ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เจ้าฟ้านักแปล-นักประพันธ์ทรงเป็นดั่ง ‘รัตนมณีกวีร่วมสมัย’  (อ่าน 1196 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29340
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เจ้าฟ้านักแปล-นักประพันธ์ทรงเป็นดั่ง ‘รัตนมณีกวีร่วมสมัย’

“ภาษาจีนนี่ยาก” เพราะทรงศึกษาเมื่อพระชนมพรรษา 26 พรรษาแล้ว และมีพระราชภารกิจมากทำให้ทรงศึกษาไม่ต่อเนื่อง แต่ผลจากการศึกษาทรงเป็นผู้ “รู้หนังสือแต่งได้”


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในด้านภาษาอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะ “ภาษาจีน” พระราชนิพนธ์แปลด้านวรรณกรรมจีนอันทรงคุณค่าหลายเรื่องล้วนเป็นที่ประจักษ์แห่งพระอัจฉริยภาพด้านการประพันธ์และการแปล จากพระราชกระแสในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อ พ.ศ.2523 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตัดสินพระราชหฤทัยศึกษาภาษาจีนแทนภาษาเยอรมัน ครั้งหนึ่งเคยทรงมีพระราชปรารภว่า “ภาษาจีนนี่ยาก” เพราะทรงศึกษาเมื่อพระชนมพรรษา 26 พรรษาแล้ว และมีพระราชภารกิจมากทำให้ทรงศึกษาไม่ต่อเนื่อง แต่ผลจากการศึกษาทรงเป็นผู้ “รู้หนังสือแต่งได้” ทำให้พสกนิกรชาวไทยได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพในภาษาจีนที่ทรงศึกษามาเป็นเวลายาวนาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเรียนและทรงโปรดกวีนิพนธ์จีนมาก ทรงเล่าพระราชทานถึงวิธีเรียนบทกวีไว้ในคำนำของหนังสือบทพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง “หยกใสร่ายคำ” ว่า “ทรงศึกษาสัปดาห์ละ 1-2 บท พระอาจารย์เล่าประวัติกวี เหตุการณ์สมัยนั้น อธิบายสาระของบทกวี คำยาก ให้ทรงหัดอ่านและทรงแปล” พระราชนิพนธ์แปลบทกวีจีน “หยกใสร่ายคำ” ได้ถูกจัดพิมพ์เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 หลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพิจารณาตรวจชำระบทกวีจีน 34 บทที่ทรงแปลไว้


 :49: :49: :49:

เมื่อทรงพักการศึกษาร้อยกรองและการแปลบทกวีจีน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงศึกษาภาษาจีนเป็นร้อยแก้ว และทรงแปลนวนิยายจีนร่วมสมัยเป็นภาษาไทย พระราชนิพนธ์แปลภาษาจีนที่พิมพ์เผยแพร่เล่มแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2537 คือ นวนิยายเรื่อง “ผีเสื้อ” หรือ “หูเตี๋ย” ของหวังเหมิ่ง นักประพันธ์ชื่อดังของจีน ผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นวนิยายเรื่องนี้บันทึกความเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนจากช่วงปีพ.ศ.2492 ถึงปี พ.ศ. 2522 เล่มสองเป็นนวนิยายชื่อ “เมฆเหิน น้ำไหล” หรือ   “สิง  อวิ๋นหลิวสุ่ย” พิมพ์เผยแพร่ในปลายปีพ.ศ.2539 สะท้อนภาพสังคมจีนช่วงสี่ทันสมัยที่เริ่มขึ้นในปีพ.ศ.2521 ผู้ประพันธ์ชื่อ ฟังฟัง นักเขียนสตรีรุ่นใหม่ในกลุ่มแนวหน้า เขียนแสดงให้เห็นสัจธรรมของชีวิตถึงความเปลี่ยนแปลง เหมือนเมฆที่ลอยเหินและน้ำที่ไหลริน ไม่มีสิ่งใดบังคับควบคุมได้

ถัดมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 พระราชนิพนธ์แปลภาษาจีน “เพียงวันพบวันนี้ที่สำคัญ” จากต้นฉบับที่เป็นบทละคร ความเรียง และเรื่องสั้น ของผู้เขียน ปาจิน เหยียนเกอหลิง กุนเทอร์ไอซ์ ตลอดจน

พระราชนิพนธ์แปลจากนวนิยายจีน “หมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า” ของหวังอันอี้ สะท้อนภาพชีวิตในหมู่บ้านชนบทของจีน ต้นทศวรรษ 1960 ในระบบคอมมูนประชาชน พิมพ์เผยแพร่ในปลายปี พ.ศ. 2539 และ “นารีนครา” พระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีน สะท้อนภาพสังคมและความงดงามของ “ความเป็นหญิง” ผ่านตัวละคร 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ผลงานเขียนของฉือลี่ เป็นต้น ทยอยพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง

 :s_hi: :s_hi: :s_hi:

กระทั่งปีพ.ศ.2557 พสกนิกรชาวไทย ซึ่งเป็น “หนอนหนังสือ” มีโอกาสได้ชื่มชมพระอัจฉริยภาพและสนุกสนานในการท่องโลกตัวอักษรอีกครั้ง ผ่านพระราชนิพนธ์แปลลำดับที่ 9 ชื่อ “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” พระราชนิพนธ์ประเภทนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุด ที่สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิต และประเพณีของสังคมจีนยุคปัจจุบันผ่านตัวละครเอกเป็นสตรีชาวจีน ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน “หูท่ง” คำเรียกโดยรวมของถนนขนาดเล็กและตรอกซอยในเมืองปักกิ่ง แต่ละหูท่งต่างก็บันทึกวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหูท่งนั้นๆ รวมทั้งจารีต ขนบธรรมเนียม ความรักความผูกพัน ความคิดต่างเห็นต่างและเรื่องอื่นๆ หูท่งจึงเป็นดั่งพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตในความรำลึกเมื่อวันวาน

 “ไป๋ต้าสิ่ง” คือ เจ้าของประโยคคำถามที่ว่า “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” ตัวละครหลักตัวนี้มีคุณธรรมเป็นเลิศ มีจิตใจงดงาม ซื่อสัตย์ ยอมเสียเปรียบทุกคน แต่กลับต้องทนทุกข์กับตัวตนที่เธอเป็นอยู่ ความทุกข์อันสาหัสของไป๋ต้าสิ่งคือ ความผิดหวังจากความรักที่ฝ่ายชายผู้ไม่จริงใจทิ้งเธอไปคนแล้วคนเล่า แต่เธอก็ยังคง “ตกหลุมรัก” และ “รักอย่างหัวปักหัวปำ” โดยมิอาจช่วยตัวเองได้



สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าแง่คิดไว้ในคำนำพระราชนิพนธ์แปลดังกล่าวว่า “ผู้เขียนใช้กรุงปักกิ่งเป็นฉากและให้ตัวละครมีวิถีชีวิตโลดแล่นอยู่ในหูท่ง สายหนึ่งอันเป็นชุมชนย่านตรอกซอยดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง เป็นกลวิธีสื่อนัยความเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและคุณธรรมของโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ ซึ่งผู้เขียนได้สะท้อนอย่างแยบยลประณีตในนวนิยาย ไป๋ต้าสิ่งเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของคุณธรรมในอุดมคติของโลกยุคเก่า ซึ่งน่าจะสูญหายไปตามกาลเวลา

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่ว่าไป๋ต้าสิ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวตนที่แท้จริงของตนเอง แต่สามารถดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้ ย่อมสะท้อน “สาร” สำคัญในเรื่อง ชื่อเรื่องว่า ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน อาจเป็นทั้ง “คำถาม” และ “คำตอบ” ที่ผู้เขียนต้องการสื่อกับผู้อ่านในโลกยุคใหม่ ผู้อยู่ในโลกอันมีวัตถุและผลประโยชน์สำคัญเหนืออื่นใด ผู้อยู่ในยุคใหม่นั้นย่อมยากจะมีศรัทธาเชื่อมั่นต่อ “ความดีตลอดกาล” หรือ “ความรักตลอดกาล”  เป็นไปได้ไหมว่า “ตลอดกาล” อันแท้จริงนั้น ไม่ว่าจะดำรงอยู่นานแค่ไหน เพียงชั่วครู่ หรือชั่วนิรันดร ย่อมเป็นทั้ง “สัจจะ” และ “มายา” ที่มนุษย์ทุกสมัยต้องใคร่ครวญเรียนรู้ด้วยปัญญาไปตลอดกาล”


