ผู้นำพุทธไทย-นานาชาติพบเข้า‘โป๊ปฟรานซิส’ สรรสัมพันธ์สร้างสันติภาพลดขัดแย้งโลก
สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มจร รายงาน
คงไม่ใช่เกิดขึ้นบ่อยนักภาพความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางศาสนาต่างๆในโลกจะได้พบปะกัน แต่ภาพเช่นนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ .ย.2558 เมื่อคณะผู้นำศาสนาพุทธ-คริสต์นานาชาติในสหรัฐอเมริกา ในจำนวนนี้มีพระครูสิริอรรถวิเทศ (ดร.พระมหาถนัด อตฺถจารี) เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย โดยได้เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ที่นครวาติกัน ประเทศอิตาลี ซึ่งพระครูสิริอรรถวิเทศได้มอบของที่ระลึกในนามคณะสงฆ์เถรวาทแบบไทยให้กับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสด้วย และคณะได้เยี่ยมชมโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย
โอกาสที่เกิดขึ้นครั้งนี้มาจากคณะผู้นำศาสนาพุทธ-คริสต์นานาชาติในสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมสัมมนาในหัวข้อ Buddhist-Christian Fraternity and how to release suffering at Vatican, Italy ที่นครวาติกัน ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายนนี้ และก่อนหน้านี้พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศก็ได้รับเชิญให้เข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสมาก่อนหน้านี้แล้ว และที่ประเทศอิตาลีแห่งนี้ก็มีสร้างวัดไทยและรัฐบาลอิตาลีให้การสนับสนุนเหมือนกันศาสนาทั่วๆไปคือวัดเทวราชเวนิชโดยมีพระธรรมทูตไทยเดินทางไปจำพรรษาและสนองศรัทธาโยมเป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้คงสืบเนื่องจากคริสต์นานาชาติในสหรัฐอเมริกาได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สมัยสามัญครั้งที่ 39/2558 ที่วัดไทยลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีพระธรรมทูตไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 300 รูป
และก่อนหน้านี้พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ฝ่ายกิจการต่างประเทศ และพระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายตรวจสอบ ได้เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการประชุมผู้นำศาสนาโลก ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ในวันที่ 10-11 มิถุนายน พ.ศ.2558 โดยมีนายนูรสุลตาน นาซารบาเยฟ ประธานาธิบดี เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีการพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับ "ผู้นำทางศาสนาและการเมือง: ความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติ" "อิทธิพลของศาสนาในเยาวชน: ศึกษาวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมและสื่อสารมวลชน" "ศาสนาและการเมือง: แนวโน้มและมุมมองใหม่" "การสนทนาบนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและความเข้าใจในหมู่ผู้นำและ ผู้ติดตามของศาสนาของโลกเพื่อสันติภาพ, การรักษาความปลอดภัยและความสามัคคี" เป็นต้น

การทำหน้าที่ของพระสงฆ์ไทยดังกล่าวสมดังพุทธพจน์ที่ว่า "จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ... "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้หลาย.." และตรงตามปฏิญญากรุงเทพมหานคร 2015/2558 เนื่องในวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 12 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยกำหนดให้ชาวพุทธมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับต่างศาสนิกให้มากยิ่งขึ้นทั้งนี้เพื่อสร้างสันติภาพโลก
อย่างไรก็ตามภาพข้างบนนั้นเป็นภาพที่ต้องการให้ศาสนิกต่างๆมีความสัมพันธ์กันร่วมสรรสร้างสันติภาพโลกที่ลุกเป็นไฟอยู่ขณะนี้ แต่ก็ยังมีภาพของพระชาวพม่ากลุ่มหนึ่งที่แสดงตนต่อต้านชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลาม และสำนักข่าวต่างประเทศได้ระบุว่ามีชาวพุทธไทยให้เงินบริจาคกลุ่มพระสงฆ์พม่ากลุ่มนี้มากถึง 1 ล้านบาทด้วย 
หากศึกษาประวัติศาสตร์ของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับการเมืองแบบไม่เป็นกลางแล้วหากมีการเปลี่ยนผ่านไปยังอีกฝ่ายหนึ่งย่อมจะได้รับการกีดกันหรือถูกกำจัด ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดก็คือความเป็นกลาง และสร้างสรรความสัมพันธ์กับศาสนาต่างๆจึงทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ และเป็นศาสนาที่อยู่เหนือความขัดแย้ง จนสหประชาชาติรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20150625/208671.html