ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บูชาชูชก... สัญญาณกลียุค? (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน)  (อ่าน 4920 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ชมพู่

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 91
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
บูชาชูชก... สัญญาณกลียุค? (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน)
ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์แนวหน้า -- จันทร์ที่ 30 สิงหาคม 2553 03:00:42 น.
ระยะหลัง เริ่มมีกระแสบูชาชูชก

ขายความคิดที่ว่า มีสรรพคุณในทางโชคลาภ เมตตามหานิยม โดยเฉพาะในเรื่องการขอ ทั้งขอเงินขอทอง ขอกู้หนี้ยืมสิน ขอผัดผ่อนหนี้สิน ขอทวงเงิน ขอเจรจาธุรกิจ ขอความรัก และทุกๆ สิ่งอย่างในด้านการขอ

คิดง่ายๆ ก็ขนาดขอ ยังให้ แล้วทำมาค้าขายจะไม่ให้คล่องตัว ลื่นไหล เงินไหลนองทองไหลมา ได้อย่างไร
คิดได้อย่างนี้ ก็ทำให้กระแสบูชา "ชูชก" ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนไม่น้อย
เรื่องนี้ มีข้อน่าคิด หลายประการ
1) เรื่องราวของ "ชูชก" ปรากฏอยู่ใน "พระเวสสันดรชาดก"

สรุปความสั้นๆ ได้ว่า ชูชกเป็นพราหมณ์แก่คนหนึ่ง ได้เด็กสาวรูปงามมาเป็นเมีย ปรนนิบัติดูแลชูชกอย่างดี อยู่มาวันหนึ่ง เมียเด็กก็บอกให้ชูชกไปหาเด็กมาเป็นทาส คอยรับใช้ทำงานบ้าน โดยแนะให้ไปขอลูกของพระเวสสันดร อันได้แก่ กัญหา-ชาลี ซึ่งพระเวสสันดรก็ให้ทานบุตรและธิดาทั้งสอง ระหว่างเดินทางกลับบ้าน พระราชาซึ่งเป็นปู่ของเด็กทั้งสองคนได้โอกาสขอไถ่ตัวคืนมา แลกกับทรัพย์สินเงินทองบรรดามี และได้จัดเลี้ยงอาหารชั้นเลิศแก่ชูชก แต่ในที่สุด ชูชกผู้ละโมบโลภมากก็กินจนท้องแตกตาย

จากเรื่องราวในพระเวสสันดรชาดกข้างต้น ได้ถูก "ตัดตอนความคิด" และ "แปลงเป็นทุน" โดยอ้างว่า ชูชก คือ สุดยอดนักขอ นักเจรจาค้าขาย
ชูชกสามารถเจรจาทวงหนี้จนได้เมียเด็ก สวยงาม แถมทำงานปรนนิบัติสามีอย่างดีเยี่ยม
ขนาดว่า ไปขอลูกอันเป็นที่รัก พระเวสสันดรก็ยังยกให้
จึงกลายเป็นที่มาของการบูชาชูชกในวันนี้

2) เรื่องราวของ "ชูชก" ในพระเวสสันดรชาดก หากพิเคราะห์ด้วยสติปัญญา โดยไม่บิดเบือนตัดตอน จะพบว่า ชูชกเป็นเสมือนตัวละครที่เป็นตัวร้าย ตรงกันข้ามกับพระเวสสันดร ที่เป็นตัวเอก
ลองนึกเทียบเคียงกับละครหลังข่าว ที่มีพระเอกกับผู้ร้าย
พระเวสสันดร เป็นรูปธรรมของ "การให้"และ "เสียสละ"
ในขณะที่ชูชก เป็นรูปธรรมของ "การขอ" และ "ความโลภ" รวมถึง "ความเห็นแก่ตัว"
3) แม้แต่รูปลักษณ์ภายนอกของชูชกถูกระบุไว้ชัดเจนว่า เป็น "ตัวร้าย"

ศึกษาตามพระไตรปิฎก จะพบว่า ร่างกายของชูชกนั้น เข้าลักษณะ "บุรุษโทษ" คือ ลักษณะที่เป็นโทษ 18 ประการ ได้แก่ เท้าทั้งสองข้างใหญ่และคด, เล็บทั้งหมอกุด, ปลีน่องทู่ยู่ยาน, ริมฝีปากบนย้อยทับริมฝีปากล่าง, น้ำลายไหลออกเป็นยางยืดทั้งสองแก้ม, เขี้ยวงอกออกพ้นปากเหมือนเขี้ยวหมู, จมูกหักฟุบดูน่าชัง, ท้องป่องเป็นกระเปาะดั่งหม้อใหญ่, สันหลังไหล่หักค่อม คดโกง, หนวดเครามีพรรณดังลวดทองแดง, ลูกตาเหลือง เหลือก เหล่, ร่างกายคดค้อมในที่ทั้งสาม คือ คอ หลัง สะเอว ฯลฯ
เรียกว่า เป็นตัวร้าย ทั้งพฤติกรรม และรูปลักษณ์ภายนอก

