ดอกบัวเปรียบกับพระนิพพาน

ใน คัมภีร์มิลินทปัญหา พระยามิลินท์ ทรงโต้แย้งพระนาคเสน๕๓ที่กล่าวว่า พระนิพพานเป็นสุขโดยส่วนเดียวนั้นตนไม่เชื่อ พระนิพพานนั้นเจือด้วยทุกข์ เพราะบุคคลผู้แสวงหาพระนิพพานนั้น มีอันต้องทำกายและจิตให้ร้อนรุ่ม ต้องกำหนดการยืน กำหนดการเดิน กำหนดการนอนและกำหนดอาหาร ต้องกำจัดความโงกง่วง ต้องบังคับอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ต้องสละทั้งกายทั้งชีวิตและยังต้องละทิ้งทรัพย์สนและญาติมิตรอันเป็นที่รัก
พระนาคเสนจึงได้ถวายพระพรว่า พระนิพพานเปรียบเหมือนดอกบัว ดังนี้
พระนิพพานนั้นเป็นสุขโดยส่วนเดียวโดยมิได้เจือด้วยทุกข์ เปรียบเหมือนพระราชาเมื่อกำจัดข้าศึกได้แล้วก็ได้เสวยสุขโดยส่วนเดียว บุคคลก็เช่นกัน เมื่อต้องกำหนดการยืน การเดิน การนั่ง การนอนและอาหาร ต้องกำจัดความโงกง่วงแล้ว จึงได้เสวยพระนิพพานอันเป็นสุขโดยส่วนเดียว
เมื่อได้อธิบายโดยแจ่มแจ้งแล้ว พระนาคเสนยังได้เปรียบคุณของดอกบัวกับพระนิพพานว่า
ธรรมชาติ ของดอกบัว น้ำย่อมไม่ซึมติดอยู่ได้ฉันใด พระนิพพานอันกิเลสทั้งปวงไม่ซึมติดได้ฉันนั้น นี้แล คุณแห่งดอกบัวประการหนึ่ง ซึ่งควรคู่กับพระนิพพาน เปรียบเหมือนว่า น้ำฉาบติดดอกปทุมมิได้ ฉันใด ขอถวายพระพร กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็ฉาบติดพระนิพพานมิได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร นี้คือคุณอย่างหนึ่งของดอกปทุมที่เทียบกันได้กับพระนิพพาน