ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นมัสการพระธาตุ ชมสิมที่ ‘นาดูน’  (อ่าน 929 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29296
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
นมัสการพระธาตุ ชมสิมที่ ‘นาดูน’
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 09, 2015, 07:45:15 pm »
0


นมัสการพระธาตุ ชมสิมที่ ‘นาดูน’

คำว่าพุทธมณฑลอีสานนั้นหมายถึงแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่าง “เมืองจัมปาศรี” ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ตั้งอยู่ ณ บ้านนาดูน อ.นาดูน

“พุทธมณฑลอีสาน ถิ่นฐานอารยธรรม ผ้าไหมล้ำเลอค่า ตักสิลานคร” คำขวัญประจำจังหวัดมหาสารคามที่บ่งบอกถึงสิ่งที่มหาสารคามมีและเป็นอยู่ได้อย่างชัดเจน หาได้มีอะไรเกินเลยจากความเป็นจริง

คำว่าพุทธมณฑลอีสานนั้นหมายถึงแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่าง “เมืองจัมปาศรี” ที่เคยรุ่งเรืองในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ตั้งอยู่ ณ บ้านนาดูน อ.นาดูน นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมายแล้ว การขุดพบสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในตลับทองคำ เงิน และสำริด ทำให้เป็นที่มาของ “พระธาตุนาดูน” หนึ่งในห้าพระธาตุสำคัญของถิ่นอีสาน

อำเภอนาดูนถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งหนึ่งที่มีประวัติอันยาวนาน มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ค้นพบมากมายสรุปได้ว่า ที่นี่เคยเป็นถิ่นฐานอารยธรรมจัมปาศรีในอดีตกาล โดยสันนิษฐานได้ว่ามีความเจริญรุ่งเรืองมา 2 ยุค คือ ยุคทวารวดีและยุคลพบุรี


 :25: :25: :25: :25:

ภายในตัวเมืองและนอกเมืองมีเจดีย์สมัยทวารวดีอยู่ 25 องค์ เหตุที่มีเจดีย์อยู่มากมายเป็นเพราะเจ้าผู้ครองเมืองนครจัมปาศรี นับตั้งแต่พระเจ้ายศวรราช ได้สร้างสถานที่สักการบูชาในพิธีทางศาสนาพราหมณ์และพุทธ เช่น เทวาลัย ปรางค์กู่ขึ้น ถือว่ายุคนั้นเป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านศาสนา วัฒนธรรม และการปกครอง จนถึงขีดสุด ก่อนจะเสื่อมถอยลงจนถึงยุคอวสานในสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณี

บนพื้นที่ 902 ไร่ แม้องค์พระธาตุที่เห็นจะเพิ่งถูกสร้างขึ้นหากแต่สถานที่ตั้งขององค์พระธาตุในปัจจุบันนี้ ก็คือจุดเดียวกันกับที่เคยขุดค้นพบสถูปพระบรมสารีริกธาตุ ณ เนินดินที่เคยเป็นซากโบราณสถานในบริเวณที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา หลังจากข่าวการขุดพบพระดินเผาแพร่กระจายออกไป จนทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมาเสี่ยงโชคขุดค้นจนไม่สามารถรักษาองค์สถูปองค์เดิมที่ถูกฝังอยู่ไว้ได้จนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2522 มีการขุดค้นพบสถูปพระบรมสารีริกธาตุมีสัณฐานดังเกล็ดแก้วประดิษฐานในผอบ 3 ชั้น ชั้นในเป็นทองคำ ชั้นกลางเป็นเงิน ชั้นนอกเป็นสำริด ซ้อนกันเรียงตามลำดับบรรจุอยู่ในสถูปจำลองอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นสถูปโลหะทรงกลม

 st12 st12 st12 st12

สถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและโบราณวัตถุต่าง ๆ ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นเวลานานหลายปี จนกระทั่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเป็นเงิน 7,580,000 บาท เพื่อสร้างพระธาตุสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยจำลองแบบจากสถูปสำริดที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุว่ากันว่า หากไปกราบไหว้พระธาตุนาดูนจะได้รับอานิสงส์เพิ่มพูนบารมี ตามโครงการเส้นทาง “ไหว้พระธาตุอีสาน 4 เมืองรุ่งเรืองตลอดชีวิต” นอกจากการไปกราบไหว้พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไม่ไกลจากกันนักเป็นที่ตั้งของ “วัดโพธาราม” วัดเก่าแก่ที่มีจุดเด่นอยู่ที่สิมพื้นบ้านอีสาน

