ มิได้ สถานทูตอินเดียจึงได้เชิญลามะจาก Arunachal Pradeshมาประกอบพิธีดังกล่าวเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทย

สิ่งหนึ่งที่มีการเตรียมการมาตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. และมาแล้วเสร็จในวันที่ 19 มี.ค.ในช่วงเวลา 17.00 น.โดยประมาณ ก็คือ การสร้างพุทธมณฑลทราย หรือ มันดาล่าทราย โดยฝีมือการสร้างสรรค์ของพระทิเบตที่เราเรียกว่า ลามะ ทุกขั้นตอนในการสร้างสรรค์มันดาล่าบ่งบอกถึงการปฏิบัติอย่างตั้งใจและต้องใช้สมาธิขั้นสูง



พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรฯ  กล่าวว่า การสร้างมันดาล่าในงานบำเพ็ญกุศลพระศพสมเด็จพระญาณสังวรครั้งนี้ทำเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรโดยใช้หินอ่อนตกผลึกสีขาวนำมาบดเป็นทรายหลายขนาดนำไปย้อมสี ซึ่งมีทั้งสีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ดำ น้ำตาล ส้ม ฟ้า เหลืองอ่อน แดง และเขียวอ่อน สะท้อนให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของสรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

“โดยทั่วไปมันดาล่าอาจสร้างขึ้นจากดอกไม้ เมล็ดข้าวแห้ง หรือการแกะสลัก ก็ได้ แต่ในงานนี้สร้างด้วยทรายบนแท่นพื้นเรียบ ด้วยอุปกรณ์ซึ่งเป็นกรวยโลหะที่เรียกว่า chak-pu และเครื่องขูดที่ทำจากไม้เรียกว่า shing-ga ทุกขั้นตอนต้องใช้สมาธิขั้นสูงในการทำ อย่างไรก็ตาม ตามธรรมเนียมของพุทธศาสนามหายานเมื่อสร้างเสร็จจะต้องมีการทำลายหรือลบทิ้ง อันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และนี่คือปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในมันดาล่าทรายเป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา”

เจ้าคุณศากยวงศ์วิสุทธิ์ เสริมว่า มันดาล่าทรายคือวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่สร้างสมคุณความดีและความบริสุทธิ์ขึ้นจากพลังในตัวมันดาล่าเอง ทั้งยังสร้างสมบุญให้แก่ผู้ทำมันดาล่าทราย ผู้สนับสนุนการสร้างมันดาล่าและผู้ที่ได้เห็นมันดาล่า ขณะที่สร้างพระสงฆ์ได้อัญเชิญพลังศักดิ์สิทธิ์มาสถิตในมันดาลาซึ่งจะเป็นสิริมงคลให้กับผู้ที่ได้มาเยี่ยมชมและยังช่วยคุ้มครองปกป้องสถานที่ซึ่งมันดาลานั้นตั้งอยู่อีกด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่มีการจัดทำขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 เช่นกัน คือการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนย (Butter Sculpture) และมีการอัญเชิญขึ้นไปบูชาด้านหน้าพระโกศ ในตำหนักเพ็ชร เจ้าคุณชาวเนปาลศิษย์สมเด็จพระสังฆราช อธิบายว่า การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยนี้เป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัยที่มีมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 15 โดยปั้นจากเนยสีต่างๆ เป็นรูปทรงสวยงาม เป็นประเพณีสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันยังมีพระสงฆ์จำนวนมากที่ปฏิบัติกิจเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยในงานที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะมีขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนจันทรคติที่ 1 ซึ่งเป็น Losar(ปีใหม่) หรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ และเป็นการถวายสักการะแด่พระพุทธเจ้า



“ในงานนี้เครื่องบูชาสักการะเนยได้ปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปดอกไม้ และสัตว์ต่างๆ สวยงาม มีการพิธีปลุกเสกพร้อมมันดาล่าโดยพระลามะ ก่อนที่จะอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐานด้านหน้าพระโกศสมเด็จพระญาณสังวร”

โดยหลังจากที่มีการอัญเชิญเครื่องบูชาสักการะเนยไปประดิษฐาน ณ ด้านหน้าพระโกศ แล้วก็เป็นการประกอบพิธีสวดมนต์น้อมถวายพระศพฯ เรียกว่า Nyensen ซึ่งเป็นบทบรรเลงภาวนาพลังอำนาจแห่งความดีอันก่อให้เกิดการหยั่งรู้ แบบสร้างสรรค์ผ่านบทร้องและเสียงดนตรีที่ถูกถักทอเข้าด้วยกันผสานกับจิตวิญญาณแห่งความดีอันเสมือนบทบรรเลงสู่พุทธมหรสพในเทศกาลอินเดียโดยพระลามะ 10 รูป

ปิดท้ายด้วยการรำบูชาอีก 3 ชุดเป็นเสร็จพิธีบูชาแบบวัชรยาน โดยการรำทั้ง 3 ชุดประกอบด้วย Khadro Garcham ระบำแห่งทูตสวรรค์ ซึ่งเป็นชุดการรำของพระลามะ 5 รูปอันเป็นสัญลักษณ์ของธาตุแห่งลมและปัญญาทั้ง 5 ชุด ใช้นักดนตรี 4 คนที่มารังสรรค์จังหวะดนตรีการเคลื่อนไหวแห่งทูตสวรรค์ผู้ซึ่งมีอำนาจของสวรรค์ มาอำนวยพรให้เกิดพลังแก่ชีวิต และส่องความสว่างไสวแก่ชีวิตบนโลกมนุษย์