4) น่าคิดว่า การที่คนในสังคมสมัยนี้บางส่วน หันไปนิยมชมชอบ ยกย่องบูชาชูชก ทั้งๆ ที่ มีพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เอาแต่ได้ มักมากไม่รู้จักพอ เป็นคนขี้ขอ สะท้อนอะไร
เป็นเพราะการคิดแบบตัดตอน เอาผลลัพธ์โดยไม่สนใจวิธีการ
เห็นเงินเป็นใหญ่ คิดเอาแต่ได้

ไม่เห็นคุณค่าของการทำงานหนัก แต่จะเอาอย่างไรก็ได้ หวังรวยเร็วรวยลัด รวยแล้วไม่พอ
บูชาความโลภ มากกว่าความรู้จักพอเพียง พอประมาณ

วิธีคิดแบบนี้หรือไม่ ที่ทำให้สังคมไทยได้นักการเมืองและคนแบบที่ว่า "โกงก็ได้ถ้าช่วยให้รวย" หรือ "รวยแล้วก็ยังโกง" เข้ามามีอำนาจในบ้านเมือง

วิธีคิดที่นำไปสู่การบูชาชูชก เป็นวิธีคิดแบบเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดการบูชาทักษิณ

ด้วยพื้นฐานความคิดอย่างนี้ สอดรับกับระบบอุปถัมภ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย ทำให้ "ระบอบทักษิณ" สามารถฉวยโอกาส แฝงเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง ถึงขั้น "ขอ" เอาคนไปเป็นทาส รับใช้ รับจ้างทำงานให้แบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่สนใจใยดีว่าจะกระทำผิดธรรมนองคลองธรรมอย่างไร คดโกง เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ขอแต่เพียงได้รับปันส่วนผลประโยชน์บ้างก็พร้อมที่จะกระทำ

อย่าลืมว่า คนอย่าง "ชูชก" กินจนท้องแตกตาย เกิดชาติหน้าก็กลายเป็น "เทวทัต" ที่ก่อกรรมแสนเข็ญ และต้องตกนรก รับผลกรรมอย่างทรมานที่สุด
ก็ฝากคิดว่า คนอย่าง "ทักษิณ" เกิดชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ?

ระหว่าง "บุรุษโทษ" กับ "นักโทษหนีคดี" จะมีผลกรรมเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด?
5) วิธีคิดแบบชูชก ตรงกันข้ามกับวิธีคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง

น่าคิดว่า ทำอย่างไรผู้คนจะเข้าถึง เข้าใจ และสามารถนำวิธีคิดแบบพอเพียงไปใช้ในชีวิตจริงอย่างรู้เท่าทันมากกว่านี้

วิธีคิดแบบพอเพียง มิใช่ให้คนงอมืองอเท้า ละทิ้งความสะดวกสบายทุกสิ่งอย่าง หรือปฏิเสธเทคโนโลยี

แต่หมายถึงวิธีคิดที่พยายามพึ่งพาความสามารถของตัวเอง เริ่มต้นแก้ปัญหาโดยการลงมือทำด้วยตนเอง มิใช่คอยหวังพึ่งพาผู้อื่น หรือพึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์
ไม่ละโมบโลภมาก ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินอัตภาพ

ที่สำคัญ ผู้คนที่ใช้ชีวิตตามหลักพอเพียงนั้น ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนเพียงใด ก็ล้วนแต่มีความสามารถที่จะเป็น "ผู้ให้" ในบางลักษณะได้ทั้งสิ้น
มีเงินมาก ก็ทำทาน
มีกำลังกายมาก ก็ออกแรงทำงานสาธารณะ
มีเวลามาก ก็แบ่งเวลาไปช่วยดูแลชุมชน ดูแลสิ่งแวดล้ม

มีผลผลิตออกมามาก ก็แบ่งไปขาย หรือแบ่งปันเพื่อนบ้าน นำไปทำบุญ ทำประโยชน์แก่สังคมบ้าง
แทนที่จะคิดเลียนแบบ "ชูชก"หรืออยากจะเป็น "ผู้ขอ" เก่งเหมือนชูชก

น่าจะลองคิดและพยายามในอีกทาง คือ พยายามฝึกฝนเป็น "ผู้ให้" เจริญรอยตามแก่นคิดของพระเวสสันดร
เพื่อสัมผัสกับความสุขของการให้ การเสียสละ การลดความเห็นแก่ตัว
สังคมเรา คงจะน่าอยู่กว่านี้มาก
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 29, 2010, 08:19:43 pm โดย patra »
บันทึกการเข้า