ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ (2) : เรียนรู้จากพุทธตะวันตก  (อ่าน 2433 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29305
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


รื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ (2) : เรียนรู้จากพุทธตะวันตก
คอลัมน์ ธรรมนัว โดย วิจักขณ์ พานิช

ความขัดแย้งระหว่างพระพรหมวังโสกับสังฆะวัดหนองป่าพงในประเด็นการบวชภิกษุณี เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 แต่ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญและเป็นกรณีศึกษาในงานวิจัยที่เกี่ยวกับประเด็นภิกษุณีในพุทธศาสนาเถรวาทอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากอาจารย์พรหมมีสถานะเป็นพระมหาเถระในสายปฏิบัติวัดหนองป่าพงของพระอาจารย์ชา สุภัทโท ซึ่งได้รับการเคารพนับถือไปทั่วโลก อีกทั้งท่านยังได้รับสมณศักดิ์ระดับราชาคณะจากคณะสงฆ์ไทยจากการผู้ปฏิบัติหน้าที่พระธรรมทูตยังต่างแดนอีกด้วย

เพราะการสื่อสารศาสนธรรมคือการเคารพชีวิต ไม่ใช่การครอบงำชีวิต ดังนั้น การที่พุทธศาสนาจะเดินทางจากวัฒนธรรมหนึ่งไปงอกงามในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งที่เปลือกนอกทางวัฒนธรรมที่หุ้มแก่นสาระจำเป็นต้องถูกตั้งคำถาม และหนึ่งในคำถามสำคัญก็คือ ทำไมจึงต้องห้ามบวชภิกษุณี?


 :96: :96: :96: :96:

ในจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งอาจารย์พรหมเขียนถึงเพื่อนพระในสังฆะวัดหนองป่าพง บอกเล่าถึงข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ท่านได้แสดงทรรศนะต่อการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ไว้ดังนี้

"โดยส่วนตัวแล้ว อาตมาอยากเห็นการบวชภิกษุณีเกิดขึ้นในโลกตะวันตก ณ ช่วงเวลาที่เหมาะสม อาตมามีความรู้ในวินัยสงฆ์และภาษาบาลีดี และเชื่อมั่นว่าการบวชภิกษุณีนั้นสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องตามธรรมวินัยโดยมีเหตุผลที่หนักแน่นรองรับ พระวินัยไม่ใช่อุปสรรค อีกทั้งสายภิกษุณีที่สืบไปยังประเทศจีนก็มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ มีสายสัมพันธ์ในทางประวัติศาสตร์โดยตรงกับสายเถรวาท ขั้นตอนการบวชก็เหมือนกับที่กำหนดไว้ในพระบาลีไม่มีผิดเพี้ยน สรุปโดยย่อ ไม่มีอุปสรรคทางพระวินัยใดๆ ต่อการบวชภิกษุณี ทว่าภิกษุไทยจำนวนมากที่มีอคติต่อการบวชภิกษุณีไม่เคยมีโอกาสศึกษาพระวินัยของภิกษุณีสงฆ์อย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง หรือไม่ก็ปราศจากความเข้าใจในภาษาบาลี หรือไม่ก็ไม่เคยศึกษางานวิจัยล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

"ในฐานะพระมหาเถระในพุทธศาสนาเถรวาทผู้ออกเดินทางสั่งสอนธรรมะไปทั่วโลก อาตมาขอย้ำว่า เราไม่อาจรักษาความเคารพศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา โดยการห้ามไม่ให้มีการบวชภิกษุณีอย่างปราศจากเหตุผลรองรับ ซึ่งอาตมายังไม่พบเหตุผลใดที่จะทำให้การรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์เป็นไปไม่ได้เลย"

 :25: :25: :25: :25:

หากมองจากมุมของชาวพุทธไทยที่เติบโตมากับวัฒนธรรมพุทธไทย เมื่อโลกทรรศน์ถูกหล่อหลอมด้วยแนวคิดพุทธศาสนาแบบทางการมาตั้งแต่เกิด เราอาจไม่สามารถแยกความเป็นพุทธกับความเป็นไทยออกจากกันได้

แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างอาจารย์พรหมที่เติบโตมาในวัฒนธรรมที่ต่างไป เมื่อเข้ามาศึกษาและปฏิบัติตนในพุทธศาสนา เขารู้ทันทีว่าส่วนใดคือปัญหาของความเป็นไทยที่พอกเสริมขึ้น โดยไม่เกี่ยวกับสารัตถะแห่งพุทธะเลยแม้แต่น้อย

ในมุมมองของอาจารย์พรหม การห้ามบวชภิกษุณีของคณะสงฆ์ไทยเป็นหนึ่งใน "ความป่วยไข้เรื้อรัง" อันเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้พุทธธรรมเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ท่านมองว่าไม่จำเป็นที่สิ่งนั้นจะต้องถูกเผยแผ่ในโลกตะวันตก ทัศนคติแบบอำนาจนิยมชายเป็นใหญ่ที่ติดมากับพุทธศาสนาในเอเชียเป็นกระพี้ที่สามารถลอกออกไปได้ ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องกดผู้หญิงไว้ด้วย "ข้อห้ามการบวชภิกษุณี" ที่ไม่มีอยู่ในวินัยสงฆ์ การอ้าง "หลักการ" ของวินัยสงฆ์เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถรื้อฟื้นประเพณีการบวชภิกษุณีที่ขาดสูญไปแล้วนั้น เป็นเพียงข้ออ้างทางการเมืองของคณะสงฆ์ที่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดอำนาจนิยมชายเป็นใหญ่เท่านั้น


 :41: :41: :41: :41:

มติขับอาจารย์พรหมออกจากสังฆะวัดหนองป่าพงได้สร้างความไม่พอใจแก่อุบาสกและอุบาสิกาชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก แม้พวกเขาจะเคารพรักพระอาจารย์ชาและมีศรัทธาในคำสอนและการปฏิบัติในสายวัดหนองป่าพงมากเพียงไร แต่ในฐานะชาวตะวันตกที่เติบโตมาในสังคมที่ส่งเสริมคุณค่าเรื่องความเสมอภาคของชายหญิง พวกเขาไม่อาจเห็นด้วยกับการจำนนต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำคณะสงฆ์ไทย แน่นอนว่าอาจารย์พรหมในฐานะศิษย์ของหลวงปู่ชาเคยผ่านประสบการณ์ตรงของการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างวัฒนธรรมนั้นมาก่อน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ในฐานะพระมหาเถระผู้เป็นอาจารย์ในโลกตะวันตก อาจารย์พรหมปรารถนาจะฝึกศิษย์ของเขาแบบเดียวกันกับที่เขาเองต้องเจอ สำหรับท่าน พุทธศาสนาเถรวาทในโลกตะวันตกจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายต่อกรณีภิกษุณีสงฆ์ในแบบของตัวเอง เพื่อการให้กำเนิดรูปแบบพุทธศาสนาที่สอดคล้องไปกับบริบทสังคมในโลกตะวันตกอย่างแท้จริง

 st12 st12 st12 st12

สนิทสุดา เอกชัย คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เคยเขียนแสดงทรรศนะต่อประเด็นนี้ไว้ในบทความที่มีชื่อว่า "Sangha split opens door for women" ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 สนิทสุดาเล่าว่า กลุ่มศิษย์ชาวตะวันตกของอาจารย์พรหมนั้นเข้าใจดีถึงแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ติดมากับพุทธศาสนาเอเชียและเหตุผลที่อาจารย์ของพวกเขาจำเป็นต้องหลอมรวมความเป็นเป็นไทยบางประการ เพื่อรักษาความสัมพันธ์และความปรองดองกับคณะสงฆ์ที่ประเทศไทย ทว่าศิษย์ชาวตะวันตกของอาจารย์พรหมก็คาดหวังให้อาจารย์ของพวกเขาเลือกที่จะมีใจกรุณาและเปิดกว้างต่อนักบวชหญิง และเลือกที่จะรักษาหลักการพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ แทนที่จะเป็นการรักษา "หลักการ" อันเป็นเพียงข้ออ้างในการรักษาอำนาจและสถานะขององค์กรสงฆ์เท่านั้น

