ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "การจับแพะ" ในคดีฆาตกรรม'เชอร์รี่แอน ดันแคน' สะท้อนให้เห็นรอยด่างของระบบยุติธรรม  (อ่าน 759 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28906
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"การจับแพะ" ในคดีฆาตกรรม 'เชอร์รี่แอน ดันแคน'
สะท้อนให้เห็น "รอยด่าง" ของกระบวนการยุติธรรมไทย
ท่านว่า..ยังจะมีเกิดขึ้นอีกหรือไม่.?

โดย นคร พจนวรพงษ์

ขออภัยที่นำตัวอย่างคดีนี้ยกขึ้นมาอ้างให้เห็นเป็นบทนำ ขออภัยสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมตำรวจในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบและบังคับบัญชาตำรวจทั้งประเทศ รวมทั้งตำรวจ สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ ท้องที่ที่เกิดเหตุคดีนี้ด้วย

ความเดิม ช่วงเย็นของวันที่ 22 กรกฎาคม 2529 น.ส.เชอร์รี่แอน ดันแคน อายุ 16 ปี เด็กสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน หน้าตาดี เคยเป็นนางแบบให้นิตยสารบันเทิงบางฉบับ ขณะนั้นเชอร์รี่แอนเธอเป็นนักเรียนโรงเรียนพระกุมารเยซูวิทยา เธอขึ้นรถแท็กซี่หน้าโรงเรียนเพื่อกลับบ้านแล้วเธอก็หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาอีก 3 วัน มีผู้พบศพเธอเสียชีวิตลอยอยู่ในร่องน้ำในป่าแสมบางสำราญ ผู้พบเห็นจึงแจ้งตำรวจ สภ.อ.เมืองสมุทรปราการเจ้าของท้องที่ทราบ ตำรวจชุดสืบสวนใช้เวลาสืบหาฆาตกรประมาณ 1 เดือน ก็จับกุมคนร้ายหรือผู้ต้องหาเป็นชายได้ 5 คน พร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวการจับกุมทันทีว่ามีประจักษ์พยานคือ นายประเมิน โภชพลัด อาชีพขับรถสามล้อรับจ้าง เป็นผู้เห็นเหตุการณ์

 :96: :96: :96: :96: :96:

ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 คนนั้นเป็นฆาตกร

ข่าวแพร่สะพัดออกไปอย่างกว้างขวางเป็นที่สะเทือนขวัญและหวาดกลัว ประชาชนต่างพากันประณามและเรียกร้องให้ประหารชีวิตฆาตกรกลุ่มนี้ ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน แล้วส่งสำนวนให้อัยการ อัยการตรวจสำนวนแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งฟ้องผู้ต้องหา 4 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ (ศาลชั้นต้น) ส่วนอีกคนหนึ่งอัยการปล่อยตัวไปเพราะหลักฐานอ่อน โดยพนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการเป็นโจทก์ ระหว่างพิจารณานางกลอยใจ ดันแคน (มารดาผู้ตาย) ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลอนุญาต จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดจริงพิพากษาให้ประหารชีวิต จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์


 :32: :32: :32: :32:

ระหว่างการสอบสวนของตำรวจและการตรวจสำนวนของอัยการก็ดี ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ รวมทั้งศาลฎีกาด้วยก็ดี รวมเวลาหลายปี ผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้ง 4 คนนี้มิได้ประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว ต้องถูกคุมขังอยู่ในคุก (เรือนจำ) ต้องทนทุกข์ทรมานทุกเวลานาทีกับสภาพที่เลวร้ายภายในคุก สุขอนามัย โรคระบาด ฯลฯ ชีวิตเหมือนตกนรกทั้งเป็น เป็นผลทำให้จำเลยที่ 1 สุขภาพทรุดลงๆ และในที่สุดก็เสียชีวิตระหว่างถูกคุมขังที่เรือนจำบางขวาง ลูกสาวจำเลยที่ 3 ถูกข่มขืนแล้วฆ่า และภริยาจำเลยที่ 3 เครียดจัดก็มาเสียชีวิตไปอีก จำเลยอื่นก็มีสภาพไม่ต่างกัน ทรุดโทรมลงๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ ภริยาและลูกที่อยู่ข้างหลังต่างก็ขาดที่พึ่ง ขาดเสาหลักของครอบครัว ไม่มีอนาคต ต้องระทมทุกข์รับเคราะห์กรรมตามไปด้วย

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 3 และ 4 (จำเลยที่ 1 เสียชีวิตศาลจำหน่ายคดี) แต่ยังให้คงขังจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ไว้ระหว่างฎีกา

 :03: :03: :03: :03:

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

จำเลยและครอบครัวทุกชีวิตต้องรอคอยต่อไป ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2536 ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วพิพากษาว่า "ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2, 3 และ 4 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน" ปล่อยตัวจำเลยที่ 2, 3 และ 4 หลังจากถูกควบคุมหรือขังคุกมานาน 6 ปี 7 เดือนเศษ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2536)