 :96: :96: :96:

เสน่ห์ของการบอกเล่าเรื่องราว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายแนะนำ ในวันเปิดตัวหนังสืออย่างเป็นทางการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ว่า “ในกรณีนี้ เถี่ยหนิง ผู้เขียนใช้พี่สาวตัวเอกเล่าเรื่อง ในเรื่องนี้เขียนว่า “ฉัน” เฉย ๆ ฉันนี่ชื่ออะไรก็ไม่ทราบ ทั้งเรื่องไม่ได้บอกทำนองเดียวกับเรื่อง “รีเบ็กก้า” คนเล่าเรื่องเป็นนางเอกชื่อ “ไอ” แปลว่า “ฉัน” ไม่บอก ผู้แต่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้ไม่สำคัญ เป็นเทคนิคการเขียนอย่างหนึ่ง”

นอกเหนือจากอรรถรสความบันเทิง ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหนยังสะท้อนร่องรอยประวัติศาสตร์ทางศิลปะและวัฒนธรรม เปิดโลกทัศน์ให้คนไทยเรียนรู้ “การที่เราศึกษาเรื่องประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น นอกจากศึกษาจากตำรา เอกสารทางด้านประวัติ ศาสตร์ อีกด้านหนึ่งคือจากวรรณกรรมลักษณะนวนิยาย การที่คนอ่านนวนิยายนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงทีเดียว ทุกอย่างเกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้เขียน อาจนำเรื่องจริงปูเป็นปูมหลัง มีแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เรื่องสนุกน่าสนใจ หรือเป็นไปในทำนองที่ผู้เขียนต้องการ”

 :25: :25: :25:

   จากนั้นทรงบรรยายสภาพสังคมยุคเปลี่ยนผ่านช่วงจีนเปิดประเทศว่า “เมื่อ  10 ปีที่แล้ว จีนเปิดประเทศในตอนนั้นจะว่าดีหรือไม่ดีเป็นเรื่องตัดสินใจได้ยาก เพราะว่า ในช่วงนั้นหลาย ๆ ประเทศเป็นลักษณะอย่างนี้คือ คนมั่งมีเกิดมาร่ำรวย มีการศึกษาดี มักโดนดูถูกจนตัวเองรู้สึกอับอาย บางคนมีรถขับมาเรียนหนังสือต้องจอดรถไว้ริมประตูมหาวิทยาลัยแล้วเดินเข้ามา หรือใครมีเสื้อผ้าดี ๆ สวย ๆ ก็กลับอับอาย ส่วนคนที่มีฐานะไม่ดี พ่อแม่ประกอบอาชีพหาเงินได้น้อย กลับกลายว่าเป็นคนน่ายกย่อง ได้รับสิทธิต่าง ๆ ดั่งเช่นในเรื่องนี้ที่บรรยายไว้ตอนต้น



ด้านสถาปัตยกรรมดั้งเดิมผ่าน “หูท่ง” พิพิธภัณฑ์ชีวิต ทรงเล่าว่า “ครั้นเสด็จฯ ไปเมืองจีนครั้งแรก ทอดพระเนตรบ้านเรือนคนจีนเป็นเรือนเตี้ย ๆ ต่อมาบ้านเรือนเจริญขึ้นมีแรงดึงดูดคนเข้ามาในเมืองใหญ่ คนจำนวนมากต้องสร้างที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน จำเป็นต้องรื้อเรือนแบน ๆ และเตี้ย ๆ นี้ลงมาแล้วสร้างเป็นตึกสูง รัฐบาลจะมอบบ้านใหม่ตามอัตราส่วนพื้นที่เดิม บางคนพอใจ แต่บางคนก็ไม่พอใจ เช่น ผู้สูงวัยอยู่ติดที่ หรือคนที่เคยอาศัยใกล้ศูนย์กลางของสังคมต้องย้ายไปอยู่ย่านชานเมืองก็ไม่พอใจ”

