เจดีย์ทองอร่าม..ด้านล่างเป็นพระอุโบสถ
กราบ "พระธาตุดินแทน" รำลึกตำนาน...พระเจ้าแสนห่า
กลิ่นหอมของน้ำพริกเห็ดป่าที่ชาวบ้านลงแรงช่วยกันทำอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาร่วมงานบุญ โชยฉุนจนอดใจไม่ไหวที่จะต้องแอบไปชิม แม้รสชาติจะไม่จัดจ้าน แต่ความหอมและมันของเห็ดสดๆ เข้ากันได้ดีกับกลิ่นและรสชาติเผ็ดจางๆของพริกขี้หนู เล่นเอามื้อนั้นทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า ลงไปกองรวมกันในท้อง เพิ่มน้ำหนักไปอีกหลายแคลอรีทีเดียว
ช่วงฤดูกาลหลังวันออกพรรษา งานกฐินชุกแทบทุกวัด เช่นเดียวกับที่นี่ “วัดพระธาตุดินแทน” ปูชนียสถานเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ ที่ อ.นาแห้ว จ.เลย
ได้ยินชื่อว่าพระธาตุ คนมักนึกถึงเจดีย์ก่ออิฐถือปูน มียอดแหลม บอกได้เลยว่าไม่ใช่ที่นี่แน่นอน....พระธาตุดินแทน
พระธาตุดินแทน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นดิน พระธาตุที่นี่จึงมีลักษณะเป็นกองดินขนาดใหญ่ ไม่มีลวดลายสลักเสลาอะไรที่จะบอกว่าเป็นพระธาตุเลย ใครไม่รู้มาเห็นเข้า อาจจะนึกว่าเป็นภูเขาดินธรรมดาๆลูกหนึ่ง
พระธาตุแห่งนี้ มีอายุราว 200 ปี เป็นพระธาตุองค์เดียวในประเทศไทยที่เกิดจากการนำดินมากองสูงจนเกือบเป็นเนินเขาขนาดย่อม ตามตำนาน บอกว่า พระธาตุองค์นี้ เกิดจากการที่มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาหยุดพักที่หมู่บ้านแสงภา และสอนชาวบ้านว่าถ้าไม่อยากให้เกิดเภทภัยใดๆ จะต้องถือปฏิบัติตน 3 ข้อ คือ ห้ามผิดศีล, ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และ ห้ามเล่นไสยศาสตร์ หลังจากนั้นก็ประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้างพระธาตุให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีรอยพระพุทธบาท...ที่วัดพระธาตุดินแทน
ในระหว่างการนำดินมากองทับถมกันจนเป็นองค์พระธาตุนั้น ชาวบ้านหลายคนได้นำเอาปืนแก๊บ ปืนเพลิง ดาบ เสียม อาวุธต่างๆ และของศักดิ์สิทธิ์มาใส่ไว้ในองค์พระธาตุด้วย เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ที่จะเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างจริงๆจังๆ
หลังจากสร้างพระธาตุเสร็จ พระธุดงค์ท่านได้ให้ชาวบ้านรับศีลและสาบานต่อหน้าพระธาตุดิน–แทนว่าจะยึดถือพระธาตุดินแห่งนี้เป็นที่สักการบูชา โดยจะปฏิบัติตามคำสัตย์ที่ได้ให้ไว้ทั้ง 3 ประการ และให้ถือเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปีเป็นวันทำบุญพระธาตุ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวบ้านหลายคนบอกว่า พระธาตุองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เวลาที่ชาวบ้านมีทุกข์ร้อน ก็จะมาขอพรด้วยการตักดินใส่ถังแล้วนำไปเทบนองค์พระธาตุ เพื่ออธิษฐานขอพรให้สำเร็จดังใจหวัง จึงไม่แปลกที่ดินบนองค์พระธาตุแห่งนี้จะพอกพูนขึ้นทุกปีๆ จนกลายเป็นภูเขาดินที่ใหญ่โตมากๆ
ความศรัทธาที่ชาวบ้านแสงภามีต่อองค์พระธาตุดินแทนนั้นแทบไม่ต้องพูดถึง ขนาดแค่จะใส่รองเท้าขึ้นไปบนองค์พระธาตุพวกเขายังไม่ทำเลย....