สภาพของจำเลยหลังจากคดีถึงที่สุด กล่าวคือเมื่อปลายปี 2536 ปีที่ถูกปล่อยตัวออกมาจากคุก จำเลยที่ 2 ที่ติดโรคร้ายมาจากในคุกก็เสียชีวิต ส่วนจำเลยที่ 4 ก็มาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งหลังจากถูกปล่อยตัวออกมาไม่นาน


 :41: :41: :41: :41:

สำหรับจำเลยที่ 3 คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะกระดูกสันหลังร้าวนอนหงายไม่ได้ เหมือนคนพิการ เนื่องจากถูกซ้อมเพื่อให้รับสารภาพ

ก่อนที่คดีนี้จะถึงที่สุดที่ศาลฎีกาผู้เสียหาย (ฝ่ายจำเลย) และญาติพี่น้องได้ร้องเรียนแสดงข้อเท็จจริงต่างๆ ต่ออธิบดีกรมตำรวจ (ขณะนั้น) เป็นผลให้กองปราบปรามทำการสอบสวนคดีใหม่หาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริง คู่ขนานพร้อมๆ ไปกับการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ผลปรากฏออกมาว่า จำเลยที่ 1-4 มิใช่คนร้าย เป็นผู้บริสุทธิ์และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการฆาตกรรมตามที่อัยการโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้เลย ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายประเมิน โภชพลัด คนขับรถสามล้อ พยานโจทก์ปากสำคัญ (ปากเดียว) ที่โจทก์อ้างและนำสืบต่อศาลนั้น เป็นพยานเท็จที่ตำรวจ สภ.อ.เมืองสมุทรปราการ ว่าจ้างมา (ปั้นพยานเท็จเพื่อจับแพะ)


 :29: :29: :29: :29:

ผู้รับผิดชอบสอบคดีใหม่จากกองปราบอธิบายว่า ผลการสอบออกมาชัดเจนว่าจำเลยทั้งสี่ในคดีเดิมมิใช่ฆาตกรตัวจริง และได้ตัวฆาตกรชุดใหม่ที่แท้จริงก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาเมื่อ 8 มีนาคม 2536 แล้ว แต่เกรงว่ารูปคดีจะเป็นการฟ้องซ้ำฟ้องซ้อน และต่อมาเมื่อคดีเดิมศาลฎีกาตัดสินถึงที่สุดแล้ว จึงเริ่มคดีใหม่โดยเอาตัวผู้ร่วมกระทำผิดตัวจริง เอาตัวตำรวจผู้ปั้นพยานเท็จ เอาตัวพยานเท็จมาดำเนินคดีให้ได้รับโทษทัณฑ์ตามโทษานุโทษ และฝ่ายจำเลย (ที่ยังมีชีวิตอยู่) ซึ่งเป็นผู้เสียหายและทายาทในคดีเดิม ได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเป็นคดีแพ่ง เรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีข้าราชการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเจตนาทำผิด "จับแพะ" ให้รับผิดชอบ

    ผลจากการดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าวข้างต้น
    1.ฆาตกรที่แท้จริง 2 คน ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต อีกคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างพิจารณาของศาล
    2.นายตำรวจผู้ปั้นพยานเท็จตัวการสำคัญ ถูกไล่ออกจากราชการและหลบหนียังจับเอาตัวมาลงโทษไม่ได้
    3.นายประเมิน โภชพลัด คนขับรถสามล้อพยานเท็จ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 8 ปี

    4.ศาลแพ่งพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เสียหาย และทายาทผู้เกี่ยวข้อง 7 คน จำนวนรวม 26,038,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมแล้วประมาณ 38,000,000 บาท
    ทั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลขณะนั้นเห็นใจฝ่ายจำเลย จึงขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติยุติเรื่องไม่อุทธรณ์ฎีกา คดีจึงถึงที่สุด


st12 st12 st12 st12

ถ้าหรือสมมุติว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้ง 4 คนนี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือประกันตัวออกมาตั้งแต่ต้น (การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ในส่วนว่าด้วย "สิทธิในกระบวนการยุติธรรม") สภาพชีวิตของเขาและครอบครัวคงไม่เหมือนคนตกนรกทั้งเป็นเช่นนี้ และรัฐก็ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนมาชดใช้ให้กับฝ่ายจำเลยและครอบครัวมากมายขนาดนี้ แต่กรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ผู้เขียนขอภาวนาตั้งความปรารถนาว่า มลทินหรือรอยด่างของกระบวนการยุติธรรมเช่นนี้อย่าพึงให้มีเกิดขึ้นอีกเลย

 :32: :32: :32: :32:

