การพิจารณาหาอุบายให้เกิดปัญญา
โดย สมเกียรติ ฟุ้งเกียรติ on Sunday 23 August 2009
ส่วนที่ยากที่สุดและใช้เวลาอีกมากกว่าจะทำสำเร็จได้ ไม่ใช่การนั่งจับลมหายใจ ไม่ใช่การตามดูจิต ไม่ใช่การรู้ให้เห็นสภาวะของของเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป แต่เป็นการพิจารณาให้เกิดปัญญายิ่งขึ้นไปอีก
ปัญญาที่ใช้พิจารณาต้องเริ่มจากปัญญาความคิดของเรานี่แหละ แล้วจะมีปัญญาอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นตามมา แม้ผมได้ผ่านการฝึกสมาธิปฏิบัติธรรมมานาน แต่ยังรู้ตัวว่าตัวเองยังโง่อีกมาก เพราะเท่าที่ผ่านมาผมยังขาดปัญญาประเภทที่ช่วยให้รอดจากการติดภพติดชาตินี้ อยู่อีกมาก
น่าดีใจที่ทุกวันนี้มีผู้สนใจฝึกสมาธิกันมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยสนใจสมาธิมาก่อนหรือเคยเบื่อหน่ายกับศัพท์แสงทางธรรมะ ก็มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น เพราะรู้ว่าการฝึกปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำยากอย่างที่เคยเข้าใจ แค่ฝึกตามรู้ให้มีสติ แค่ฝึกให้เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพียงปฏิบัติธรรมให้ได้ตามนี้ก็จะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น กว่าแต่ก่อน
นี่แหละคือรสของพระธรรม ผู้ที่เข้าถึงธรรมะได้แม้เพียงน้อยนิดก็จะพบกับความสุขที่ตัวเองไม่เคยนึกถึง
การฝึกตัวให้มีสติสามารถตามรู้ดูจิตดูกายของตัวเองเป็นขั้น ตอนแรกที่ทุกคนทำได้ เพียงพยายามเตือนตัวเอง ระวังตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่ตั้งใจทำ ให้ตามดูให้รู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงทั้งที่อยู่ภายในและภายนอกกายใจ ของตัวเอง พอเราตามดูไปก็จะเรียนรู้ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา พอมองเห็นเช่นนี้แล้วก็จะเกิดการละวาง ไม่ยึดถือ เพราะในไม่ช้าความทุกข์หรือความโลภโกรธหลงที่เกิดขึ้นก็จะผ่านไป
การฝึกถึงขั้นนี้ถือเป็นขั้นเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าคุณกำลังโกรธใครอย่างมาก และคนที่ทำให้คุณโกรธก็ยังคงยืนอยู่ตรงหน้า ด่าว่า หรือตะโกนเสียงดังให้ร้ายคุณ คุณจะใช้วิธีตามดูความโกรธของคุณไปก็ได้ แต่คงหยุดความโกรธไม่ได้ในทันทีนั้นหรอก
การฝึกปฏิบัติธรรมไม่ได้ฝึกไว้ใช้แค่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เราต้องหาเวลาพิจารณาความโกรธจนเกิดความเข้าใจถ่องแท้ว่าธรรมชาติของความ โกรธเป็นเช่นไร ความเข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งนี่แหละถือเป็นการเตรียมพร้อมไว้ก่อน จิตจะมีความระมัดระวังตัวไว้ก่อนตลอดเวลา พอจะเกิดความโกรธ ก็จะรู้ตัวตั้งแต่มันจะเริ่มโกรธ แล้วเมื่อนำความเข้าใจมาใช้ก็จะไม่เห็นประโยชน์ที่จะโกรธ ตัวโกรธมันก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น
เราต้องหาเวลาสำหรับใช้กับการพิจารณา ถ้าคุณฝึกสมาธิมามากจิตมีกำลังดี ก็จะใช้เวลาในการพิจารณาน้อยหน่อย อย่างเรื่องโกรธก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า ที่ผ่านมาตอนที่ตัวโกรธมันจะโผล่หัวขึ้นมานั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ถ้าคุณตอบว่า ตอนนั้นเจ้าคนที่เกลี่ยดคุณเขาตะโกนด่านั่นไง การตอบเช่นนี้ถูกต้องในทางโลก แต่ในทางธรรมต้องหาต้นตอที่อยู่ภายในจิตใจของตัวคุณเองต่างหาก และการค้นหานี้ต้องทำให้เสร็จสิ้นในช่วงเวลาแพล้บเดียวด้วย
