ขออนุญาตนำเอาข้อธรรมในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ของเจ้าคุณปยุตฯ มาแสดงดังนี้
นิวรณ์ ๕ (สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม, ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง)
๑.
กามฉันทะ (ความพอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น, ความพอใจในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ )
๒.
พยาบาท (ความขัดแค้นเคืองใจ, ความเจ็บใจ, ความคิดร้าย, ตรงข้ามกับเมตตา; ในภาษาไทยหมายถึง ผูกใจเจ็บและคิดแก้แค้น )
๓.
ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม, ความง่วงเหงาซึมเซา)
๔.
อุทธัจจกุกกุจจะ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน, จิตส่าย, ใจวอกแวก (พจนานุกรมเขียน อุทธัจ)
กุกกุจจะ ความรำราญใจ, ความเดือดร้อนใจ เช่นว่า สิ่งดีงามที่ควรทำ ตนมิได้ทำ สิ่งผิดพลาดเสียหายไม่ดีไม่งามที่ไม่ควรทำ ตนได้ทำแล้ว, ความยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ ความรังเกียจหรือกินแหนงในตนเอง, ความระแวงสงสัย เช่นว่า ตนได้ทำความผิดอย่างนั้น ๆ แล้วหรือมิใช่ สิ่งที่ตนได้ทำไปแล้วอย่าง นั้น ๆ เป็นความผิดข้อนี้ ๆ เสียแล้วกระมัง
๕.
วิจิกิจฉา (ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน)
------------------------------------------------------------
สังโยชน์ ๑๐ (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล)
๑.
สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นต้น)
๒.
วิจิกิจฉา (ความลังเลไม่ตกลงได้, ความไม่แน่ใจ, ความสงสัย, ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย, ความลังเลเป็นเหตุไม่แน่ใจในปฏิปทาเครื่องดำเนินของตน)
๓.
สีลัพพตปรามาส (ความยึดถือว่าบุคคลจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ด้วยศีลและวัตร (คือถือว่าเพียงประพฤติศีลและวัตรให้เคร่งครัดก็พอที่จะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญาก็ตาม ถือศีลและวัตรที่งมงามหรืออย่างงมงายก็ตาม), ความถือศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ ไม่เข้าใจความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริง, ความเชื่อถือศักดิ์สิทธิ์ด้วยเข้าใจว่าจะมีได้ด้วยศีลหรือพรตอย่างนั้นอย่างนี้ล่วงธรรมดาวิสัย)
๔.
กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจกิเลสกาม, ความใคร่กาม, ความติดใจในกามคุณ)
๕.
ปฏิฆะ (ความขัดใจ, แค้นเคือง, ความขึ้งเคียด ความกระทบกระทั่งแห่งจิต ได้แก่ ความที่จิตหงุดหงิดด้วยอำนาจโทสะ)
๖.
รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูป)
๗.
อรูปราคะ (ความติใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูป)
๘.
มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่)
๙.
อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน ,จิตส่าย, ใจวอกแวก)
๑๐.
อวิชชา [ความไม่รู้จริง, ความหลงอันเป็นเหตุไม่รู้จริง มี ๔ คือความไม่รู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง (ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่รู้ความดับทุกข์ ไม่รู้ทางให้ถึงความดับทุกข์),
อวิชชา ๘ คือ อวิชชา ๔ นั้น และเพิ่ม ๕) ไม่รู้อดีต ๖) ไม่รู้อนาคต ๗) ไม่รู้ทั้งอดีตทั้งอนาคต ๘) ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท]
สังโยชน์ ๑๐ ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ ๔ เป็น กามฉันท์ (ความพอใจในกาม) ข้อ ๕ เป็น พยาบาท (ความขัดเคือง, ความคิดร้าย) ในความเหมือนกัน
------------------------------------------------------------
มรรค ๔ (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด)
๑.
โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระ นิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส)
๒.
สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง)
๓.
อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง ๕)
๔.
อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐)
------------------------------------------------------------
ความเหมือนและความต่างของนิวรณ์ และสังโยชน์ระดับของกิเลส(วิปัสสนาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวเอาไว้)
๑.กิเลสอย่างหยาบ คือ โลภ โกรธ หลง
๒.กิเลสอย่างกลาง คือ นิวรณ์
๓.กิเลสอย่างละเอียด คือ สังโยชน์ผู้ที่ทำสมถกรรมฐาน หรือทำสมาธิ จะทราบว่า ศัตรูของสมาธิก็คือ นิวรณ์นั่นเอง
ก่อนทำสมาธิจะถูกนิวรณ์รบกวน แต่เมื่ออยู่ในสมาธิ(ฌาณ)แล้วจะไม่มีนิวรณ์
สมาธิจะข่มนิวรณ์ได้ชั่วคราว เมื่อออกจากสมาธิแล้ว นิวรณ์ก็จะกลับมาเหมือนเดิม
เื่พื่อความชัดเจนในการอธิบาย ขอให้เข้าใจว่า นิวรณ์เป็นเรื่องของสมถกรรมฐาน
ส่วนสังโยชน์เป็นเรื่องของวิปัสสนากรรมฐานคำว่า กามฉันทะ พยาบาท อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา ที่อยู่ในนิวรณ์ ๕ ก็มีอยู่ในสังโยชน์ ๑๐ เหมือนกัน ถ้าถามว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ขอตอบว่าถ้าให้ความหมายตามพยัญชนะแล้ว จะเหมือนกัน แต่ต่างกันโดยอรรถ(คำอธิบาย) กล่าวคือ เมื่ออยู่ในสังโยชน์จะมีความหมายที่ละเอียดและเบาบางกว่านิวรณ์ จะเปรียบให้เห็นดังนี้ครับ
กามฉันทะ ถ้าเป็นนิวรณ์ แค่คนพูดให้ฟัง ก็มีอารมณ์คล้อยตาม แต่ถ้าเป็นสังโยชน์ ต้องเห็นกับตาชัดๆ จึงจะมีอารมณ์ได้(เพราะเป็นสกทาคามี)
พยาบาทหรือปฏิฆะ ถ้าอยู่ในนิวรณ์จะรุนแรงกว่าในสังโยชน์ ถ้าเกิดในสังโยชน์จะสามารถ
เจริญพรหมวิหาร ๔ เพื่อให้พยาบาทหรือปฏิฆะสงบลงได้รวดเร็วกว่า(เพราะเป็นสกทาคามี)
อุทธัจจะ ถ้าอยู่ในสังโยชน์จะเป็นการฟุ้งซ่านในธรรมเท่านั้น เพราะระดับอนาคามีไม่มีกามฉันทะและพยาบาท การฟุ้งซ่านที่เกิดจากกามฉันทะและพยาบาทจึงไม่มี
วิจิกิจฉา ข้อนี้เหมือนกัน เพราะถ้าไม่เชื่อในพระรัตนตรัยแล้ว จะปฏิบัติตามทำไมที่จะต่างกัน ก็น่าจะเป็นความเบาบางของสังโยชน์ จะเบาบางกว่านิวรณ์ เพราะการทำความเีพียรเพื่อ
ตัดสังโยชน์ต้องใช้วิปัสสนาที่ส่งผลให้กิเลสเบาบางลง แต่ของนิวรณ์เป็นเพียงใช้สมาธิข่มเอาใว้เท่านั้น
หากเพื่อนๆมีความเห็นเป็นอื่น ช่วยแสดงด้วยนะครับ
