ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมนัว : พุทธผิดระบอบ  (อ่าน 2105 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29290
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ธรรมนัว : พุทธผิดระบอบ
« เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2014, 07:54:04 pm »
0


พุทธผิดระบอบ
ที่มา : คอลัมน์ ธรรมนัว  มติชนรายวัน โดย วิจักขณ์ พานิช

แนวทางการปรับตัวของพุทธศาสนาเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย มีอยู่หลายกระแสด้วยกัน แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในแง่ของการเสพและบริโภค ดูจะเป็นกระแสของพุทธ light และพุทธ like นั่นคือกระบวนการทำพุทธศาสนาให้ดูเบา สนุก ตลก คมคาย บันเทิง และที่สำคัญคือ "ง่าย" เพื่อให้เป็นที่สนใจและชื่นชอบของวัยรุ่น นั่นหมายถึงการทำให้พุทธศาสนาเป็นสินค้าที่ขายได้ เสพง่าย และให้ผลตอบแทนสูง โดยมักอ้างเป้าหมายเพื่อการเผยแผ่ศาสนาสู่คนรุ่นใหม่อย่างได้ผล คนจะกลายเป็นคนดีมีศีลธรรมกันมากขึ้น ธรรมะจะเป็นที่สนใจของผู้คนในสังคมมากขึ้น...

ทว่าประเด็นที่น่าตั้งคำถามกับปรากฏการณ์บริโภคธรรมะนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ก็คือ การปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ของพุทธศาสนาไทยกลับไม่มีการพยายามทำความเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบรัฐสมัยใหม่ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย เมื่อไม่ตระหนักรู้และอยู่กับ "ปัจจุบัน" การเสพและบริโภคธรรมะจึงเป็นอะไรที่เลื่อนลอย ฉาบฉวย ปราศจากการหยั่งรากทางสติปัญญาลงบนผืนดิน และบ่อยครั้งการเผยแผ่ธรรมะยังเป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการสำนึกประชาธิปไตยและการขยายภาวะการตื่นรู้ทางสังคมให้เปิดกว้างออกไปในแนวราบอีกด้วย

 :25: :25: :25:

ในแบบทดสอบพื้นฐานความเข้าใจของนักศึกษาที่มาลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ผมลองให้นักศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา และแสดงทรรศนะต่อความพยายามที่จะผลักดันให้มีการระบุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไร และนี่คือตัวอย่างบางส่วน...

"พุทธศาสนาคือศูนย์รวมจิตใจของคนไทย คนไทยโชคดีที่เกิดมาในประเทศที่มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ พระมหากษัตริย์ทรงอุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนามาเป็นเวลาช้านาน การจะระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ"

"การบรรจุศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาตินั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เพราะตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักประจำชาติมาช้านาน และนั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดี เพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะแผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินธรรมที่เปิดกว้างต่อประชาชนทุกเชื้อชาติทุกศาสนา"


 st12 st12 st12

"พุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี หากคนในสังคมเป็นคนดี สังคมก็จะเป็นสังคมที่ดี ปราศจากความขัดแย้ง คนจะดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองศาสนาหรือไม่ รัฐบาลควรส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนาในโรงเรียนให้มากขึ้นจะดีกว่า"

"ประเทศไทยปกครองด้วยพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นธรรมราชา และพุทธมามกะ ทำให้พุทธศาสนาไทยเจริญรุ่งเรืองเป็นรากฐานของวัฒนธรรมและประเพณีไทย ตั้งแต่การเผยแผ่ของพระเจ้าอโศกมหาราชจวบจนพระมหากษัตริย์ไทยองค์ปัจจุบัน"



ความคิดเห็นที่เหมือนจะถูกต้องตามมาตรฐานศีลธรรมพุทธศาสนาตามจารีตประเพณีเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่านักศึกษาศาสนศึกษาจำนวนมากปราศจากความเข้าใจในพื้นฐานการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างคำว่า "รัฐ" กับ "รัฐบาล" ไม่เข้าใจคำว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน"