ขอยกตัวอย่างที่พวกเราน่าจะเข้าใจเรื่องเวลาแพล้บเดียวได้ดีขึ้น ลองนึกถึงตอนที่คุณฟังข่าวทางวิทยุหรือกำลังเปิดเทปธรรมะ ถามว่าคุณฟังเสียงที่ผ่านเข้ามาทางหูแล้วเข้าใจเรื่องราวได้ในทันทีใช่ไหม เช่น ข่าวบอกว่า พายุกำลังมา แค่ได้ยินคำว่าพายุ คุณก็เข้าใจแล้วใช่ไหมว่า พายุคืออะไร จิตของเรามันทำงานได้เร็วอย่างนี้แหละ และการพิจารณาธรรมก็ต้องทำให้เร็วกว่านั้นอีกจึงจะเข้าใจแต่ละสภาวะธรรมได้
คนที่เพิ่งเริ่มฝึกสมาธิหรือพูดตามสมัยนิยมก็ต้องว่าฝึกวิปัสสนา ยากที่จะเข้าใจว่าเราจะตามรู้สภาวะในช่วงเวลาแพล้บเดียวได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่แค่เสียง แต่มีทั้งรูปรสกลิ่นเสียงประดังเข้ามาพร้อมกัน เราจะแยกแยะแต่ละเรื่องและหยุดอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างไรในพริบตา ... ไม่ง่ายเลยใช่ไหม
ถ้าคุณสงสัยว่าเรื่องที่เขียนมานี้จริงหรือเท็จ ก็ขอให้ลองฟังพระธรรมเทศนาของพระอริยเจ้าทั้งหลายแล้วลองเปรียบเทียบดูให้ ละเอียดว่า ที่ท่านกล่าวไว้ในคำเทศน์นั้นมีเรื่องที่เล่าให้ฟังนี้อยู่ตลอดเลยใช่ไหม เพียงแต่ว่าท่านจะไม่อธิบายเปรียบเทียบให้เห็นแต่ละส่วน ตัวอย่างที่ยกขึ้นเพื่อใช้เปรียบเทียบให้เห็นธรรมะของแต่ละรูปก็ต่างกันไป สักแต่ว่าท่านถนัดหรือเห็นว่าเหมาะกับตัวอย่างใด
คุณอาจโต้แย้งว่าไม่เห็นอย่างที่ว่ามาสักนิด ก็เป็นเพราะคนยุคนี้เริ่มมีการศึกษามากขึ้นก็ย่อมมีความสงสัยเกิดมากขึ้นตาม จึงไม่ค่อยเชื่อคำสอนที่ดูธรรมด๊าธรรมดาของท่านว่าจะวิเศษวิโสอย่างไร คนยุคนี้ต่างจากคนยุคก่อนที่ว่าง่ายกว่า พอพระท่านสอนให้ทำอย่างไรก็จะทำตามโดยไม่สงสัย พอทำตามไปแล้วก็จะพบผลสำเร็จได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจในที่มาและเหตุผลว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้หรือ ทำไปเพื่ออะไร ทำตามท่านไปเถิดแล้วจะเข้าใจเอง
เราต้องเตือนตัวเองไว้ด้วยว่า พระบางรูปยึดหลักว่าท่านจะเทศน์ให้คำสั่งสอนถึงขั้นเฉพาะเท่าที่ท่านทำได้ แล้วเท่านั้น พอเราถามท่านถึงขั้นที่เกินกว่าที่ท่านทำเป็นทำถึง ท่านก็จะอ้างจากคำกล่าวของผู้อื่นแทนว่าจากนี้ไม่ใช่ความรู้ความเห็นของท่าน นะ
เราควรคิดแบบนักวิทยาศาสตร์หรือคิดง่ายกว่านั้นจะเอาแค่คิดถึงนักเรียน ประถมมัธยมก็ได้ ก่อนที่จะลงสนามมาทำงานใช้ชีวิตจริง เราต้องผ่านการเรียนหนังสือ พอเรียนทางทฤษฎีแล้วก็มีการทำการทดลอง ซึ่งการฝึกปฏิบัติธรรมก็มีขั้นตอนแบบเดียวกัน ก่อนจะลงสนามจริงต้องผ่านการทดลองมาก่อนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนรู้ซึ้งถึงสภาวะความ เป็นจริง พอสิ่งใดกำลังจะเกิดขึ้น แค่รู้สภาวะแว้บเดียวก็เทียบกับปัญญาความรู้ที่เคยทดลองมาก่อน ว่า อ้อ อย่างนี้เอง อีกแล้ว หรือแค่ อ้อ เฉยๆ เรื่องที่จะเกิดก็ไม่เกิด
พอเขียนถึงคำว่าเกิด เชื่อว่าเราท่านทั้งหลายที่มุ่งปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ล้วนไม่มีความต้องการกลับมาเกิดอีกใช่ไหม แล้วคุณเข้าใจในรูปกายของตัวเองดีมากน้อยแค่ไหน เห็นชัดรู้ซึ้งหรือยังว่าร่างกายประกอบด้วยอะไร แค่รู้ชัดแค่นั้นยังไม่พอ คุณต้องเห็นแจ้งในโทษ คุณรู้สึกเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียนกับการมาอาศัยอยู่ในร่างกายนี้แล้วหรือยัง ถ้าชีวิตนี้สิ้นไปแล้วจิตของคุณยังหวนหาร่างกายอันเป็นมนุษย์สัตว์ตัวตนเรา เขาอยู่อีก คิดอยากแค่แว้บเดียว จิตก็จะพาคุณกลับมาเกิดอีกนั่นแหละ
ขอให้พยายามใช้ปัญญาพิจารณากันเยอะๆจะได้เกิดปัญญาที่ไม่ต้องมาเกิดภพ เกิดชาติกันต่อไปอีก ต้องทำให้ถึงขั้นใจเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย ไม่วอกแวกไปทางอื่น เว้นแต่มุ่งสู่นิพพานเท่านั้น