เราเดินขึ้นองค์พระธาตุโดยไม่ลืมที่จะตักดินใส่ถังขึ้นไปเพื่ออธิษฐานขอพรด้วย สิ่งหนึ่งที่เราขอพรจากองค์พระธาตุ คือ ขอให้มีชีวิตที่มั่นคง ไม่หลงในอบาย มีทางสายกลาง และสัมมาทิฐิเป็นที่ตั้งในเส้นทางการเดินทางของชีวิต....เพียงแค่นี้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว สำหรับการเป็นมนุษย์และชาวพุทธที่ดี.....หลังอธิษฐานขอพรองค์พระธาตุแล้ว ชาวบ้านแนะนำให้เดินอ้อมไปยังด้านหลังขององค์พระธาตุ ซึ่งมีบันไดดินเป็นทางขึ้นไปสู่ รอยพระพุทธบาทบนแท่นหิน ที่ชาวบ้านบอกว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ไม่น้อยไปกว่าองค์พระธาตุเลย
หอพระไตรปิฎกและพิพิธภัณฑ์วัดโพธิ์ชัย
รอยพระพุทธบาทที่พระธาตุดินแทน เป็นรอยพระพุทธบาทขนาดเล็กแต่มีร่องชัดอยู่บนหินก้อนโต ห่างจากองค์พระธาตุไปประมาณ 200 เมตร เป็นอีกสิ่งมหัศจรรย์ของที่นี่เช่นเดียวกัน
นอกจากองค์พระธาตุดินแทนแล้ว ยังมีวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง คือ “วัดโพธิ์ชัย” หรือ “วัดโพธิ์ชัยนาพึง” สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างขึ้นในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา วัดแห่งนี้ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นพื้นที่โบราณสถาน
ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังก่ออิฐถือปูน เป็นวิหารที่แปลกกว่าวิหารอื่นตรงที่มีประตูทางเข้าถึง 3 ทาง คือ ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ส่วนผนังด้านทิศใต้ก่อทึบบันไดดินขึ้นสู่รอยพระพุทธบาท
หลังคาวิหารเป็นทรงจั่วมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีชายคาปีกนก และที่ดูเป็นวิหารเก่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นอาคารที่รองรับด้วยเสาไม้โดยรอบ หลังคาวิหารคลุมต่ำมากซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของอาคารท้องถิ่นของ จ.เลย ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฏทั้งด้านในและด้านนอก ผนังด้านในจะเขียนเรื่องพุทธประวัติ และพระเวสสันดรชาดก ส่วนด้านนอกจะเขียนเรื่อง เนมิราชชาดก, สังข์ศิลป์ชัย และ การะเกด ที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่และการนับถือศาสนาของชาวบ้านนาพึงในสมัยก่อน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งภายในวัด คือ หอพระไตรปิฎก และอุโบสถที่สร้างเจดีย์สีทองอร่ามไว้ด้านบน รวมไปถึงต้นโพธิ์อายุมากกว่า 200 ปี มากกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาต้นที่ 4 คือต้นปัจจุบันที่มีอายุประมาณ 135 ปีพระพุทธรูปในวิหารเก่า...
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่รู้จักของวัดโพธิ์ชัยอีกอย่างหนึ่ง คือ “พระเจ้าองค์แสน” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระเจ้าแสนห่า” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ที่สร้างขึ้น ณ เมืองเชียงแสน หล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบล้านช้าง ประทับนั่งขัดสมาธิราบ มีพระพักตร์ยาวรี ยอดพระเมฬี (ผม) เป็นเปลวเพลิง พระสังฆาฏิเป็นท้องนาค สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณปีพุทธศตวรรษที่ 22-23 เดิมประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ต่อมาได้ย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่จังหวัดลำพูน จากเมืองลำพูนก็ย้ายไปประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และจากเมืองหลวงพระบาง ได้เสด็จมาประทับ ณ วัดโพธิ์ชัยนาพึง หรือวัดโพธิ์ชัย จ.เลย เป็นที่สุดท้าย
วิหารเก่าแก่...หลังคาไม้แป็นเกล็ด
ตำนานเรื่องพระเจ้าองค์แสนนี้ เล่าสืบทอดต่อกันมาว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่า “พระเจ้าแสนห่า” ก็เพราะ พระเจ้าองค์แสน เมื่อไปประดิษฐาน ณ ที่แห่งใด ก็จักมีฝนตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เมื่อพระเจ้าองค์แสนเหาะมาประทับที่วัดโพธิ์ชัยนาพึง ก็เกิดความอัศจรรย์แก่คนในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และได้นำเอาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่หมู่บ้านเป็นอย่างมาก จนชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา กลายเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของบ้านนาพึงมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งพระธาตุดินแทน และวัดโพธิ์ชัย แม้จะไม่ได้จัดอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของเมืองเลย อย่างเชียงคาน หรือที่อื่นๆ
แต่บอกได้เลยว่า หากใครได้ไปแม้เพียงครั้ง ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความเข้มขลังและงดงามตามธรรม...ในหมู่บ้านเล็กๆริมลำน้ำภาแห่งนี้.
ภาพจิตรกรรมที่ประตูทางเข้าวิหาร
อีกด้านของทางขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท
ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/540733