« เมื่อ: มกราคม 27, 2015, 08:48:09 pm »
0
ครม.ไฟเขียวดัน "ภูพระบาท-เชียงใหม่“มรดกโลก
"วีระ"เผย ครม.เห็นชอบเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ เมืองเชียงใหม่ เป็นมรดกโลก ย้ำการเป็นมรดกโลกมีแต่ผลดี
วันนี้ ( 27 ม.ค. ) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการที่ประเทศไทยจะนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี เข้าสู่การพิจารณาเป็นมรดกโลกในปี 2559 ตามที่ วธ.เสนอ ดังนั้น ขั้นตอนจากนี้กรมศิลปากรจะส่งเอกสารการบริหารจัดการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ไปยังคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก จากนั้นคณะกรรมการ 1 ใน 5 คน จะเดินทางมาตรวจสอบพื้นที่จริง เพื่อประเมินว่าเอกสารที่ไทยจัดส่งไปกับสถานที่จริงมีความสอดคล้องกันหรือไม่
หากเอกสารมีความสมบูรณ์ก็เข้าสู่กระบวนการต่อไป แต่หากไม่สมบูรณ์ไทยจะต้องทำเอกสารเพิ่มเติม ก่อนเข้าสู่การพิจารณารอบแรกของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนธันวาคม 2558 และพิจารณารอบสองในเดือนมีนาคม 2559 จากนั้นจะประกาศผลว่าจะเป็นมรดกโลกหรือไม่ในเดือนมิถุนายน 2559 นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบการจัดทำเอกสารเสนอเมืองเชียงใหม่ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเข้าอยู่ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของการนำเสนอเป็นมรดกโลกด้วย
นายวีระ กล่าวต่อไปว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจและมีข้อซักถามถึงผลดีผลเสียของการนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ซึ่งตนชี้แจงว่าหากได้รับการพิจารณาเป็นมรดกโลก จะมีผลดีมากกว่าผลลบแน่นอน โดยเฉพาะการสร้างเกียรติภูมิของประเทศไทย ความภูมิใจในชาติและเป็นที่ยอมรับในนานาชาติมากขึ้น รวมถึงจะเกิดผลดีที่ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศ การสร้างงานในชุมชน เช่น จังหวัดสุโขทัย ที่มีการลงทุน มีการเดินทางท่องเที่ยวทำให้มีรายได้จากหลักพันบาท เป็นหลักล้านบาท จนถึงปัจจุบันหลายพันล้านบาท และหากเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ที่จะมีผลต่อโบราณสถาน ทางยูเนสโกก็จะรณรงค์ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์อยุธยาช่วงน้ำท่วมก็ได้เงินช่วยเหลือจากทั่วโลกด้วย

"อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เข้าหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 4 ข้อ คือ หลักเกณฑ์ที่ 3.เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม หลากหลายรูปแบบ เช่น วัฒนธรรมก่อนประวัติศาสตร์ราวพุทธศตวรรษที่ 4 ปรากฏอยู่เพียงภาพเขียนสีและโบราณวัตถุ
หลักเกณฑ์ที่ 4.เป็นตัวอย่างของลักษณะโดยทั่วไปของสิ่งก่อสร้าง อาทิ เพิงหิน แท่งหิน ลานหิน เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของภูพระบาท
หลักเกณฑ์ที่ 5.เป็นตัวอย่างของลักษณะอันเด่นชัด หรือ ของขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งสถาปัตยกรรม อาทิ ภูพระบาทเป็นที่ตั้งของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมจำนวนมากมาย มีความโดดเด่นปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และ
หลักเกณฑ์ที่ 6.มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือ บุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ เช่น ตำนานพื้นบ้านอุสา-บารส และพระกึดพระพาน อันมีต้นกำเนิดจากเรื่องพระอนิรุทธ์และนางอุสาในมหากาพย์มหาภารตะ อีกทั้งตำนวนพระเจ้าเลียบโลก ตำนานอุรังคธาตุ ล้วนแต่เป็นที่รู้จักดีและมีความเกี่ยวเนื่องกับแหล่งมรกดในภูพระบาท" รมว.วัฒนธรรม กล่าว.
ขอบคุณภาพข่าวจาก
www.dailynews.co.th/Content/education/296943/ครม.ไฟเขียวดัน+_ภูพระบาท-เชียงใหม่“มรดกโลก