จำนวนไม่น้อยยังเข้าใจผิดว่าประเทศไทยยังปกครองโดยพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองแบบกษัตริย์ จินตนาการทางสังคมที่มีศาสนาเป็นศูนย์กลางของพวกเขา ยึดโยงอย่างแนบแน่นอยู่กับอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ราวกับเป็นโลกุตรธรรม ทั้งยังไม่สามารถจินตนาการการตีความคำสอนในบริบททางสังคมแบบอื่นได้เลย


 st11 st11 st11

จากข้อเขียน นักศึกษาที่สนใจธรรมะและพุทธศาสนาโดยส่วนใหญ่ไม่มีความสนใจทางการเมือง โดยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง ไม่ใช่เรื่องของฉัน แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ความสนใจทางศาสนาทำให้ความเพิกเฉยต่อสังคมและการเมืองของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่บังเอิญ ศาสนาคือความดีงามสูงสุด ความสนใจธรรมะทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าในเรื่องจิตใจ ดีชั่ว บุญบาป แต่ความตื่นตัวที่จะติดตามข่าวสารบ้านเมืองและสิ่งรอบตัวกลับลดลง ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิชาการแขนงอื่นควบคู่ไปกับวิชาการด้านศาสนา ไม่ต้องเรียนรู้ ไม่ต้องฟัง ไม่ต้องสังเกต

เพราะศาสนาให้คำตอบทุกอย่างแก่ชีวิตไว้หมดแล้ว ทรรศนะทางศาสนาต่อสังคมที่นักศึกษาส่วนใหญ่เขียนมามีความคล้ายคลึงกันในเนื้อหา วนเวียนอยู่กับความดี ศีลธรรม บาปบุญคุณโทษ ความสงบสุข และการมีที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เป็นลักษณะการตอบไปตามแบบแผนที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก

 st11 st11 st11

"พุทธผิดระบอบ" เป็นปรากฏการณ์สำคัญอันหนึ่งของสังคมไทยในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง สำหรับบางคน อาจมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ขอเพียงแค่มีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน ยึดมั่นในศีลธรรม ความดี ไม่ทำบาปทำชั่ว ไม่คดโกง ก็พอแล้ว แต่ผมกลับมองว่าพุทธศาสนาผิดระบอบ กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อพัฒนาการทางสังคมที่กำลังต้องการ "การตื่นรู้ในแนวราบ" ไม่ว่าจะเป็นการเคารพในความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเสมอกัน การใช้เหตุผลเหนือศรัทธาและอารมณ์ การส่งเสริมเรื่องการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามกติกาอย่างสร้างสรรค์

ความแหลมคมของปัญญาที่ใช้ตัดรากของปัญหาได้ในบริบทหนึ่ง อาจกลายเป็นอาวุธมักง่าย ที่สามารถเอาไว้ใช้ทำร้ายผู้คนที่เห็นต่าง หากถูกหยิบจับขึ้นมาใช้อย่างไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป คำสอนทางศาสนาสามารถถูกนำไปใช้อย่างขาดความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา จากการเทศนาเลื่อนลอยอย่างไม่มีกาลเทศะ และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมสมัยใหม่ อาจทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมกลายเป็น "คนดี" ที่ใจแคบ เห็นแก่ตัว หรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว


 :49: :49: :49:

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา พอดีมีโอกาสเจอญาติคนหนึ่งที่ช่วยงานศูนย์ปฏิบัติธรรม เขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงม็อบมวลมหาประชาชน เหลือคนมาเข้าปฏิบัติธรรมแค่ 20-30 คน เป็นอย่างนี้ติดต่อกันหลายเดือน มาเดือนนี้ พอมีรัฐประหาร จำนวนกลับมาเป็น 120 ...คนมาปฏิบัติธรรมกันเป็นปกติแล้ว

มันทำให้อดคิดไม่ได้ครับว่า คอร์สอบรมปฏิบัติธรรมอันเป็นที่นิยมในสังคมไทยนั้น มีส่วนในการปลูกฝังจิตสำนึกทางสังคมในลักษณะใดกัน? ธรรมะที่ชาวพุทธไทยเรียนรู้ ฝึกฝน และปฏิบัติกัน กำลังเป็นส่วนหนึ่งของ "พุทธผิดระบอบ" ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งพัฒนาการประชาธิปไตย และค้ำจุนโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ช่วงชั้น และสำนึกแบบ "คนไม่เท่ากัน" อยู่หรือไม่?


ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1404274346
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