ชุดที่ 2 คือ Land Dang Phag-cham ระบำวัวและหมูป่า เป็นระบำโบราณที่จรรโลงขึ้นเพื่อกำจัดพลังอันเลวร้ายและอุปสรรคต่างๆ เป็นการรำในรูปแบบ Dark po หรือ “ปางกริ้วโกรธ” โดยถือสัญลักษณ์ของอุตรภาพแห่งการแสดงอัตตาต่อภายนอก (สภาวะแวดล้อม) ภายใน (อารมณ์) และความลับ (ความเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตใจอันละเอียดอ่อน) ท่วงทำนองการรำเป็นสัญลักษณ์ของความโสมนัสและอิสรภาพแห่งการได้เห็นสัจธรรม อันถ่องแท้



ปิดท้ายด้วย  Durdak Garcham ระบำเทพเจ้าแห่งโครงกระดูก ชุดนี้มีขึ้นเพื่อย้ำเตือนแก่โลกมนุษย์ได้ตระหนักถึงธรรมชาติอันไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง เป็นการปลดปล่อยและการรักษาสมดุลของการหยั่งรู้และความเป็นจริง แสดงโดยพระลามะ 4 รูป อันเปรียบเสมือนกองทัพแห่งความดีในขบวนพระยมราชผู้ซึ่งเป็นพระธรรมบาลสัจธรรมที่มาพร้อมด้วยพระธรรมอันจะชักนำจิตใจไปสู่ชีวิตอันประเสริฐ

โดยการเต้นรำบูชาถือเป็นการเต้นรำศักดิ์สิทธิ์ โดยผู้เต้นรำจะสวมหน้ากากและเครื่องแต่งกายที่สดใสมีชีวิตชีวา มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนานิกายมหายานและเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลของชาวพุทธ ในขณะเต้นรำจะมีเพลงที่บรรเลงโดยพระสงฆ์ซึ่งใช้เครื่องดนตรีแบบดังเดิมมักจะมีนำเสนอการสั่งสอนทางศีลธรรมในการแสดงความเมตตาปราณีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายและเพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ทุกคนที่รับรู้ในสิ่งเหล่านั้น

การที่รัฐบาลอินเดียโดยสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ซึ่งนำโดย ฯพณฯ มร.ฮัช วาร์ดัน ชริงลา เอกอัครราชฑูตอินเดียประจำประเทศไทย จัดงานบำเพ็ญกุศลศพแบบวัชรยานถวายสมเด็จพระญาณสังวรในครั้งนี้ นอกจากไทยกับอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้ว ในส่วนของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมานานกับประเทศอินเดีย ชาวอินเดีย ตลอดจนผู้นำสูงสุดของอินเดียด้วย

กล่าวคือ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจที่ประเทศอินเดีย 3 ครั้ง โดยเกิดขึ้นใน ปี 2513 ขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระสาสนโสภณ”กรรมการมหาเถรสมาคม และประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้นำสาส์นของสมเด็จพระสังฆราชพร้อมกัปปิยภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบและเยี่ยมชาวพุทธในประเทศปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือประเทศเนปาล) ซึ่งประสบวาตภัยร้ายแรง



ในขณะเดียวกันได้ไปสังเกตการณ์ด้านการศึกษาและการพระศาสนา ณประเทศอินเดีย ปากีสถานตะวันตก และเนปาลด้วย ระหว่างวันที่ 8 ธ.ค. 2513 ถึง 2 ม.ค. 2514 รวม 25 วัน จากนั้นในปี 2523 ได้เสด็จไปครั้งที่ 2 ณ เมืองโจธปูร์ ตั้งแต่วันที่ 11-22 ธ.ค. เป็นเวลา 11 วัน และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่  19-22  ก.พ. 2542 โดยเสด็จไปเป็นประธานสมโภชวัดไทยกุสินารามหาวิหาร
 
ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้นำอินเดีย อย่างนายกรัฐมนตรีอินเดียก็ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เช่น ในปี 2536 นาย พี วี นรสิงหะ ราวนายกรัฐมนตรี ได้เข้าเฝ้าถวายสักการะ ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร 

แม้การบำเพ็ญกุศลพระศพสมเด็จพระญาณสังวรในแบบวัชรยานจะผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ค่ำวันที่ 19 มี.ค. แต่พุทธมณฑลทราย หรือ มันดาล่าทรายนี้ ซึ่งตั้งอยู่ในปะรำพิธีชั่วคราวด้านซ้ายทางเข้าประตูพระตำหนักเพ็ชรยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค. ส่วนวันที่ 24 มี.ค.จะถูกลบทิ้งและรวบรวมแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานเพื่อนำไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล

หากใครที่ยังไม่เคยเห็นพุทธมณฑลทรายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสวยงามและประณีต เชิญไปชมได้ที่วัดบวรนิเวศวิหารก่อนที่จะความสวยงามนี้จะไม่มีให้เห็นในวันที่ 24 มี.ค.นี้


ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.posttoday.com/วิเคราะห์/รายงานพิเศษ/284736/วัชรยานบูชาเต็มรูปแบบในไทย
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