คำว่า “สิม” ในภาษาอีสานมาจากคำว่า สีมา พัทธสีมา หมายถึงโบสถ์ นั่นเอง แม้สิมของภาคอีสานจะสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย สมถะ เป็นเพียงอาคารขนาดเล็กตกแต่งด้วยวัสดุท้องถิ่น แต่กลับมีความโดดเด่นอยู่ที่ “ฮูปแต้ม” หรือจิตรกรรมฝาผนังในภาษาอีสาน โดยสิมของวัดโพธารามเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานยกสูง ฮูปแต้มโดยรอบเป็นผลงานของช่างท้องถิ่นฝีมือของอาจารย์ซารายและนายสิงห์


 st11 st11 st11 st11

ขณะที่ด้านในเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติพระเวสสันดรชาดกและรามสูร เมขลา ด้านนอกเป็นเรื่องของสินไซ หรือสังข์ศิลป์ชัย พระเอกในวรรณกรรมโบราณของลาว ซึ่งเป็นวรรณกรรมล้ำค่าของชาวล้านช้าง ว่ากันว่าเหตุที่สินไซมาปรากฏอยู่ในฮูปแต้มตามสิมของวัดต่าง ๆ เป็นเพราะในช่วงศตวรรษที่ 19-23 อีสานอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง

นอกจากเรื่องราวที่ว่าแล้วจุดเด่นอีกอย่างของฮูปแต้มวัดโพธารามคือ การสอดแทรกภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอีสานทั่วไปไว้ด้วยกันอย่างลงตัว นอกจากสิมแล้วที่นี่ยังมีหอแจกหรือศาลาการเปรียญเก่าแก่ฝีมือช่างญวน โดยมีซุ้มโค้งของหน้าต่างประตูอันโดดเด่น และลายปูนปั้นนูนต่ำบนผนัง และหอไตรกลางน้ำที่วันนี้อยู่ถัดออกไปนอกเขตรั้ววัดโดยมีถนนคั่นกลาง

 ans1 ans1 ans1 ans1

ขณะที่ “วัดป่าเลไลย์” ที่อยู่ไม่ห่างกันซึ่งเดิมชื่อว่า “วัดหนองพอก” มีสิมที่งดงามไม่แพ้กัน แม้ว่าจะไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ที่แน่ ๆ คืออีกหนึ่งผลงานของช่างแต้มพื้นบ้านอย่างนายสิงห์ ที่ยังไม่ทันจะวาดภาพทั้งหมดรอบสิมได้เสร็จสมบูรณ์

ฮูปแต้มด้านในเป็นพุทธประวัติ พระมาลัย และพระอดีตพุทธะ ขณะที่ด้านนอกเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดรและรามเกียรติ์ โดยนายสิงห์ได้มีการสอดแทรกภาพวิถีชีวิตทั้งการทอผ้า การสรงน้ำพระที่เรียกว่า ฮดสง การทำบุญตักบาตร และการละเล่นต่าง ๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวอีสาน

ห่างออกไปที่ อ.บรบือ ณ “วัดยางทวงวราราม” ที่นี่จัดว่าเป็นวัดที่มีสิมและฮูปแต้มสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ลวดลายงดงามที่ยังคงปรากฏเด่นชัดนั้น นอกจากพุทธประวัติที่อยู่ด้านบนของภาพแล้ว ด้านล่างยังคงเป็นภาพวิถีชีวิตของคนอีสาน ด้านในแตกต่างด้วยฮูปแต้มพระองค์ใหญ่สลับแจกันดอกไม้โดยรอบ ขณะที่บริเวณทางเข้ามีรูปปั้นคนอยู่ด้านหน้าสิงห์ทั้งสองด้าน


 ask1 ask1 ask1 ask1

ไปเที่ยว “งานนมัสการพระธาตุนาดูน ประจำปี 2558” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-8 มี.ค. ณ บริเวณพุทธมณฑลอีสาน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม แล้ว อย่าลืมแวะไปชมฮูปแต้มอันงดงามที่อยู่ไม่ไกลกัน สอบถามที่สำนักงานกองทุนพัฒนาและอนุรักษ์พระบรมธาตุนาดูน โทร. 0-4379-7129 หรือ ททท.สำนักงานขอนแก่น โทร. 0-4322-7714-6 ดูที่ www.เที่ยวอีสาน.com


ขอบคุณภาพและบทความจาก
www.dailynews.co.th/Content/Article/299435/นมัสการพระธาตุ+ชมสิมที่+‘นาดูน’
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