ปัจจุบันหูท่งที่ยังเหลืออยู่ บ้างปรับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวนั่งรถสามล้อถีบเยี่ยมชม มีทั้งบ้านอิฐและบ้านชั้นเดียวที่เรียงรายกันในทางสัญจรของหูท่ง บ้างปรับเป็น 2 ชั้น บ้างเป็นตึกแถวชั้นเดียว เป็นร้านค้าขายของชำ ขนม ร้านตัดผม ร้านสุรา บ้างเป็นเกสต์เฮาส์ ห้องน้ำสาธารณะมีป้ายภาษาจีนและภาษาอังกฤษกำกับ บ้างปรับบ้านของตนแบบซื่อเหอย่วน มาเป็นร้านอาหาร จนมีชื่อเสียงยิ่ง เช่น ร้านเป็ดปักกิ่งลี่ฉวิน ที่เป่นเสียงเฟิ่งหูท่ง เขตฉงเหวิน กรุงปักกิ่ง

 :s_hi: :s_hi: :s_hi:

สำหรับความรู้สอดแทรกในพระราชนิพนธ์เล่มล่าสุด ยังแนะนำให้รู้จักกับผลิตภัณฑ์บริโภค เช่น “เสียวตู่” อาหารละม้ายคล้ายกุนเชียง, “วอโถวนึ่ง” ขนมทำด้วยแป้งข้าวโพดสีเหลือง ที่กล่าวกันว่าเป็นอาหารของคนจน นอกจากนี้ยังมีหวานเย็นลูกลิ้น บ๊วยแบบกระป๋องทำเป็นหวานเย็น และผลิตภัณฑ์อุปโภคที่ไป๋ต้าสิ่งใช้สอยคือ “แชมพูไข่”

ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งทิ้งท้ายว่า “สมัยทรงพระเยาว์เคยสระพระเกศาด้วยแชมพูไข่ ตอนนี้หาซื้อไม่เจอแต่ผู้มีอุปการคุณทำทูลเกล้าฯ ถวาย” ซึ่งนำมาจัดแสดงให้ได้ชมในนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” ณ วันเปิดตัวพระราชนิพนธ์แปลเล่มนี้ ร่วมกับน้ำมัน, เกลือ, ซีอิ๊ว, จิ๊กโฉ่, ขนมเปี๊ยะ และขนมจันอับ เป็นต้น


 :58: :58: :58:

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มิได้ทรงเป็นกวีร่วมสมัยของเมืองไทยเท่านั้น ยังทรงเป็นปราชญ์ผู้พระราชทานความรู้ทางวรรณคดีและวรรณศิลป์อันเป็นสากลข้ามวัฒนธรรมแก่พสกนิกรไทย ในพระราชนิพนธ์แปล กวีนิพนธ์เหล่านี้ทรงแสดงให้ชาวไทยประจักษ์ชัดว่า การศึกษาภาษาต่างประเทศอย่างลึกซึ้งมีคุณค่าและความสำคัญทั้งในแง่การดำรงชีวิตอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ และในแง่ของการรังสรรค์งานเพื่อถ่ายทอดสมบัติภูมิปัญญาของมนุษยชาติ

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 59 พรรษา 2 เม.ย.2557 ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก โปรดอภิบาลบันดาลดลให้ผู้ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน มีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ขอจงทรงพระเกษมสำราญเป็นมิ่งขวัญพสกนิกรไทยยิ่งยืนนาน.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ทีมข่าวสตรี หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.dailynews.co.th/Content/women/227215/เจ้าฟ้านักแปล-นักประพันธ์ทรงเป็นดั่ง+‘รัตนมณีกวีร่วมสมัย’
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