สนิทสุดายังยกอีกหนึ่งกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและเป็นอีกเหตุการณ์ที่ได้สร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้แก่ชาวพุทธตะวันตกไม่น้อย ณ วัดป่าอมราวตีและวัดป่าจิตตวิเวก ในประเทศอังกฤษ ได้มีการริเริ่มวิถีนักบวชหญิงในพุทธศาสนาเถรวาท โดยเลี่ยงไม่ใช่คำว่า "ภิกษุณี" แต่ก็ไม่ใช่ "แม่ชี" ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันในไทย วิถีปฏิบัติของผู้หญิงที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับนักบวชชายถูกให้ชื่อว่า "สีลธรา" ซึ่งดำเนินมาอย่างงดงาม ต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับในสังฆะชาวพุทธตะวันตก ทว่าในปีนั้นเอง ที่เหล่าสีลธราต้องปฏิบัติตาม "กฎเหล็ก 5 ข้อ" อันเป็นข้อบังคับที่เพิ่มความเข้มงวดและยืนยันสถานะอันต่ำกว่าของนักบวชหญิง ทั้งยังตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาจะไม่มีทางบวชเป็นภิกษุณีได้


 ans1 ans1 ans1 ans1

การตั้งกฎเหล็กต่อนักบวชหญิงในวัดป่าทั้งสองถือเป็นการยัดเยียดกรอบวัฒนธรรมทางศาสนาของประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งผ่านอำนาจของคณะสงฆ์ไทย (ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก) เป้าหมายคือเพื่อปฏิเสธความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งจะย้อนกลับมามีผลต่อโครงสร้างสถาบันสงฆ์ของไทยทั้งหมด

องค์กรพุทธศาสนาไทยอ้างเหตุผลของการพิทักษ์ "หลักการ" และ "ความดั้งเดิม" ของพุทธศาสนาพุทธเถรวาทในแบบที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เอาไว้ พุทธศาสนาเถรวาทที่ครั้งหนึ่งเคยมีภิกษุณี แต่ปัจจุบันขาดสูญไป เมื่อหายไปแล้วก็ถือว่าหายไปเลย อย่าไปรื้อฟื้น

 ask1 ask1 ask1 ask1

พุทธศาสนาหลายสายปฏิบัติกำลังเดินทางไปหยั่งรากในสังคมตะวันตก ซึ่งผู้คนมีการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของประชาธิปไตย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพทางความคิด และความเสมอภาคเท่าเทียมทางเพศ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณค่าเหล่านี้จำเป็นต้องถูกหลอมรวมเข้าสู่วัฒนธรรมพุทธศาสนาจากการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งพระและฆราวาสในสังคมนั้นๆ อย่างแท้จริง

เราจะมองว่าพุทธธรรมกำลังเติบโตในโลกสมัยใหม่อย่างมีศักดิ์ศรี สัมพันธ์กับผู้คน สังคม และงอกงามจากการมีส่วนร่วมอย่างเป็นอิสระ ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์และสถานการณ์ใหม่อย่างเป็นตัวของตัวเอง หรือเราจะพยายามจับพุทธธรรมมายัดใส่กรอบอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยๆ เพื่อการตัดสินแค่ "ถูก" หรือ "ผิด" โดยถือทิฐิว่า "หลักการ" ที่องค์กรพุทธศาสนาไทยในฐานะศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกยึดถือนั้นคือ "ความจริงสูงสุด" ที่ไม่อาจมองต่างเป็นอย่างอื่นได้เลย?

อาจถึงเวลาแล้วที่พุทธศาสนาเอเชียจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบางอย่างจากพุทธศาสนาตะวันตก


ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2558
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1423992756
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