"การจับแพะ" หรือ "แพะรับบาป" ถ้าเป็นประเภทปั้นพยานเท็จเพื่อจับแพะหรือเจตนาที่จะกลั่นแกล้งจับแพะ ทั้งๆ ที่ผู้นั้นมิได้กระทำผิดดังอุทาหรณ์คดีเชอร์รี่แอนข้างต้น หรือแม้แต่การตั้งข้อหาให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยรับโทษหนักขึ้น เช่น มียาบ้า 2 เม็ดเก็บไว้เพื่อเสพ แต่ด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงชัดเจน ผู้จับกุมหรือผู้สอบสวนกลับแกล้งตั้งข้อหาว่า "ครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย" อันเป็นการกระทำเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหนักขึ้น เป็นต้น ตัวการหรือผู้ร่วมกระทำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) ดังนี้
    1.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม ป.อาญา มาตรา 157 (จำคุก 1-10 ปี) และ
    2.ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตาม ป.อาญา มาตรา 200 วรรคสอง (จำคุก 1-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต)


 :96: :96: :96: :96:

ข้อสังเกต ลูกน้องหรือตำรวจชั้นประทวนที่เข้าร่วมดำเนินการ "จับแพะ" ตามนายสั่ง ก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามโดยไม่เหลียวซ้ายแลขวาว่าอะไรถูกอะไรผิด โปรดระวังอาจจะถูกรางวัลใหญ่ตามนายหรืออย่างน้อยก็ถูกหางเลขบ้างก็ได้ แล้วครอบครัวของท่านที่อยู่ข้างหลังอาจจะมีสภาพเหมือนเช่น "แพะรับบาป" ในคดีของเชอร์รี่แอนบ้างก็ได้ ที่กล่าวมานี้ต้องขออภัยเพียงขอฝากเป็นแนวคิด

ทั้งนี้ก็ด้วยความปรารถนาดีและหวังดี อีกทั้งขอสนับสนุนข้าราชการตำรวจ ซึ่งส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นตำรวจที่ดีทำหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ด้วยความเสียสละ รักษากฎหมายอย่างถูกต้องและชอบธรรมเพื่อความสงบสุขของสังคม


 ask1 ask1 ask1 ask1

ปัญหา "การจับแพะ" หรือ "แพะรับบาป" ปัจจุบันนี้ยังมีอยู่หรือจะมีเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ผู้รับผิดชอบหรือหัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะช่วยกันสอดส่องกวดขันดูแล ถ้าลูกน้องของท่านทำดีมีผลงาน ท่านผู้เป็นนายหรือหัวหน้าก็มีความชอบได้ยศศักดิ์ แต่ถ้าลูกน้องของท่านทำผิดคิดชั่วในการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนอย่างรุนแรงสืบเนื่องต่อเนื่องบ่อยครั้ง ถ้าท่านปล่อยปละละเลยไม่ดูแลแก้ไข เมื่อเรื่องแดงขึ้นท่านอาจจะเป็นผู้หมองมัว ไม่ต่างไปจากลูกน้องของท่านก็ได้

เรื่องของปัญหาและการแก้ปัญหา "การจับแพะ" นั้นยังจะมีเกิดขึ้นอีกหรือไม่ และสถาบันทนายความหรือสภาทนายความซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์หนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ควรจะเข้าไปมีบทบาทหรือไม่เพียงใด ขออนุญาตทิ้งท้ายและจบบทความไว้เพียงเท่านี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านและผู้เกี่ยวข้องช่วยพิจารณาเสนอแนะต่อไป


     นคร พจนวรพงษ์
     อดีตทนายความ/อดีตผู้พิพากษา/ปัจจุบันทนายความ


 :sign0144: :sign0144: :sign0144: :sign0144:

ป.ล. : ขอฝากคำกลอนที่จำเลยที่ 1 มีถึงลูกสาวซึ่งกำลังเป็นนักศึกษาอยู่ เขียนในคุกหลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผิดให้ประหารชีวิต และยังไม่ทันที่จะทราบว่าศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะตัดสินยกฟ้องว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เขาก็มาเสียชีวิตเสียก่อน (กลอนอาจจะไม่สัมผัสครบถ้วนแต่สะท้อนความรู้สึกได้อย่างดี)

     พ่อทำผิด อะไร ที่ไหนลูก
     พ่อจึงถูก ตำรวจจับ มากักขัง
     พ่อเคย ทำอะไร กับใครบ้าง
     จึงถูกขัง ถูกจำจอง อยู่ห้องกรง
     โธ่ ลูกเอ๋ย เคยคิด พ่อผิดไหม?
     แล้วเหตุใด เขาจึงคิด จิตลุ่มหลง
     จับพ่อมา กล่าวหาว่า "พ่อฆ่าคน"
     ในกมล พ่อไม่คิด สักนิดเดียว
     พ่อจากไป เพียงร่าง ที่ห่างเจ้า
     ส่วน "ใจ" เล่า ยังชะแง้ อยู่แลเหลียว
     ไม่เคยลืม เจ้าสักว่า นาทีเดียว
     "ใจ" ห่วงเหนียว ลูกยา ทุกนาที


ขอบคุณภาพและบทความจาก
มติชนรายวัน 14 ตุลาคม 2558
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1444821598
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 16, 2015, 08:41:55 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